ลดการใช้ไฟฟ้ากับคุณปรีชา อาการศ
Published: 1 August 2024
14 views

   ระบบเครื่องปรับอากาศและหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานชนิด LED (Light-Emitting Diode)

 ปัจจุบันโลกของเราสว่างจากอะไรแล้วทำไมถึงมีทั้งอากาศร้อนและอากาศเย็น แน่นอนว่าก่อนที่มนุษย์เราจะได้มีหลอดไฟฟ้าใช้เพื่อให้แสงสว่างและก่อนที่เราจะได้ใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อการได้มีชีวิตอยู่ในพื้นที่ภาวะสบายตามอุณหภูมิที่เรากำหนดได้เองนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากนวัตกรรมปัญญาและความสามารถโดยฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น อย่างเช่นหลอดไฟฟ้าที่เรามีใช้กันก็เกิดจาก โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) มนุษย์ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าคนแรกของโลกใน ค.ศ. 1879 ก่อนที่ต่อมาการใช้หลอดไฟฟ้าจะเริ่มมีการใช้งานอย่างแพร่หลายและมีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน

         แต่เมื่อกาลเวลาหมุนผ่านไปมวลมนุษย์ชาติเดินทางมาถึงยุคที่พลังงานธรรมชาติเริ่มลดลง หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเกิดการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเกิดนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัด

“อย่าลืมช่วยกันประหยัดไฟฟ้า” ประโยคคุ้นหูที่ทุกคนคงคุ้นเคยไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน ที่โรงเรียนหรือที่ทำงานก็ตามการรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้ามักจะถูกปลูกฝังให้เราช่วยกันปฏิบัติตามอยู่เสมอเพราะทุกคนตระหนักรู้ว่าการประหยัดพลังงานไฟฟ้าจะช่วยส่งผลต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายในการชำระค่าไฟฟ้าและยังส่งผลต่อการลดปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย สำหรับประเทศไทยทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ได้มีโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เพื่อจูงใจและปลูกฝังการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดให้แก่ประชาชนและให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงโดยเป้าหมายของโครงการคือการลดการใช้พลังงานโดยรวมของชาติและลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มมีการส่งเสริมให้มีการใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย และอาคารประหยัดไฟฟ้าในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดหลัก 2 อ.ได้แก่ อ.อาคารประหยัดไฟฟ้า และ อ.อุปสัยประหยัดไฟฟ้า ที่เป็นการปลูกฝังให้ประชาชนร่วมด้วยช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ตระหนักถึงการมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบต่อความเป็นไปด้านสิ่งแวดล้อมจึงตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานของมหาวิทยาลัยในระยะยาวโดยการวางแผนมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืนให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงานและมีระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะ การจัดการสารเคมี การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการพัฒนาพื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยและนอกจากนี้ยังมีมาตรการประหยัดพลังงานสูงสุด โดยมีเป้าหมายลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลง 30 % ภายในปี 2040 แต่การที่เป้าหมายจะถึงจุดสำเร็จนั้นการดำเนินงานต่าง ๆ จะต้องมีแผนการดำเนินงานที่ดีและเกิดผลจริง จึงจำเป็นต้องมีวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้โดยเฉพาะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ที่สนับสนุนนโยบายและดำเนินงานเพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จลุล่วง ดร.ปรีชา อาการศ วิศวกร มจธ.เป็นผู้ที่ดูแลงานในด้านพัฒนาระบบและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของสำนักบริหารอาคารและสถานที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดร.ปรีชา อาการศ เล่าถึงการเริ่มทำนโยบายอนุรักษ์พลังงานตั้งแต่ตนเริ่มเข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งเริ่มดำเนินการโครงการต่าง ๆ มากมายเพื่อให้ตอบโจทย์นโยบายการอนุรักษ์พลังงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งโครงการแรก ๆ ที่ ดร.ปรีชา อาการศ ได้ดำเนินการทำ คือ โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิด Variable speed/Inverter ทดแทนของเดิมในอาคารควบคุมภาครัฐภายในอาคาร มจธ.ได้รับสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน เครื่องปรับอากาศชนิด Variable speed/Inverter จำนวน 1,000 เครื่องโดยประมาณคิดเป็นเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ มจธ.ได้รับการสนับการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าชนิด T8 LED ขนาด 16 วัตต์ จำนวน 50,000 หลอดโดยประมาณทั่วพื้นที่การศึกษาบางมด ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน จำนวน 24 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนเครื่องทำความเย็นประสิทธิภาพสูง (Chiller)ชนิด Inverter ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน จำนวน 13 ล้านบาท ซึ่งเดิมประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาก่อนดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายในการเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 150 ล้านบาทต่อปีแต่เมื่อเกิดนโยบายการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระก็ลดลงไปเกือบ 20% อยู่ที่ 120 ล้านบาทต่อปี และภายในปี 2567 นี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินโครงการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากการลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารระยะที่ 1 ประกอบด้วย 3 พื้นที่การศึกษา มจธ. บางมด (1.2MWp.), บางขุนเทียน(1.4MWp.), KX (70kWp.) จากการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการใช้พลังงานโดยเป็นการเลือกใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นประมาณ 13 % และพลังงานไฟฟ้าหลักจากการไฟฟ้านครหลวงที่ใช้อยู่ก็จะลดลงและนอกจากนั้นยังมีส่วนที่เป็นคาร์บอนเครดิตเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วยซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้ไฟฟ้าลงและได้ใช้คาร์บอนเครดิตมาชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย นอกจากการดำเนินการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นทาง มจธ.ยังได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ป่าของ มจธ.ราชบุรี และการปลูกป่าโกงกางซึ่งมีพื้นที่กว่า 136 ไร่ เพื่อเป็นการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในปี 2040

จากการตั้งเป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงานของมหาวิทยาลัยทำให้เราเห็นถึงคุณค่าของการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและพลังงานอื่นๆ ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับกลับมาจากการช่วยกันประหยัดพลังงานไม่ได้มีเพียงมหาวิทยาลัยที่ได้ผลประโยชน์แต่การอนุรักษ์พลังงานงานนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามที่มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงการร่วมรับผิดชอบต่อความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม

 

อ้างอิง

ส่วนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ของ คุณปรีชา อาการศ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567

[1] https://labelno5.egat.co.th/new58/?page_id=821  

[2]https://www.nerubber.com/energy-management-and-conservation-policy

[3]https://www.kmutt.ac.th/sdgs/28/04/2022/17062/

[4]https://www.posttoday.com/lifestyle/197037

 





Categories

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...