งาน SAAN Seminar โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พื้นที่การศึกษาบางขุนเทียน ได้จัด Workshop โครงการสัมมนาวิชาการ “การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและการออกแบบพัฒนาพื้นที่และนิเวศชายฝั่ง เพื่อหาแนวทางอนาคตของพื้นที่ริมอ่าวไทย กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม” เป็นการเสวนาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบและพืชป่าชายเลน ธุรกิจชุมชน จัด Catering จากภูมิปัญญาอาหารป่าชายเลน และนำเสนอของว่างขนมไทยจากกลุ่มเด็กชะครามยิ้ม โดยอาหารที่นำเสนอจะมีการแนะนำพืชป่าชายเลนมาสาธิตการประกอบอาหาร เช่น ใบชะคราม
ชื่อสมุนไพร : ชะคราม (Seabite)
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลาง : ชักคราม, ชะคราม, ภาคใต้ : ชีคราม,
สมุทรสาคร : ชั้วคราม, ส่าคราม, ล้าคราม หรือ ล่าคราม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Suaeda maritima (L.) Dumort
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Chenopodium maritimum L.
ชื่อสามัญวงศ์เดิม : Chenopodiaceae
ชื่อสามัญวงศ์ : Annual seablit
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ชะครามเป็นพืชไม้ล้มลุกแต่เมื่ออายุมากขึ้นจะพัฒนาลำต้นเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 1 เมตรทรงพุ่มแผ่กระจายลำต้นเดี่ยว แต่กิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับไม่มีก้านใบมีรากงอกบริเวณข้อ ในระดับต่ำใบกลมยาวเรียว อวบน้ำ มีสีเขียวนวลสดหรือสีเขียวอมม่วง แต่ในฤดูแล้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงอ่อน ดอกออกที่ปลายยอดเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก รูปขอบขนาน มนต์โปร่งใสใบประดับยอดที่ฐานวงกลีบ รวมมี 2-3 กลีบ สีเขียวอ่อนอมม่วงหรือสีเขียวผลกลมขนาดเล็กอยู่ภายในวงกลีบรวมแต่ละผลมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก
ต้นชะคราม ถือเป็นดัชนีที่ชี้วัดความเค็มของดินในบริเวณแถบๆ ชายทะเลได้ดี โดยชะครามที่ขึ้นในดินเค็มมากใบจะออกสีม่วงแดง และสำหรับต้นที่ขึ้นในดินที่เค็มน้อยหรือดินจืด ใบจะออกสีน้ำเงิน การที่ชะครามอยู่ติดกับชายทะเลหรือบริเวณที่มีน้ำกร่อยและน้ำเค็มเข้าถึง จึงทำให้พืชชะครามมีลักษณะเด่นคือทนความเค็มได้สูง ส่งผลให้พืชชะครามมีรสชาติเค็ม ดังนั้นลักษณะเด่นของชะครามข้อนี้จึงเป็นจุดเด่นที่จะนำในส่วนของใบและก้านของพืชชะครามมาประกอบอาหาร สามารถพบได้ในพื้นที่ที่มีน้ำเค็ม เช่นบริเวณชายทะเล ป่าชายเลน นาเกลือ หรือพื้นที่ที่มีน้ำกร่อยเข้าถึง อาทิ แถบจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ติดชายทะเล เช่น จังหวัดกรุงเทพมหานคร พื้นที่บางขุนเทียนชายทะเล
ฤดูกาลปลูกของชะคราม : จะเจริญเติบโตตลอดปี
แหล่งปลูกของชะคราม : ขึ้นได้เองตามธรรมชาติในบริเวณป่าชายเลนที่มีแดดจัด
สรรพคุณของชะครามนั้นมีประโยชน์ทั้งในด้านการบำรุงร่างกายและการรักษาโรค โดยนำมาปรุงอาหารและนำมาสกัดทำเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค โดยแยกสรรพคุณของส่วนต่างๆ ของชะครามได้ ดังนี้
ใบสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ ให้เลือกใช้ใบอ่อน นำมาล้างน้ำให้สะอาด และลดความเค็มของใบลง โดยต้มคั้นน้ำทิ้งไป 2-3 ครั้ง จากนั้นก็สามารถนำไปทำอาหารได้เลย ซึ่งก็ทำได้หลากหลายเมนู เช่น ยำ แกง ลวกจิ้มน้ำพริก ทอดกับไข่ หรือนำไปชุบแป้งทอดก็ได้
รากนำมากินเป็นยาบำรุงกระดูก แก้พิษฝีภายใน ดับพิษในกระดูก แก้น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน แก้โรควหนังและเส้นเอ็นพิการ
ลำต้นและใบของชะครามดูดเกลือจากดินมาเก็บไว้ ทำให้มีธาตุไอโอดีนสะสมอยู่ ซึ่งรับประทานแล้วสามารถป้องกันโรคคอพอกได้ และยังมีสรรพคุณใช้รักษารากผม แก้ผมร่วงได้ โดยนำใบและลำต้นมาสกัดเป็นยาสระผมได้ด้วย
ใบสดหรือใบที่ลวกแล้วนำมาประกอบอาหารรับประทานจะมีสรรพคุณ ดังนี้
- ขับปัสสาวะ
- รักษาโรคโกโนเรีย
- รักษาโรคคอพอก
- กระตุ้นระบบประสาท
- บำรุงสายตา แก้อาการตามัว
น้ำต้มใบชะครามหรือขยำใบสดสำหรับใช้ภายนอกจะมีสรรพคุณ ดังนี้
- รักษากลาก เกลื้อน
- แก้อาการผื่นคัน
- ลดอาการบวมของแผล
- ลดอาการปวดจากพิษแมลงกัดต่อย
- แก้อาการพิษจากยางต้นตาตุ่มหรือยางพิษจากต้นไม้ต่างๆ ซึ่งชาวบ้านนิยมนำใบชะครามาคั้นผสมกับน้ำมะพร้าว แล้วนำมาทาบริเวณที่สัมผัสกับยางตาตุ่มทะเล
การเลือกซื้อ : ใบชะครามมีรสเค็มจากน้ำทะเล ก่อนนำไปปรุงอาหารจึงควรต้มเพื่อล้างความเค็มออกก่อน โดยนำใบชะครามที่ล้างให้สะอาดหมดฝุ่นและดิน จากนั้น เด็ดช่ออ่อนด้านบน และรูดใบที่เหลือออกจากก้าน จึงค่อยต้มน้ำให้เดือด นำชะครามลงไปต้มสัก 2-3 นาที แล้วนำไปแช่ในน้ำเย็นจัดเพื่อคงสีเขียวสวยไว้ บีบน้ำออกแล้วนำไปปรุงอาหารได้
วิธีล้าง : ใบชะครามมีรสเค็มจากน้ำทะเล ก่อนนำไปปรุงอาหารจึงควรต้มเพื่อล้างความเค็มออกก่อน โดยนำใบชะครามที่ล้างให้สะอาดหมดฝุ่นและดิน จากนั้น เด็ดช่ออ่อนด้านบน และรูดใบที่เหลือออกจากก้าน จึงค่อยต้มน้ำให้เดือด นำชะครามลงไปต้มสัก 2-3 นาที แล้วนำไปแช่ในน้ำเย็นจัดเพื่อคงสีเขียวสวยไว้ บีบน้ำออกแล้วนำไปปรุงอาหารได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ชะครามเป็นพืชที่มีกลิ่นค่อนข้างฉุน หากนำไปประกอบอาหารโดยที่ไม่ได้ผ่านการเตรียมอย่างถูกกรรมวิธี ผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นฉุน อาจมีอาการแพ้กลิ่นหรือเกิดอาการวิงเวียนจากกลิ่นของชะครามได้ และหากรับประทานชะครามในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนรวมไปถึงอาการท้องเสียอาหารเป็นพิษได้ เนื่องจากสรรพคุณเดิมที่เห็นได้ชัดของชะครามคือช่วยเรื่องการขับถ่าย
อ้างอิง
ชะคราม Suaeda Maritime. จาก https://rspg.pbru.ac.th/index.php?ge=treeView&gen_lang=050717013825&ptid2=1
ชะคราม(Seabite) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของชะคราม และสรรพคุณทางยาของชะคราม. จาก https://vegetweb.com/%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1-seabite-%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%A8%E0%B8%B2/
ประโยชน์และสรรพคุณจากชะคราม. จาก http://otop.dss.go.th/index.php/knowledge/interesting-articles/197-2018-09-11-08-36-04
วัชพืชรสเด็ด “ชะคราม” มัน เค็ม เต็มคุณค่า. จาก https://www.opsmoac.go.th/amnatcharoen-article_prov-preview-431391791921
สารานุกรมพืชในประเทศไทย. จาก https://www.dnp.go.th/botany/detaildict.html?wordsLinkno=1724&words=%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1&typeword=word
Categories
Hashtags