วัดประจำรัชกาลที่ 4
Published: 30 May 2024
35 views

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เรานิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า วัดราชประดิษฐ์ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บนผืนที่ดินในพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นที่ดินสวนกาแฟมาก่อน ผู้เขียนได้ร่วมเดินทางในกิจกรรม KMUTT On Tour EP1 ชมวัด วัง ฟังประวัติศาสตร์วัดราชประดิษฐ์ฯ ที่สำนักงานกิจการนักศึกษาได้จัดให้นักศึกษาใหม่ และผู้ปกครอง โดยตลอดการร่วมทริปมีมากมายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่น่าถ่ายทอดต่อให้ได้รับรู้กัน

ผืนที่ดิน

มีเรื่องราวเกี่ยวกับผืนที่ดินตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างวัดราชประดิษฐสถิติมหาสีมารามแห่งนี้ด้วยปัญหาเรื่องดินอ่อน เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างต่ำด้านหนึ่งติดคลองคูเมืองเดิม จึงทำให้พื้นดินอ่อน โดยพระราชประสงค์จะถมลานพระวิหารและพระเจดีย์ให้สูงประมาณ 4 ศอกเศษแต่หากใช้ดินทรายอาจทำให้พื้นเกิดการทรุดลงได้ ดังนั้น จึงโปรแก้ให้แก้ปัญหาโดยให้ถมด้วยไหกระเทียมจากเมืองจีน เพราะมีเนื้อแกร่งไม่ผุง่าย น้ำหนักเบา เพื่อจะหาไหกระเทียมให้ได้จำนวนตามต้องการ พระองค์จึงทรงให้ออกประกาศบอกบุญให้ประชาชนนำไหกระเทียมมาร่วม หรือขายให้มาร่วมพระราชกุศล อีกถ้ามีละครการกุศลก็ให้ประชาชนมาร่วมโดยเก็บค่าผ่านประตูเป็นไหกระเทียม ไตหรือตุ่ม กระถางเล็ก ๆ ที่แตกแล้วก็ใช้ได้ และอนุญาตให้ประชาชนดูการนำไหลงฝังเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าใช้ไหบรรจุเงินทอง จะได้ไม่มีผู้ใดมาแอบหาเงินทองขุดลานวัดในภายหลัง โปรดเกล้าจัดพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อพุทธศักราช 2404 วันที่ 7-9 มิถุนายน

หอระฆัง

ข้อมูลจากหนังสือราชประดิษฐ์พิพิธทรรษนา ระบุว่า ระฆังวัดราชประดิษฐฯ ที่รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาสั่งให้หล่อนั้นหล่อโรงหล่อในสหราชอาณาจักร กรุงลอนดอน ชื่อโรงหล่อ Whitechapel Bell Foundry ปัจจุบันเป็นบริษัท Colman Palmer เรียกเป็นระฆังฝรั่ง มี 3 ใบ แขวนอยู่บนหอระฆังเรียงเป็น ใบกลาง ใบใหญ่ และใบเล็ก แต่ระฆังใบใหญ่จะมีความพิเศษกว่าระฆังอื่น โดยระฆังใบใหญ่ที่แขวนเดิม ตอนกลางของระฆังมีจารึกพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาพระอารามเป็นภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ว่า S P B P M M (Somdet Phra Brarmendr Phra Maha Mongkut) คริสตศักราช 1861 ตรงกับพุทธศักราช 2404 (ก่อนการสถาปนาพระอาราม 3 ปี) บริเวณปากระฆังมีข้อความด้วยว่า FOUNDERS LONDON ระบุถึงการผลิตที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (วัดราชประดิษฐ์สถติมหาสีมาราม, 2565) แสดงว่าพระองค์ทรงเตรียมการเกี่ยวกับหอระฆังตั้งแต่สร้างวัดแล้ว โดยหอระฆังอาคารก่ออิฐถือปูทาสีขาวผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตกและสถาปัตยกรรมไทย มีความพิเศษจากหอระฆังอื่นในการตีระฆัง คือ หอนี้ไม่มีบันไดทางขึ้นไปตีระฆัง ต้องใช้การดึงเชือกตีจากด้านในแทนการตีระฆังจากด้านนอกเหมือนระฆังทั่วไป

ต่อมาระฆังฝรั่งสามใบ ใบใหญ่แตกร้าวไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติในรัชสมัยร.6 พระองค์จึงพระราชทานระฆังฝรั่งเรือรบสามใบเถาใช้ตีบอกเวลาประกอบกิจของสงฆ์ตามระเบียบของวัด ต่อมาแตกร้าวลงอีกไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ

พระอุโบสถ หรือ พระวิหารหลวง

ประดิษฐาน "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" เป็นพระประธาน ฐานพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยการครอบถ้ำศิลาไว้

ภาพพระประธานในอุโบสถ

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรสุริยุปราคา ซึ่งพระองค์ทรงคำนวณล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปี และทรงโปรดให้ตั้งพลับพลาที่บริเวณนั้นโดยครั้งนั้นพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) เสด็จร่วมส่องกล้องทอดพระเนตร และนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสและข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์มาตั้งค่ายดูบริเวณใกล้เคียงด้วย ภาพจิตรกรรมฝาผนังแบ่งภาพออกเป็น 2 ตอน ตอนบน เหนือหน้าต่างขึ้นไปเป็นภาพเทวดานางฟ้าเหาะอยู่ตามกลีบเมฆ และบริเวณอื่นเป็นภาพพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ (อ่านเพิ่มเติม) พระราชกุศลเลี้ยงตรุษจีน พระราชพิธีลอยพระประทีป เป็นต้น นอกจากนี้ในพระวิหารหลวงยังมีบานประตูหน้าต่าง ประดับด้วยบานไม้ประดับมุกงานสั่งทำเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น

พระปาสาณเจดีย์

ปาสาณเจดีย์จะเห็นว่าอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประกอบหินอ่อนสีเทาขาวตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นามของปาสาณเจดีย์มีความหมายว่า เจดีย์ศิลา

การบูรณะปฏิสังขรณ์ของวัด

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมประเมินและติดตามโบราณสถานอย่างพระปาสาณเจดีย์นี้ที่ีอายุกว่า 100 ปีแล้ว โดยใช้กล้องสแกนวัตถุสามมิติด้วยแสงเลเซอร์ที่บอกค่าพิกัดต่าง ๆ เช่น ความเสียหายภายในพระวิหารหลวง พระปาสาณเจดีย์ โดยผลปรากฏพบว่า พระวิหารหลวงมีความทรุดเอียงไปทางทิศใต้ฝั่งพระเจดีย์เล็กน้อย และค่าความเอียงของพระเจดีย์ที่ตรวจวัดได้มีค่าไม่มาก เบื้องต้นในการตรวจสอบภายในพระวิหารไม่พบความเสียหายที่มีต่อเสถียรภาพของโครงสร้าง การบูรณะจึงเตรียมข้อมูลกันต่อไป (อ่านเพิ่มเติม) มีค้อนไฟฟ้าที่เป็นตัวตีระฆังด้วย ถือเป็นการฟื้นธรรมเนียมการตีระฆังฝรั่งสามใบเถาให้กลับมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ระฆังที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ทีม มจธ. ได้เข้าไปวิเคราะห์องค์ประกอบส่วนผสมทางเคมีของโลหะแบบเคลื่อนที่ พบว่า มีส่วนผสมของดีบุกและทองแดง ระฆังฝรั่งจึงมีเสียงไพเราะกังวาน ทางวัดได้ติดต่อบริษัทเดิมเพื่อผลิตระฆังใหม่ ระฆังดังเพราะคนตี แต่ระฆังพังอีกอาจจะเพราะพระตีเช่นกัน การคุมน้ำหนักมือให้สม่ำเสมอจะช่วยยืดอายุการใช้งานให้ได้นานขึ้น ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. จึงประดิษฐ์การออกแบบระบบควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติโดยใช้ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์

สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดในการบูรณะวัดแห่งนี้อีกชิ้นคือ การซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ที่กรมศิลปากรประเทศไทย ร่วมมือกับสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการอนุรักษ์ซ่อมแซม (2564-2568) เพื่อให้คงรูปแบบลวดลายลักษณะเดิม โดยส่วนใดที่หลุดล่วงไปแล้วจะไม่เติม แต่จะดำเนินงานส่วนที่เป็นพื้นรักสีดำจากยางรักเท่านั้น

หากนับจากวันพระราชพิธีผูกพัทธสีมาในปี 2408 ในเร็ววันใกล้นี้จะครบอายุวัดประจำรัชกาลที่ 4 - วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม 159 ปี ทั้งพระวิหารหลวง ทั้งจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งหอระฆัง ฯ มีหลายสิ่งที่น่าสนใจและระลึกไว้ให้เราศึกษา กับวัดขนาดพื้นที่เล็กเพียง 2 ไร่ ไม่ได้มีความยากลำบากต่อการเยี่ยมชมเลย ทุกท่านสามารถเข้าไปสักการะหรือเยี่ยมชมร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าได้ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิติมหาสีมาราม ใกล้พระราชวังสราญรมย์ เขตพระนครนี้เอง

อ้างอิง

มจธ. ประดิษฐ์ “ระบบควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ” ร่วมฟื้นธรรมเนียมการตีระฆังฝรั่งสามใบเถา วัดราชประดิษฐฯ – PR KMUTT

ระฆังฝรั่งสามใบเถา หอระฆังยอดมงกุฎ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (silpa-mag.com)

ส่อง..เทคโนโลยี 3 มิติ บูรณะ 'ปาสาณเจดีย์' วัดราชประดิษฐฯ (matichon.co.th)

New tab (finearts.go.th)

วัดราชประดิษฐ์สถิติมหาสีมาราม, 2566, บทเจริญพระพุทธมนต์ นวัคคหายุสมธัมม์, พิมพ์ครั้งที่ 8, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...