ทำไมต้องมีพระราชพิธีโสกันต์
Published: 23 August 2023
14 views

จากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

การไว้จุกทั้งเด็กชายและเด็กหญิง นับตั้งแต่พระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ลงมาถึงบุตรธิดาของขุนนาง ตลอดจนบุตรหลานของสามัญชน เมื่อเด็กอายุครบโกนจุก ( 7 ขวบ 9 ขวบ หรือ 11 ขวบ สำหรับเจ้านายผู้หญิงเมื่อครบ 11 ชันษา สำหรับเจ้านายผู้ชายเมื่อครบ 13 ชันษา ) ทางครอบครัวของเด็กจะจัดพิธีโกนจุกขึ้นตามแต่ฐานะและความสะดวก พิธีโกนจุกถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอันเกี่ยวข้องกับการเกิด โดยจะมีความเชื่อในเรื่องขวัญมาเกี่ยวข้อง ทั้งยังบอกว่าเด็กกำลังก้าวย่างเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ แต่ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันที่ไม่มีการไว้จุกแล้ว เจ้านายในชั้นหลัง ๆ “มิได้ไว้พระเมาลีกันอีกแล้ว” ประเพณีโสกันต์ หรือเกศากันต์จึงค่อย ๆ เลือนหายไป พิธีโสกันต์ครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นในประเทศไทยคือพิธีโสกันต์ “พระองค์เจ้าอินทุรัตนา” พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่ประสูติแต่หม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ณ อยุธยาที่จัดขึ้นในปี 2475 อันเป็นปีสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภาพเหล่านี้จึงถือเป็นภาพที่หาดูได้ยาก พระราชพิธีโสกันต์เจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่สมพระอิสริยยศ และฐานันดรศักดิ์ของเจ้านายพระองค์นั้น ๆ สิ่งก่อสร้างที่จำลองขึ้นในพระราชพิธีโสกันต์คือ “เขาไกรลาส” อันเป็นสมมุติบรรพต “ภูเขาจำลอง” ในการประกอบพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี การโสกันต์ตัดจุกเจ้าฟ้า ส่วนหนึ่งในการพระราชพิธีที่พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท มีสิ่งสำคัญ คือ พ่อจะจูงลูกมาที่เกยและจับข้อมือลูกขึ้นไปโสกันต์ เราเรียกว่า พิธีส่งข้อพระกร หมายถึง ไปเป็นหนุ่มเต็มตัวนะลูก ไปเป็นสาวเต็มตัวนะลูก ภาระภารกิจเต็มตัวนะลูก

พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา

พ.ศ. 2404


อ้างอิง

ชวนพิศ ทองแคล้ว. (2548). ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

โชติกา นุ่นชู. (2564) ย้อนรอยพระราชพิธีโสกันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายพระองค์ใดโสกันต์คนแรก-คนสุดท้าย?”. (ออนไลน์). URL : https://www.silpa-mag.com/culture/article_34284, สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2566.

สาระ มีผลกิจ. (2566). เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ และสาระ มีผลกิจ. (2566). หนังสือประกอบการบรรยาย เรื่อง พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี . กรุงเทพฯ : มปพ.


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...