วัฒนธรรมตะวันตกในสมัยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ
Published: 10 April 2024
8 views

ความเจริญเดินทางเข้าสู่ชาติ       เพราะเบื้องบาทของพระองค์ผู้ทรงศรี

นำภาษาอารยธรรมมิตรไมตรี       สู่การค้าที่เสรีอันเรืองรอง

ทรงเปิดรับการศึกษาตะวันตก       เพื่อพสกได้ทัดเทียมชาติทั้งผอง

ทรงนำไทยสู่ความรุ่งเรืองรอง        ทรงคุ้มครองชาติไทยให้ร่มเย็น

       (ผู้ประพันธ์ : ศุภชัย กันเร็ว)

การเข้ามาของชาวตะวันตกนับว่าเป็นต้นเหตุในการนำความเจริญเข้ามาสู่สยามประเทศในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ ด้านเศรษฐกิจ ด้านศาสนารวมไปถึงการนำอารยธรรมต่าง ๆ ที่ได้เข้ามาเผยแพร่ในสังคมไทยในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยของพระองค์ได้เปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่ความเจริญของประเทศไทยมีการเข้ามาของชาวต่างชาติมากมายที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีการค้าขาย หรือการเผยแพร่ศาสนาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

การเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่มีมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่เมื่อครั้งที่เราเสียกรุงครั้งที่ 2 ประชากรชาวไทยได้ถูกกวาดต้อนและระเหเร่ร่อนกระจายกันไปอยู่คนละทิศละทางส่งผลให้เกิดการไม่ต่อเนื่องในการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ เมื่อคนไทยรวมกำลังกันกลับมาเป็นปึกแผ่นได้ดังเดิมแล้วทั้งในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ประเทศชาติได้ห่างหายจากการทำสงครามทำให้ความเจริญงอกงามในด้านต่าง ๆ ของประเทศ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นช่วงที่สยามประเทศต้องรับการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นชาติตะวันตกชาติมหาอำนาจที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ได้มีมิชชันนารีทั้งนิกายโปรแตสแตนท์และคาทอลิกเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมสมัยใหม่พร้อมกับสอดแทรกลัทธิทางการเมืองเข้ามาด้วยขนบธรรมเนียมและภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากพวกมิชชันนารีได้ส่งผลกระทบต่อจารีตเดิมของคนไทยทำให้จารีตวัฒนธรรมบางอย่างเกิดการผสมผสานเกิดการเปลี่ยนแปลงไป

บริบทการค้าของสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เดิมราษฎรค้าขายกันโดยการใช้เงินตราที่ผลิตภายในประเทศแต่เมื่อมีการเดินทางเข้ามาของชาติตะวันตกทำให้สังคมไทยเกิดการค้าที่เสรีจากเดิมเป็นระบบการค้าที่ต้องกระทำผ่านพระคลังสินค้าเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาตามมาคือราษฎรไม่กล้ารับแลกเปลี่ยนสินค้าและเงินตราจากชาวตะวันตกเพราะไม่สามารถแน่ใจได้ว่าเงินตราเหล่านี้สามารถแลกเปลี่ยนใข้จ่ายภายในสยามได้หรือไม่ ทำให้ทางรัฐบาลต้องประกาศให้ราษฎรรับทราบว่าเงินตราของชาวตะวันตกนั้นสามารถใช้แลกเปลี่ยนกับเงินตราภายในประเทศได้ และได้มีการเปลี่ยนระบบเงินตราที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมาเป็นระบบการใช้เหรียญกษาปณ์เพื่อให้เหมาะแก่การแลกเปลี่ยนอัตราเงินของชาวตะวันตก และต่อมาได้มีการก่อตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้ผลิตเหรียญกษาปณ์ด้วยเครื่องจักรและซึ่งในขณะนั้นก็ได้ส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ณ กรุงลอนดอน สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียจึงได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินมาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สั่งให้จัดทำเหรียญด้วยเครื่องจักรซึ่งเหรียญนี้ได้ชื่อว่า เหรียญเงินบรรณการ ซึ่งต่อมาสยามก็ทำได้การสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ ซึ่งได้มีวิศวกรเดินทางมาทำการติดตั้งให้จำนวน 3 นายแต่กลับเสียชีวิตลงก่อนที่จะดำเนินการติดตั้งสำเร็จ พระวิสูตรโยธามาตย์จึงได้ดำเนินการติดตั้งต่อจนสำเร็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าให้เป็นเจ้ากรมโรงกษาปณ์และได้รับพระราชทานยศให้เป็นพระยากระสาปน์กิจโกศลในเวลาต่อมา  การเข้ามาของชาวต่างชาติในการติดต่อค้าขายนี้จึงเป็นเหมือนต้นเหตุในการทำให้สยามเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมที่มีอยู่เป็นสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศ

ในด้านของค่านิยมความงามผู้คนในสมัยนั้นนิยมทำสีฟันให้เป็นสีดำแต่เมื่อชาวตะวันตกได้พยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมชี้ให้ชาวสยามเปลี่ยนค่านิยมว่าฟันขาวคือสิ่งที่สวยงามชาวสยามในยุคนั้นจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขึ้นเพราะมองว่าสิ่งที่ชาวตะวันตกนำเข้ามานั้นเป็นสิ่งที่ดีเลิศตามแบบประเทศทางตะวันตก วิถีชีวิตของคนไทยจึงเริ่มมีการเปลี่ยนไปจากเดิมทีละเล็กน้อยจากสิ่งใกล้ตัวตลอดไปจนถึงสิ่งไกลตัว

         การกำเนิดการพิมพ์ด้วยมิชนารีได้นำวัฒนธรรมการอ่านหนังสือเข้ามาซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่แพร่หลายมากในเมืองหลวงมิชชันนารีที่มีนามว่า หมอบรัดเลย์ได้ทำการจัดพิมพ์หนังสือด้านความรู้สมัยใหม่ เช่น ตำราทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลครรภ์ เป็นต้น การพิมพ์หนังสือเริ่มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดให้มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ.2410 โดยพระราชทานนามว่า โรงพิมพ์หลวงอักษรพิมพการ การนำวัฒนธรรมการอ่านเข้ามาของชาวตะวันตกนี้จึงเป็นผลให้ชาวสยามได้เพิ่มพูนความรู้และศึกษาความเป็นสมัยใหม่ที่ชาวตะวันตกนำเข้ามาเผยแพร่นับว่าเป็นผลพวงที่ช่วยให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

         ในด้านการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้ประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้าซึ่งจากขนบเดิมผู้ที่จะเข้าเฝ้าต้องถอดเสื้อพระองค์ทรงโปรดให้ข้าราชการสวมเสื้อราชปะแตนสวมหมวกอย่างยุโรปและให้เหล่าทหารแต่งเครื่องแบบตามแบบตะวันตก และทรงให้ยกเลิกการมอบคลานและเข้าเฝ้าเปลี่ยนให้เป็นการยืนเข้าเฝ้าแทนซึ่งนับว่าเป็นเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ส่งผลให้เหล่าบรรดาข้าราชการที่เข้าเฝ้าต้องปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติตามไปด้วย

         จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความเจริญก้าวหน้าของประเทศไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นโดยรวดเร็วทันทีแต่เกิดจากการวิเคราะห์พิจารณาว่าสิ่งที่ชาวตะวันตกนำเข้ามาในดีต่อตนและบ้านเมืองจะเกิดการปรับเปลี่ยนตามเพื่อให้เกิดความเจริญขึ้น คนไทยเรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ทันสมัยการเปิดใจรับคำสอนของมิชชันนารีและการรับเอาวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างของชาวตะวันตกมาใช้ส่งผลให้วิถีเดิมวัฒนธรรมเก่าที่เคยมีมาบางอย่างเกิดการผสมผสานของวัฒนธรรมรวมถึงเกิดพลวัตการผันเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมที่ต้องการเปิดรับความเจริญมากขึ้น การที่สยามเปิดรับให้ชาวตะวันตกได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีทำการค้าขายและถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ชาวสยามนี้จึงเป็นผลที่ส่งให้ประเทศเกิดความเจริญก้าวหน้ามาได้จนจวบปัจจุบัน

รายการอ้างอิง

            https://so01.tci-thaijo.org/index.php/gjournal-ksu/article/view/89033/70060

            http://www.thapra.lib.su.ac.th/e-book/bangkok/08-chapter2.pdf


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...