คติความเชื่อและการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจ
Published: 28 May 2024
3 views

“คติความเชื่อ” จัดว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยทุกยุคที่สมัยไม่ว่าจะเป็นการเกิด การป่วยหรือแม้กระทั่งการตายก็ต่างมีคติความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น การเกิดตั้งแต่การที่ผู้หญิงตั้งครรภ์คนไทยก็มีความเชื่อต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของมารดาและทารก เช่นความเชื่อเกี่ยวกับการป้องกันสิ่งชั่วร้ายโดยคนไทยสมัยก่อนมักจะให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นำ “ตะกรุดพิสมร” มาคล้องข้อมือไว้จนกว่าจะคลอดเพราะมีความเชื่อว่าตระกรุดพิสมรมีพุทธคุณที่จะสามารถป้องกันสัมภเวสีผีร้ายที่จะมาทำร้ายมารดาและทารกในครรภ์ได้ ซึ่งแม้แต่ในบริบทสังคมปัจจุบันเองก็ยังมีความเชื่อลักษณะนี้อยู่แต่ต่างกันเพียงการเลือกใช้วัตถุในการป้องกัน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์สมัยนี้นิยมนำเข็มกลัดมาติดที่เสื้อผ้าบริเวณหน้าท้องเพราะมีความเชื่อว่าเข็มกลัดจะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่จะเกิดกับตนและทารกได้

 การรักษาการเจ็บป่วย คนไทยก็มีคติความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยพิธีกรรม ยกตัวอย่างเช่น การรักษาด้วยหมอพื้นบ้านที่จะต้องมีผู้ประกอบพิธีกรรมในการรักษาให้ผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มาทำการรักษากับหมอพื้นบ้านหรือหมอธรรมมักจะมีความเชื่อว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับตนนี้เกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าจึงต้องพึ่งพาหมอพื้นบ้านหรือหมอธรรมในการบริกรรมคาถาหรือเวทมนตร์เพื่อช่วยให้ตนหายป่วย คติความเชื่อลักษณะนี้ถูกสั่งสมและส่งต่อกันมาจนถึงสังคมปัจจุบัน หากสังเกตจะเห็นได้ว่าในสังคมปัจจุบันเมื่อผู้คนเกิดการเจ็บป่วยมักจะนิยมไปทำบุญเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เมื่อทำบุญก็อธิษฐานให้โรคภัยไข้เจ็บเกิดความทุเลาลง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าคนไทยมีคติความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรคโดยไม่ได้พึ่งพาแพทย์แผนปัจจุบันหรือหลักการทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวแต่ยังมีการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะสามารถช่วยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

คติความเชื่อด้านความตาย ในบริบทสังคมไทยตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบันผู้คนต่างมีความเชื่อในเรื่องของโลกหลังความตาย ความเชื่อเรื่องวิญญาณและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตาย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธผู้คนโดยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนามีความเชื่อเกี่ยวกับนรกและสวรรค์มีความเชื่อเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษและโลกหลังวิญญาณมาตั้งแต่อดีตกาล

ความเชื่อถือว่าสิทธิส่วนบุคคลที่จะเชื่อหรือนับถือสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อในเรื่องศาสนา การนับถือผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ ในสังคมไทยความเชื่อเป็นสิ่งที่สามารถเป็นแรงสำคัญชนิดหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น  กระแสความเชื่อเรื่องท้าวเวสสุวรรณ เป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมไทยจนกลายเป็นอุตสาหกรรมความเชื่อที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ผู้ที่ศรัทธาต่างมีความเชื่อเกี่ยวกับท้าวเวสสุวรรณว่าหากบูชาแล้วจะส่งผลให้เกิดความ “ร่ำรวย” เพราะผู้คนเชื่อกันว่าท้าวเวสสุวรรณเป็นเทพที่ถือครองกุญแจพระคลังแห่งสวรรค์จึงเป็นเทพที่จะสามารถช่วยบันดาลความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ผู้ที่บูชาได้ ในช่วงที่กระแสสังคมให้ความนิยมแก่การบูชาท้าวเวสสุวรรณมีการเกิดขึ้นของสถานที่บูชาท้าวเวสสุวรรณ เช่น วัดจุฬามณี ที่จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมไปกราบไหว้บูชาท้าวเวสสุวรรณมากเป็นอันดับต้น ๆ ในช่วงกระแสนิยมส่งผลให้เกิดธุรกิจทางความเชื่อขึ้นไม่ว่าจะเป็นการบูชาวัตถุมงคล เช่น ผ้ายัตน์ท้าวเวสสุวรรณ กำไลข้อมือท้าวเวสสุวรรณและเหรียญท้าวเวสสุวรรณ การบูชาเพื่อเสริมดวงชะตา การสักลายมือ หรือแม้กระทั่งแผ่นภาพท้าวเวสสุวรรณที่มีออกมาจำหน่ายให้ให้ผู้คนได้เช่าบูชากัน สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นธุรกิจทางความเชื่อที่ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ให้กับทางวัดและสร้างรายได้ให้แก่วัดและผู้จัดทำวัตถุมงคลต่าง ๆ

เห็นได้ว่าแม้ในปัจจุบันเราจะดำเนินชีวิตอยู่ในยุคที่วิทยาศาสตร์และการศึกษาเข้าถึงได้แต่ผู้คนในสังคมก็ยังมีคติความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งที่มองไม่เห็น ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคติความเชื่อที่มีการส่งต่อกันมาจากอดีตสะท้อนให้เห็นว่าแม้วิทยาศาสตร์และการศึกษาจะพัฒนามากขึ้นเพียงใดแต่คติความเชื่อก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นที่พึ่งทางใจให้แก่ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์หากมนุษย์พบเจอปัญหาที่ตนไม่สามารถตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาได้ มนุษย์ก็มักใช้ความเชื่อในเรื่องของบาปบุญคุณโทษเข้ามาทำให้ตนเองเกิดความสบายใจ ความเชื่อ จึงกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงระบบความคิดของผู้คนในสังคมและเป็นสิ่งที่สามารถช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านธุรกิจความเชื่อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน

https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/407






Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...