รัชกาลที่ 4 กับการค้นพบศิลาจารึก
Published: 22 March 2024
27 views

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุได้เสด็จจาริกธุดงค์ไปทางภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อเสด็จถึงเมืองสุโขทัยพระองค์ได้ทรงค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๑ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๖ ซึ่งตรงกับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์จึงโปรดให้นำมาเก็บรักษาไว้ที่พระนคร ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ค้นพบมีลักษณะฉันทลักษณ์เป็นความเรียงลักษณะการประพันธ์แบบร้อยแก้ว โดยได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ด้าน ดังนี้

                  ศิลาจารึกด้านที่ ๑ ได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ครั้งประสูติจนได้ครองราชย์และเป็นการกล่าวถึงการยอพระเกียรติ การชมบ้านชมเมืองและการประกาศขอบเขตพระราชอำนาจของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  โดยในศิลาจารึกด้านที่ ๑ ได้กล่าวถึง เรื่องราวส่วนพระองค์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประวัติของพระองค์ว่า “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูมีพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้ายตายจากตั้งแต่ครั้งยังเล็ก” และกล่าวถึงการทำยุทธหัตถีสงครามบ้านเมืองในสมัยสุโขทัย กล่าวถึงที่มาของชื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และกล่าวถึงลำดับการสืบราชย์สมบัติของพระเซษฐาและการขึ้นครองราชย์สมบัติของพระองค์

ศิลาจารึกด้านที่ ๒ เป็นการเล่าถึงการชมบ้านชมเมือง ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ความเจริญรุ่งเรืองของศาสนา วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย เช่น ด้านวัฒนธรรม ได้มีประเพณีทางศาสนาคือการทอดกฐินเมื่อออกพรรษา พิธีประจำเมืองหรือประเพณีหลวง เช่น การบูชาพระขพุงผี เป็นต้น

ศิลาจารึกด้านที่ ๓ เป็นการกล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเมื่อ พ.ศ. 1835 พ่อขุนรามคำแหงได้โปรดให้ช่างสกัดหินเป็นพระแท่น ชื่อว่าพระแท่นมนังคศิลาบาตร เป็นต้น

ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าในแต่ละด้านโดยสังเขปได้ดังนี้

๑. ด้านประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ไทยในสมัยสุโขทัยไม่ว่าจะเป็นการปกครอง เศรษฐกิจการค้า การรวบรวมอาณาจักรต่าง ๆ เป็นต้น

๒. ด้านการเมืองการปกครอง แสดงให้เห็นถึงการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระองค์ทรงโปรดให้ข้าราชการบริพารเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาราชการงานเมืองได้ทุกวันและให้ราษฎรสามารถร้องทุกข์ผ่านการสั่นกระดิ่งได้ทุกเวลา

๓. ด้านภาษาแสดงให้เห็นถึงจุดกำเนินของลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นซึ่งภาษาไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์เป็นภาษาที่มีความสมบูรณ์ทั้งสระและพยัญชนะ

๔.  ด้านศาสนาแสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของราษฎรที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองไม่ว่าจะเป็นด้านปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย  

การค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๑ จึงนับว่าเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ส่งผลให้คนไทยได้รับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่สำคัญในสมัยสุโขทัยไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง ด้านภาษาและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ไทยมากมาย เช่น  ด้านภาษาและวรรณกรรม พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการเขียนวรรณกรรมที่เป็นร้อยแก้วซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่แตกต่างจากอดีตที่นิยมเขียนวรรณกรรมเป็นรูปแบบร้อยกรองพระองค์พระราชนิพนธ์ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์วนปเวสน์ นอกจากนั้นพระองค์ทรงให้ออก”ประกาศให้ใช้คำว่าใส่ในที่ควร” เมื่อ พ.ศ. 2411 เกี่ยวกับการใช้คำว่า “ใส่” ให้ถูกต้อง โดยระบุว่า ควรให้ใช้คำว่า “ใส่” กับของไม่มีตัว อันหมายถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นนามธรรม คือ ใส่ความ ใส่โทษ เอาใจใส่ ใส่ใจรักใคร่ ใส่จริต เป็นต้น พระองค์ทรงเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้บ้านเมืองเกิดการพัฒนาให้ทันสมัยเทียมเทียมต่างประเทศ พระองค์ทรงให้ความสนพระทัยศึกษาด้านประวัติศาสตร์ ด้านวรรณคดี ด้านดาราศาสตร์ และปรัชญาศาสนา ภาษาต่างประเทศต่าง ๆ เป็นผลทำให้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ในด้านศาสนาพระองค์ก็ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่งด้วยพระองค์ทรงออกผนวชเป็นระยะเวลาถึง ๒๗ ปี พระองค์ทรงออกประกาศกำหนดไว้ว่า หากบุตรหลานผู้ใดถึงเกณฑ์บวชก็สมควรให้บวชได้ แต่หากมีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถบวชได้ก็สามารถอนุโลมให้ขยายเวลาให้สามารถบวชได้จนถึงอายุ ๒๔ ปี พระองค์ทรงได้ทำการปฏิรูปพระพุทธศาสนา โดยได้ทำการ ฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนและทำนุบำรุงทรงชักนำให้พระสงฆ์ปรพพฤติประฏบัติตนให้อยู่ในศีลสังวร ให้นิยมการประพฤติประติบัติตนอย่างเคร่งครัดตามหลักพระธรรมวินัยให้รู้จักใช้สติปัญญาในการพิเคราะห์พิจารณาอธิบายด้วยเหตุและผลอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย        

ด้านการปกครอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงปกครองชาติภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการเข้าเฝ้าโดยให้ราษฎรสามารถชมพระบารมีไม่ต้องปิดประตูบ้านเรือนเมื่อกระบวนเสด็จผ่านเหมือนอย่างแต่ก่อน การเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้ราษฎรมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้นและให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิมเพราะด้วยพระองค์ทรงออกผนวชเป็นเวลาถึง ๒๗ ปี ทำให้พระองค์ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรว่ามีความเป็นอยู่อย่างยากลำบากซึ่งพระองค์ทรงมองว่าเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องคอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร

ด้านเศรษฐกิจสังคม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงการค้าขายกับชาวต่างชาติ ประเทศไทยได้ตกลงทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษ ในปี พ.ศ 2398 ทำให้ระบบการค้าแบบผูกขาด โดยพระคลังสินค้าถูกยกเลิก ยกเลิกพระคลังสินค้า ยกเลิกสินค้าต้องห้าม เปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษีจากเรือสินค้าใหม่ ถือว่าเป็นการปฏิวัติประเพณีการค้าขายของไทยครั้งใหญ่สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่เกี่ยวกับการค้ามีดังนี้  ลูกค้าจะซื้อสินค้าส่งออกนอกประเทศได้ทุกชนิด โดยเสรีแต่รัฐบาลไทยสามารถสงวนสิทธิที่จะห้ามส่งสินค้าออกนอกประเทศได้เมื่อเกิดทุพภิกขภัยพ่อค้าจะนำสินค้าเข้ามาขายในกรุงได้ทุกชนิดนอกจากอาวุธยุทธภัณฑ์ต้องขายให้กับรัฐบาลเท่านั้นและฝิ่นต้องขายให้กับเจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้นพ่อค้าและลูกค้าสามารถติดต่อซื้อขายกันได้โดยเสรี ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือเปลี่ยนมาเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าขาเข้าร้อยละ ๓

ด้านวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงศึกษาความรู้ทางด้านโหราศาสตร์และดาราศาสตร์พระองค์ได้คำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำล่วงหน้า ๒ ปี เหตุการณ์นี้กิดขึ้นที่ตำบล หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการเสด็จครั้งนี้พระองค์ทรงเชิญ เซอร์ แอร์รี่ ออร์ด  เจ้าเมืองสิงคโปร์ คณะทูตานุทูต นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส แขกต่างประเทศอื่นที่ทรงเชิญมา และข้าราชบริพารไทย ทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตรงตามที่พระองค์ทรงคำนวณไว้ทุกประการ พระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่เลื่องลือ ขจรขจายปวงชนชาวไทยถวายพระราชสมัญญานามทรงเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" 

จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่กล่าวมาผู้เขียนอนุมานได้ว่าจากการค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๑ นั้นส่งผลให้พระองค์ได้ทรงทำการศึกษาด้านต่าง ๆ ตามที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงได้บันทึกไว้รอบลึก พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับด้านศาสนาและการศึกษาสมัยใหม่ซึ่งเป็นผลส่งให้ประเทศไทยเกิดความเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน

รายการอ้างอิง

http://www.info.ru.ac.th/province/sukhotai/srj5.htm

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พุทธศักราช 2405-2411, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร. (2541). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ.

https://www.silpa-mag.com/history/article_81428

http://legacy.orst.go.th/wp-content/uploads/royin-ebook/247/FileUpload/557_8152.pdf

https://www.silpa-mag.com/history/article_32506

https://sarunpongtoppsite.wordpress.com/2013/09/17/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%A3-4/

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1610

http://www.sci.buu.ac.th/sciweek36/index.php/exhibition/exhibition-commemoration/exhibition-kingofscience

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...