เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (ศูนย์ EESH) ร่วมกับ สำนักงานบริหารทรัพยากรกายภาพ มจธ.บางขุนเทียน จัดกิจกรรม Mangrove Forest Planting ประจำเดือน เมษายน พ.ศ. 2567 โดยมี นักศึกษา บุคลากร และประชาคม มจธ. ร่วมกัน เพาะต้นกล้าโกงกาง จำนวน 300 ต้น และปลูกป่าชายเลนจำนวน 100 ต้น ณ พื้นที่ใหม่ พื้นที่แปลง 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรของชาติให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์ และเกิดความสมดุลของระบบนิเวศ อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากการสร้างก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น และรักษานิวัฒนภาพของพื้นที่ พร้อมกันนี้การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวยังตอบสนองนโยบายตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มุ่งเน้นและผลักดันโครงการการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการคืนกำไรสู่สังคมและโลกของเรา โดยกิจกรรมนี้ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมไปถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและทางทะเล และเป้าหมายที่ 15 : ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกและน้ำอย่างยั่งยืน
รูปจาก :https://www.kmutt.ac.th/news/kmutt-news/26/04/2024/63006/
ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และลดการกัดเซาะชายฝั่ง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ถือเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีคุณค่าทางนิเวศและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่กลับต้องเผชิญกับความท้าทายจากกิจกรรมมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ส่งผลต่อการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง
รูปจาก : https://travel.kapook.com/view259153.html
การจัดการป่าชายเลน
ป่าชายเลนในปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรม ทั้งจากการถูกบุกรุกทำลาย เปลี่ยนสภาพเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำนากุ้ง การสร้างแหล่งชุมชน นาเกลือ แหล่งอุตสาหกรรม การจะหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนและฟื้นฟูให้มีสภาพสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืน จะต้องมีการบริหารจัดการป่าชายเลนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในปัจจุบัน
เป้าหมายและแนวทางการจัดการ
เป้าหมายของการจัดการป่าชายเลน คือการคงพื้นที่ป่าชายเลนเดิม การเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนขึ้นมาใหม่ และการสามารถใช้ประโยชน์ป่าชายเลนอย่างยั่งยืน และแนวทางจัดการทรัพยากรป่าชายเลน มุ่งเน้นในการอยู่ร่วมกันของชุมชน และประชาคมที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ป่าชายเลนอย่างยั่งยืนในแต่ละเขตพื้นที่ โดยแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบอย่างแข็งขัน และบูรณาการกับองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยใช้วิถีชุมชนเป็นหลัก ซึ่งชุมชนจะเป็นกลไกทางสังคมในการบริหารจัดการร่วมกับภาครัฐ ส่วนประชาคมจะมีบทบาทด้านการสนับสนุน และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ อย่างเคร่งครัด
รูปจาก : https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/469898
การแบ่งเขตพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการจัดการอย่างยั่งยืน
การจัดการควรแบ่งพื้นที่ป่าชายเลนให้ชัดเจน ตามวัตถุประสงค์และการจัดการ โดยควรแบ่งออกเป็น 3 เขต คือ
- เขตอนุรักษ์ คือป่าชายเลนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ
- เขตเศรษฐกิจ คือเขตพื้นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทกด้าน ตามหลักวิชาการป่าไม้ ประมง และสาขาอื่น ที่เกี่ยวข้อง บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยชุมชนจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสารทั้งในส่วนนโยบาย และแผนงานโครงการที่จะดำเนินการ นอกจากนี้ชุมชนควรจะได้รับผลประโยชน์จากผลผลิตในสัดส่วนที่เหมาะสม ้ขตอนุรักษ์และเขตเศรษฐกิจอาจจะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ต้องมีขอบเขตการแบ่งที่ชัดเจน
- เขตป่าชุมชน เป็นพื้นที่ที่มีการจัดการโดยชุมชน เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน การจัดการป่าชุมชนจะขึ้นอยู่กับกติกาที่ชุมชนได้กำหนดขึ้นร่วมกัน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน แต่ในภาพรวมจะช่วยกันป้องกันดูแลรักษาป่าชุมชน เพื่อสามารถใช้เป็นแหล่งอาหาร และประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านของชุมชนได้อย่างยั่งยืน
การฟื้นฟูป่าชายเลน
ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม หากมีการดูแลไม่ให้มีการเข้าไปบุกรุก หรือลักลอบตัดฟันไม้ ป่าก็จะกลับสภาพเป็นป่าที่มีความสมบูรณ์ได้ แต่กระบวนการทางธรรมชาติจะต้องใช้เวลานานมาก การปลูกฟื้นฟูเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้ป่าชายเลนกลับสู่สภาพที่สมบูรณ์ในระยะเวลาสั้น (ช่วง 10-20 ปี)
การฟื้นฟูป่าชายเลนทำได้ง่ายกว่าการฟื้นฟูป่าบกมาก และใช้เวลาสั้นกว่ามาก เพียงแต่ต้องเข้าใจธรรมชาติของป่าชายเลน โดยพื้นที่ที่จะทำการฟื้นฟู เดิมต้องเป็นป่าชายเลน กล่าวคือ เป็นพื้นที่ดินเลนที่มีน้ำทะเลขึ้น-ลง ตามธรรมชาติ และชนิดพันธุ์ไม้ที่เลือกปลูกจะต้องมีลักษณะทางนิเวศที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หรือปัจจัยแวดล้อมของพื้นที่ปลูก เช่น ระดับความสูงต่ำของพื้นที่เหนือระดับทะเลปานกลาง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับจำนวนวันที่น้ำท่วมถึง ปริมาณแสงในพื้นที่ที่จะปลูก เป็นพื้นที่ที่รับแสงเต็มที่ (แสง 100%) หรือเป็นพื้นที่ที่มีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ทั่วไป
ความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าชายเลนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการรักษาและฟื้นฟู ทั้งการปลูกป่าทดแทน การดูแลพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟู และการสร้างความเข้าใจในคุณค่าของป่าชายเลนให้แก่ชุมชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป การอนุรักษ์นี้จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันปกป้องธรรมชาติเพื่อส่งต่อทรัพยากรอันล้ำค่านี้ให้แก่คนรุ่นหลัง
เอกสารอ้างอิง
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย. (2567). บางขุนเทียน ป่าชายเลน ชีวิตที่ถูกลืม ชีพจรของคนและป่า. สืบค้น 20 มกราคม 2568, จาก https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/104933
สรายุทธ บุณยะเวชชีวิน และ รุ่งสุริยา บัวสาลี. (2554). ป่าชายเลน นิเวศวิทยาและพันธุ์ไม้. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.
Mangrove Forest Planting ประจำเดือน เมษายน 2567. สืบค้น 21 มกราคม 2568, จาก https://www.kmutt.ac.th/news/kmutt-news/26/04/2024/63006/?utm_source=chatgpt.com
Categories
Hashtags