โพลิโคซานอล (Policosanol) ในข้าวไทยสายพันธุ์ต่าง ๆ
Published: 18 July 2025
0 views

ข้าว (Oryza sativa L.) เป็นพืชอาหารหลักที่สำคัญของประชากรในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตหลักแล้ว ส่วนประกอบของข้าวอย่าง รำข้าว (rice bran) ยังอุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น พอลิโคซานอล (Policosanol), โทคอลส์ (tocopherols และ tocotrienols), และแกมมา-ออไรซานอล (γ-oryzanol) ซึ่งมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ เช่น การต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมันในเลือด และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

โพลิโคซานอล (Policosanol)

คือกลุ่มของแอลกอฮอล์สายตรงยาว (long chain aliphatic alcohols) ที่มีความยาวคาร์บอน 20-36 อะตอม ซึ่งพบได้ในไขจากสัตว์และพืชบางชนิด มีสูตรทางเคมี คือ CH3–(CH2)n–OH2 OHn = 24-34 โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ docosanol (C22) tetracosanol (C24) hexacosanol (C26) octacosanol (C28) และ triacosanol (C30) ส่วนประเภทของโพลิโคซานอลนั้น จะแตกต่างกันตามไขที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการสกัด กล่าวคือ ปริมาณและองค์ประกอบของโพลิโคซานอล ในไขแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน โดยจะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาสกัด เช่น ไชอ้อยมีโพลิโคซานอลที่มีความยาวคาร์บอน 24-34 อะตอม และมีออกตะโคซานอล (octacosanol ; C28) มากที่สุด 66% ส่วนในไขผึ้งมีโพลิโคซานอลที่มีความยาวคาร์บอน 18-34 อะตอม โดยมีไตรอคอนทานอล (triacontanol ; C30) มากที่สุด 30.2% และโพลิโคซานอลที่พบในไขรำข้าวมีความยาวคาร์บอน 22-36 อะตอม โดยมีไตรอคอนทานอลมากที่สุด 30% เป็นต้น

รูปจาก : https://www.disthai.com/17282719/%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A5

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารโพลิโคซานอล

โพลิโคซานอล เดิมที่สกัดมาจากอ้อยแต่ในเวลาต่อมาพบว่ายังสามารถสกัดได้จากแหล่งต่างๆ ได้อีกหลายชนิด เช่น ไขจากผึ้ง รำข้าว ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี มันเทศ และถั่ว เป็นต้น ซึ่งจำนวนปริมาณ และองค์ประกอบของโพลิโคซานอลที่ได้จากแหล่งวัตถุดิบต่างๆ จะมีความต่างกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้การผลิตและการสกัดโพลิโคซานอล ในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นั้นจะเป็นการสกัดจากไขอ้อย และไขผึ้งเป็นส่วนใหญ่

รูปจาก : https://www.disthai.com/17282719/%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A5

บทความงานวิจัยเรื่อง “Policosanol and other bioactive compounds in different Thai rice varieties” ของ รศ.ดร.กรณ์กนก อายุสุข, ดร.พิราพร สมบัติสุวรรณ, ดร. ศลิษา ชุ่มสันเทียะ และ อัครเดช นครเสด็จ ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีไขมัน - สรบ.-LIPID กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์ : เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (รูปแบบการวิจัยเชิงกลยุทธ์) สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณไขมัน พอลิโคซานอล โทคอลส์ แกมมา-ออไรซานอล และองค์ประกอบของกรดไขมันในรำข้าวจากข้าวไทยสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยเน้นการเปรียบเทียบสายพันธุ์ข้าวกล้องที่ขัดสีในระยะเวลาเดียวกัน เพื่อระบุสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งของสารชีวภาพที่มีคุณค่า สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาอาหารสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันนัลฟู้ดในอนาคต

จากการศึกษารำข้าวของข้าวไทย 13 สายพันธุ์ที่ผ่านการขัดสี 4 นาที พบว่ารำข้าวเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วย พอลิโคซานอล ไขมัน และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอื่น ๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ สังข์หยด และ เหนียวดำ มอ. ที่มีปริมาณพอลิโคซานอลสูงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันข้าว เหลืองพัว มีระดับโทคอลส์สูงสุด และข้าว ปทุมธานี 1 มีระดับแกมมา-ออไรซานอลโดดเด่น

ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ข้าวไทยบางสายพันธุ์มีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เน้นการใช้สารธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สามารถนำไปต่อยอดด้านการคัดเลือกพันธุ์และการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง

Siripattanakulkajorn, C., Sombutsuwan , P., Nakornsadet, A., Chumsantea, S., Lilitchan, S., Krisnangkura, K. & Aryusuk, K. (2024). Policosanol and other bioactive compounds in different Thai rice varieties. Journal of Food Composition and Analysis, 126. https://doi.org/10.1016/j.jfca.2023.105891

จิราภรณ์ พึ่งธรรม, กรณ์กนก อายุสุข, คณิศา กิตติรัตนไพบูลย์, นฤมล จีรโชค, และคณิต กฤษณังกูร. (2551). การสกัดการทำให้บริสุทธิ์ และการวิเคราะห์องค์ประกอบของโพลิโคซานอล จากไขรำข้าวของไทย.วารสารวิจัย และพัฒนา มจธ., 31(2). หน้า 305-317.


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...