ความเป็นพหุสังคมอยุธยากับวัฒนธรรมอาหารเพื่อการท่องเที่ยว ตามรอยเสด็จประพาสต้นพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
Published: 8 May 2024
8 views

พหุสังคมอยุธยา

การที่ต่างชาติเข้ามาติดต่อทำการค้าการทูตกับกรุงศรีอยุธยา หรือ การเข้ามาขอพักด้วยภัยสงคราม ได้ส่งผลให้อยุธยามีลักษณะ “พหุสังคม” มีการตั้งถิ่นฐานชุมชนทั้งในและนอกเกาะเมืองอยุธยาโดยส่วนมากมักตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตอนใต้ของเกาะเมืองริมแม่น้ำเพื่อเอื้อต่อการค้าขายชาวต่างชาติเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อเศรษฐกิจและการเมืองแต่ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตอาหารการกินของชาวพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

อาหารการกินในอดีต

ในสมัยอดีตชาวอยุธยามีลักษณะการกินที่เรียบง่ายใช้วัตถุดิบที่หาได้จากตามธรรมชาติ จนมีคำกล่าวกันว่า “กินข้าวกินปลา” ซึ่งเป็นคำที่อธิบายลักษณะทางธรรมชาติกับการกินได้ดี คือ การกินตามน้ำ ซึ่งหมายถึงการนำวัตถุดิบที่หาได้ตามแม่น้ำลำคลองมาปรุงกินกับข้าว หรือที่เราเรียกว่า “กับข้าวกับปลา” อิทธิพลการกินอาหารของชาวอยุธยาที่ได้รับมาจากต่างชาติ คือ การปรุงอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวจีนโดยใช้กระทะเป็นอุปกรณ์ในการปรุงอาหาร การปรุงอาหารประเภทต้มจืด แกงจืด การผัด การทอดด้วยกระทะเหล็กหูหิ้วสองด้านถือเป็นรูปแบบการปรุงอาหารจากจีน รวมถึงการกินอาหารประเภทบะหมี่ก็ล้วนเป็นอิทธิพลจากจีนทั้งสิ้น และนอกจากนั้นชาวอยุธยายังมีการใช้เครื่องเทศในการปรุงอาหารต่าง ๆ ซึ่งเครื่องเทศเหล่านี้เป็นอิทธิพลการปรุงอาหารอย่างแขก ทั้งที่เป็นแขกเปอร์เซีย แขกมลายู ชาวอยุธยามักนำเครื่องเทศมาแกงกับกะทิซึ่งเป็นของดั้งเดิมของคนไทย สิ่งนี้จึงเป็นลักษณะอาหารที่เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมอาหารระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติอย่างกลมกลืน ถือว่าเป็นตัวอย่างของความเป็นลูกผสมทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดผ่านการปรุงอาหาร วัฒนธรรมอาหารของไทยยังคงส่งต่อสืบสานผ่านวัตถุดิบที่ชาวต่างชาตินำเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา อย่างเช่น การบริโภคพริก การบริโภคผักหลากหลายชนิด การปรุงด้วยเครื่องเทศ การรับประทานอาหารประเภทเส้น การผัด การอบ นอกจากนั้นยังมีขนมหวานที่ได้รับอิทธิพลจากชาวต่างชาติ อย่างเช่นขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหม้อแกงที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวโปรตุเกส สิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อจนกลืนกลายเป็นวัฒนธรรมอาหารของไทย และก็ยังคงไว้ซึ่งความเรียบง่าย ผลผลิตที่หาได้จากท้องถิ่น และยังคงส่งต่อวัฒนธรรมการกินเหล่านี้อย่างไม่เสื่อมคลาย

วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นอยุธยาและพระกระยาหารระหว่างเสด็จประพาสต้น

พระกายาหารระหว่างเสด็จประพาสต้น เน้นใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นระหว่างเสด็จ ปรุงอย่างเรียบง่ายบางครั้งก็เสด็จไปเสวยที่เรือนชาวบ้าน เสวยอาหารท้องถิ่นที่ชาวบ้านปรุงเอง อย่างเช่น การเสวยผัดผักกาด ผัดหมู น้ำพริก ส่วนอาหารที่ทรงโปรดคือการเสวยแกงไก่และหลนปลาร้า ความน่าสนใจของการเสวยพระกระยาหารระหว่างเสด็ประพาสต้นนี้คือความเรียบง่ายที่ทรงเสวยวัตถุดิบที่หาได้ตามท้องถิ่น ซึ่งแสดงให้ทราบถึงรสนิยมในการบริโภคอาหารไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรเมนูอาหารที่ได้รับความนิยมก็ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก อีกประการหนึ่งอยุธยาเป็นอดีตราชธานีเก่า ได้ส่งต่อมรดกวัฒนธรรมอาหารมาอย่างต่อเนื่องบนรากฐานของความอุดมสมบูรณ์ ภูมิปัญญา ความสมดุลของรสชาติ เน้นการปรุงอาหารจากวัตถุดิบตามฤดูกาลซึ่งแนวคิดเหล่านี้ยังคงสืบต่อกันมากว่า 100 ปี อย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือยุธยา

แนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวผ่านวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นอยุธยาตามรอยเสด็จประพาสต้น

การพัฒนาการท่องเที่ยวผ่านวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นตามรอยเสด็จประพาสต้นวางอยู่บนแนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาการท่องเที่ยวดังกล่าวตั้งอยู่บนความต้องการของนักท่องเที่ยวและชุมชน นำไปสู่การจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งคือการเล่าเรื่องอาหารพื้นถิ่นของอยุธยาผ่านประวัติศาสตร์แล้วเชื่อมโยงกับการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังช่วยเพิ่มเรื่องราวให้กับเมนูอาหาร และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จประพาสต้นได้ความเป็นพหุสังคมของอยุธยาส่งผลต่อวัฒนธรรมอาหารของไทย ยกตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องเทศในการปรุงอาหารซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากอินเดีย การใช้กระทะหูหิ้วที่เป็นอิทธิพลจากจีน การทำขนมหวานที่เป็นอิทธิพลจากโปรตุเกสถึงแม้ในปัจจุบันนี้จะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยแต่โดยภาพรวมยังเป็นการอธิบายรากฐานทางสังคมผ่านวัฒนธรรมอาหารของไทย การเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ไม่เพียงแต่จะบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำในพื้นที่พระนครศรีอยุธยาแต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่โอกาสในการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ มีโบราณสถานที่สำคัญต่าง ๆ การร้อยเรียงสิ่งเหล่านี้สู่การท่องเที่ยวในมุมที่ต่างออกไปก็ยิ่งจะกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจแก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

อาหารพื้นบ้านและอาหารในวัฒนธรรมประชานิยม

อาหารพื้นบ้านไทยเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในเรื่องเล่า วรรณกรรม วรรณคดี สถานที่ท่องเที่ยวและประเพณีต่าง ๆ อาหารพื้นบ้านไทยและอาหารในวัฒนธรรมประชานิยม ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่าควรลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาหารแต่ละท้องถิ่นที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวละครในวรรณคดีและลงพื้นที่เก็บข้อมูลอาหารตามสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการจัดประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ และนำอาหารพื้นบ้านที่ได้จากการเก็บข้อมูลมาสร้างสรรค์ให้สัมพันธ์กับตัวละครวรรณคดีหรือประเพณีต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับความสนใจของคนในสังคมยุคปัจจุบันซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของวัฒนธรรมประชานิยมซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามกระแสกลไกของตลาดมีการผลิตซ้ำและสร้างใหม่เพื่อให้ตอบสนองต่อผู้บริโภคในแต่ละยุคแต่ละสมัย ยกตัวอย่างอาหารในวัฒนธรรมประชานิยม เช่น การกินอาหารตามรอยทางเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการกินอาหารตามกระแสนิยมและการกินอาหารพื้นถิ่นตามสถานที่ท่องเที่ยวที่มีบุคคลสำคัญเคยมากิน ตัวอย่างอาหารที่เกิดจากการนำเรื่องราวของวรรณคดีมาสร้างสรรค์เป็นเอกลักษณ์ดึงดูดความสนใจ เช่น การตั้งชื่อร้านและการตั้งชื่อเมนู อย่าง รามเกียร์คอฟฟี่ หรือ 7 สูตรเครื่องดื่มรามเกียรติ์ที่ลงกาคาเฟ่ การตั้งชื่อร้านกาแฟว่าเวตาล ซึ่งเป็นตัวละครในวรรณคดีทั้งสิ้น ก็เป็นจุดสนใจของคนในยุคสังคมปัจจุบันที่นิยมท่องเที่ยวตามคาเฟ่ต่าง ๆ ได้รับรู้เกี่ยวกับการนำตัวละครในวัฒนธรรมไทยมาผสมผสานกับอาหารหรือเครื่องดื่มของวัฒนธรรมต่างชาติ


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...