พลาสติกชีวภาพ
Published: 7 May 2024
35 views

พลาสติก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตนเองพลาสติกจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกได้ออกนโยบายรณรงค์ให้ผู้คนลดการใช้พลาสติกและเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยโลกลดภาวะโลกร้อนและลดการเกิดมลพิษจากพลาสติกต่าง ๆ 

ไบโอพลาสติกหรือที่เรียกว่าพลาสติกชีวภาพ (Compostable Plastic) คือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้เป็นพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรและเปลือกของผลไม้ยกตัวอย่างเช่น อโวคาโด ผลไม้ที่ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตไบโอพลาสติกด้วยเมล็ดของอโวคาโดมีองค์ประกอบหลักเป็นคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตกรดแลคติกที่จะนำมาผ่านกระบวนการพอลิเมอร์ไรเซซันเพื่อให้ได้พอลิแลคติกแอซิดซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายได้หรือที่เรียกกันว่า พลาสติกชีวภาพ นักวิจัยพบว่าในเมล็ดอโวคาโดมีลักษณะเป็น ไบโอโพลิเมอร์ที่เหมือนกับข้าวโพดที่ใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ การนำเมล็ดอโวคาโดมาแปลงเป็นพลาสติกชีวภาพมีคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นคือมีความแข็งแรงและสามารถย่อยสลายได้ภายใน 240 วัน นอกจากนั้นยังมีผลไม้ชนิดอื่นที่สามารถนำมาผลิตเป็นไบโอพลาสติกได้อีก เช่น เปลือกส้ม เปลือกทุเรียน เปลือกมะเขือเทศ เปลือกกล้วยไข่ เป็นต้น 

ในปัจจุบันผู้ประกอบการหลาย ๆ ธุรกิจได้เริ่มหันมาสนใจการผลิตบรรจุพันธ์ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพเพราะด้วยปัจจุบันกระแสการรณรงค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มได้รับความนิยมขึ้นในสังคมผู้ประกอบการจึงเลือกใช้พลาสติกชีวภาพมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ตัวอย่างเช่น ถ้วยหรือถาด ถุงพลาสติก แคปซูลกาแฟ บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารแบบยืดหยุ่น เป็นต้น 

พลาสติกชีวภาพเป็นสิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรการผลิตกระถางต้นไม้พลาสติกจากพลาสติกชีวภาพ ด้านการแพทย์ สามารถนำมาผลิตเป็นผิวหนังเทียมหรือไหมละลาย ในด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าก็สามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องดนตรีได้ เช่น คีย์บอร์ด นอกจากพลาสติกชีวภาพจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายแล้วพลาสติกชีวภาพยังมีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ง่ายเนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่ได้จากธรรมชาติและง่ายต่อการนำกลับมารีไซเคิลอีกด้วย 

การผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยทุกคนต่างตระหนักถึงการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนต่างเริ่มมีนโยบายที่ออกมามาสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพและเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งเกษตรกรรมที่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพจึงเกิดการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตรกรรมที่มีมาอยู่แต่เดิมให้เกิดการสร้างมูลค่ามากยิ่งขึ้น

พลาสติกชีวภาพนอกจากจะสามารถทำการผลิตได้โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วในกระบวนการย่อยสลายของพลาสติกชีวภาพก็ยังคงไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยกระบวนการย่อยสลายพลาสติกชีวภาพสามารถแบ่งออกเป็น 5 วิธี ได้แก่ 1.การย่อยสลายโดยแสงแดด ในพลาสติกชีวภาพหากมีการเติมแต่งสารที่ทำให้เกิดความไวต่อแสงจะส่งผลให้พลาสติกเกิดการแตกหักได้อย่างง่ายดายหากเจอรังสียูวีซึ่งส่งผลให้กระบวนการย่อยสลายของพลาสติกชีวภาพเกิดความรวดเร็วและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 2.การย่อยสลายทางกล การย่อยสลายทางกลเป็นการย่อยสลายโดยใช้แรงทำให้พลาสติกเกิดเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ เพื่อให้สามารถเกิดการสลายตัวได้อย่างรวดเร็ว 3. การย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชชัน เป็นการย่อยสลายโดยการผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชัน คือการเติมออกซิเจนลงในโมเลกุลของพอลิเมอร์ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแตกหักอย่างรวดเร็วทำให้การย่อยสลายของพลาสติกสามารถย่อยสลายได้อย่างง่ายดาย 4. การย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส การย่อยสลายโดยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสสามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือใช้คะตะลิสต์และไม่ใช้คะตะลิสต์ 2 ประเภทนี้จัดเป็นการย่อยสลายทางชีวภาพที่จะไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ วิธีสุดท้ายคือการย่อยสลายทางชีวภาพเป็นการย่อยสลายพลาสติกทางชีวภาพโดยอาศัยสภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือ เช่นความร้อนจากแสงหรือรังสียูวี จุลินทรีย์ ออกซิเจนและกรดที่พบตามธรรมชาติ เป็นต้น

ในงานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ทำการพัฒนาพลาสติกชีวภาพจากเปลือกทุเรียนสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นวิธีการจัดการขยะให้มีประโยชน์และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเปลือกทุเรียนหากจะปล่อยให้เกิดการย่อยสลายเองตามธรรมติจะเกิดปัญหาเรื่องกลิ่นที่จะส่งผลรบกวน การนำเปลือกทุเรียนมาดัดแปลงแปรสภาพให้เป็นพลาสติกชีวภาพนี้จึงเป็นประโยชน์และวิธีการจัดการขยะอีกวิธีหนึ่งและยังสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้อีกด้วย นักศึกษาที่ทำวิจัยเรื่องพลาสติกจากเปลือกทุเรียนนี้ได้กล่าวถึงกระบวนการผลิตไว้ว่าขั้นตอนแรกเริ่มจากการนำเปลือกทุเรียนที่ได้มาทำความสะอาดแล้วจึงนำไปหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำไปตากแดดให้แห้งแล้วจึงมาเข้าสู่ขั้นตอนการสกัดเยื่อโดยการต้มในหม้ออัดความดันต่อจากนั้นจึงนำมาปั่นแล้วบีบน้ำออกและฟอกด้วยสารเคมีก่อนนำไปบดให้ละเอียดและขึ้นรูปแผ่นฟิล์ม พลาสติกจากเปลือกทุเรียนนี้มีคุณสมบัติในการดูดซึมความชื้นได้ดีเหมาะแก่การใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ละลายน้ำได้ เช่น ยาฆ่าแมลง เป็นต้น 

การส่งเสริมให้ผู้คนหันมาเลือกใช้พลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติกนี้นับว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมกลับมาเกิดความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและภาวะปัญหามลพิษทางอากาศหรือแม้กระทั่งภาวะโลกร้อนที่มนุษย์โลกกำลังประสบกันอยู่ก็จะลดลง ปัญหาการจัดการขยะต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกันการนำเปลือกผลไม้หรือพืชต่าง ๆ มาแปรสภาพให้เป็นพลาสติกชีวภาพจะส่งผลให้ปัญหาขยะลดลงซึ่งนับว่าเป็นการนำขยะที่ทิ้งแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าและลดปัญหาการจัดการขยะได้อีกด้วย

รายการอ้างอิง

https://petromat.org/home/bioplastic-fruit/

https://www.allprintok.co.th/bioplastic/

https://www.expressplaspack.com/th/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80/

https://www.merickpolymers.com/17951266/bioplastic-%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E 

https://www.laplastic.biz/bioplastics.html

http://lib3.dss.go.th/fulltext/techno_file/CF66/CF66(A5).pdf

Categories

Hashtags

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...