วัฒนาการการศึกษาไทยจากสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์
Published: 19 April 2024
28 views

การศึกษาล้วนมีอยู่คู่สังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัยหากแต่บริบทการเรียนการสอนแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมในช่วงสมัยนั้น ในอดีตการศึกษาอาจมีเพียงการเรียนการสอนแค่ภายในวัดและในพระราชวังเพียงเท่านั้นแต่เมื่อสังคมเกิดความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นการศึกษาได้แพร่กระจายลงมาสู่สามัญชนคนธรรมดาที่สามารถเข้าถึงการศึกษากันได้ทุกคนเพื่อจะสามารถเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศได้ต่อไป วิวัฒนาการของการศึกษาในแต่ละยุคแต่ละสมัยจึงมีความแตกต่างกันออกไปตามบริบทสังคมในแต่ละช่วงสมัย

 ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยการเรียนการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การศึกษาฝ่ายพุทธจักร์ คือ การศึกษาหาความรู้ทางพุทธศาสนา ผู้ที่ศึกษามักจะเป็นเพศชายไม่ว่าจะเป็นบุตรหลานของเหล่าขุนนางหรือราษฎรทั่วไปก็สามารถรับการศึกษาได้โดยมีพระภิกษุเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาและมีวัดเป็นสถานศึกษา ในด้านฝ่ายอาณาจักรเป็นการศึกษาด้านอักษรศาสตร์และด้านวิชาชีพผู้เรียนส่วนใหญ่มักจะเป็นเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการผู้สอนก็จะเป็นเหล่านักปราชญ์ในสำนักราชบัณฑิตหรือผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านวิชาต่าง ๆ แหล่งศึกษาโดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตพระราชฐานและสำนักราชบัณฑิต การศึกษาฝ่ายอาณาจักร์แบ่งการศึกษาเป็นสองประเภทคือการศึกษาสำหรับฝ่ายพลเรือนการศึกษาสำหรับฝ่ายทหาร ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยในปีพุทธศักราช 1826 ซึ่งนับว่าเป็นการวางรากฐานแห่งอักษรศาสตร์ที่ส่งผลให้การศึกษาได้รับการสืบสานมาจนถึงยุคปัจจุบัน

         ในสมัยอยุธยาความเจริญของการศึกษาไทยเริ่มมีความแตกต่างจากในสมัยสุโขทัยการศึกษาเริ่มได้รับการพัฒนามากขึ้นมีการเกิดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและมีการแต่งแบบเรียน “จินดามณี”เป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกและมีการโปรดให้แต่งหนังสือขึ้นตามมาอีกไม่ว่าจะเป็นหนังสือ “มหาชาติคำหลวง” ที่เป็นวรรณคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและอื่น ๆ เช่น พระไตรปิฎก กาพย์มหาชาติ ลิลิตยวนพ่าย โดยเฉพาะในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนับว่าเป็นยุคทองแห่งวรรณคดีเพราะการศึกษาทางด้านภาษาและวรรณคดีมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับอักษรศาสตร์และการเรียนการสอนที่ได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตกเข้ามาด้วย ในสมัยนี้สถานศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่วัดเหมือนในสมัยสุโขทัยเริ่มมีการจัดตั้งโรงเรียนมิชชันนารี โรงเรียนสามเณร เพื่อเป็นสถานที่ให้การศึกษา

         ในสมัยธนบุรี แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่บ้านเมืองกำลังเร่งฟื้นฟูสิ่งต่าง ๆ กลับขึ้นมาใหม่หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกเป็นครั้งที่ 2 แต่การศึกษาก็ยังได้รับความสนใจในการพัฒนาต่อยอด ในสมัยนี้มีการเขียนแบบเรียนหนังสือไทยขึ้นจำนวน 2 เล่มได้แก่หนังสือประถม ก กา และหนังสือ ประถม มาลา

         ต่อมาในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นสภาพการศึกษายังคงอยู่ในรูปแบบการจัดการศึกษาตามวัดและบ้านเรือนโดยทางรัฐและราชสำนักได้ให้การสนับสนุนอุปถัมภ์ในสมัยนี้สถานศึกษาก็ยังคงจัดตั้งอยู่ในวัดและมีพระเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาเหมือนสมัยอยุธยาการเรียนยังเป็นระบบความสมัครใจไม่เป็นการศึกษาแบบภาคบังคับ ความเจริญทางด้านการศึกษาในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มมีการพัฒนาขึ้นในช่วงสมัยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากเป็นยุคที่บ้านเมืองเริ่มห่างไกลจากศึกสงครามสิ่งต่าง ๆ ได้ถูกนำขึ้นมาทำนุบำรุงมากยิ่งขึ้นการศึกษาก็ได้รับการสนใจเป็นอย่างมากมีการเขียนวรรณคดีที่ทรงคุณค่าเกิดขึ้นหลายเล่มเช่น รามเกียรติ์ สังข์ทอง อิเหนา พระอภัยมณี นิราศนรินทร์ ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น ต่อมาการศึกษาไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากอิทธิพลตะวันตกในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวตะวันตกได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาและอารยธรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นควรว่าประเทศสยามถึงเวลาที่จะต้องศึกษาอารยธรรมตะวันตกและวิทยาการใหม่ ๆ ของชาวตะวันตกแล้ว จึงทรงโปรดให้มีการจัดการเรียนการสอนขึ้นในราชสำนักซึ่งได้เกิดการสร้างเป็นธรรมเนียมความนิยมให้เกิดการศึกษาขึ้นให้แก่เหล่าเจ้านายและบุตรหลานขุนนางที่ถวายตัวเข้ามารับราชการในพระราชวังเมื่อเรียนจบก็โปรดให้รับราชการเป็นเสมียนและเป็นครูสอนหนังสือให้แก่เหล่าเจ้านายและบุตรหลานขุนนางในรุ่นต่อมาและยังมีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกในด้านของแนวคิดการศึกษาอีกเช่นการตั้งเครื่องพิมพ์หนังสือเป็นครั้งแรก การรวบรวมและบันทึกวิชาความรู้ต่าง ๆ ไว้ที่วัด การจัดทำหนังสืออธิบายลักษณะกาพย์ กลอน โคลงต่าง ๆ เป็นต้น

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นยุคที่การศึกษาได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตกเป็นอย่างมากเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระทัยการศึกษาความรู้สมัยใหม่โดยพระองค์ได้ริเริ่มการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวังขึ้นในปีพุทธศักราช 2405 ในรัชสมัยของพระองค์นับได้ว่าเป็นยุคที่ประเทศชาติบ้านเมืองกำลังเริ่มเดินทางเข้าสู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ พระองค์ทรงพยายามที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่โดยการจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่และแสดงธรรมเทศนาต่าง ๆ ให้แก่ราษฎร ทรงส่งเสริมการศึกษาภาษาตะวันตก การศึกษาดาราศาสตร์และการศึกษาภูมิศาสตร์ซึ่งจัดว่าเป็นการเปิดโลกองค์ความรู้ใหม่ให้แก่ชาวสยามในสมัยนั้นและการศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้ได้เป็นการเริ่มต้นการพัฒนาการศึกษาที่ส่งผลให้กับชาติบ้านเมืองในระยะต่อมาที่พยายามพัฒนาให้การศึกษาไทยได้มีความเจริญทัดเทียมกับอารยประเทศซึ่งได้ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศทำให้ประเทศไทยได้มีการศึกษาอย่างเป็นระเบียบแบบแผน นับได้ว่ารากฐานการศึกษาไทยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้ริเริ่มไว้ทั้งการศึกษาสมัยใหม่ การให้ความสนพระทัยในการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ราษฎร สิ่งเหล่านี้ได้สืบสานส่งต่อให้ราษฎรได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นในการศึกษาเพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่จนได้รับการยอมรับการนานาประเทศและได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย อิทธิพลในการศึกษาที่สืบสานมาจากประพระราชปณิธานของพระองค์เปรียบเสมือนการเป็นพลังขับเคลื่อนเบื้องหลังประชาชาติที่ส่งผลต่อความเจริญงอกงามของบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ  ตัวอย่างอิทธิพลที่ส่งผลเป็นที่ประจักษ์ อาทิ การขอพระราชทานพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งเป็นชื่อสถาบันอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  นับได้ว่ารากฐานที่พระองค์ทรงวางไว้ได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางด้านการศึกษาต่อชาติบ้านเมืองอย่างนับอนันต์ เป็นผลให้ประเทศชาติเกิดความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับชาติอื่น ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ 

รายการอ้างอิง

http://old-book.ru.ac.th/e-book/e/EF303(48)/EF303-1.pdf

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...