แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแห่งอนาคต
Published: 21 April 2025
1 views


แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแห่งอนาคต


นช่วงที่ผ่านมา โลกของเราได้เผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศ หรือการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาอย่างยาวนาน หนึ่งในภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญต่อการปล่อยมลพิษคือภาคการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสารพิษอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“รถยนต์ไฟฟ้า” (Electric Vehicle หรือ EV) ได้กลายเป็นนวัตกรรมสำคัญที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยมุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือน้ำ นอกจากการขับเคลื่อนที่เงียบ ปลอดมลพิษ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งานระยะยาวแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ายังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

โดยหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ “แบตเตอรี่” ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บพลังงานหลักในการขับเคลื่อนรถยนต์ ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจหรือมีแนวโน้มจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต 

ประเภทของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Lamina Films, 2566)

แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ามีหลายประเภทซึ่งแต่ละชนิดมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดังนี้


1.     แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium Ion Battery / Li-ion)

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเป็นเทคโนโลยีที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน ถูกคิดค้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และใช้อย่างแพร่หลายในโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพา และรถยนต์ไฟฟ้า

จุดเด่น:

  • เก็บพลังงานได้มาก (Energy Density สูง)
  • รองรับการชาร์จเร็ว (Fast Charge)
  • ไม่มีปัญหา Memory Effect
  • อายุการใช้งานยาวนาน (500-10,000 รอบการชาร์จ)

ข้อจำกัด:

  • ต้นทุนการผลิตสูง
  • ประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ

 

2.     แบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid State Battery) 

แบตเตอรี่โซลิดสเตตเป็นการพัฒนาต่อยอดจากลิเธียมไอออน โดยเปลี่ยนอิเล็กโทรไลต์จากของเหลวให้เป็นของแข็ง ทำให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงขึ้น

จุดเด่น:

  • ความจุพลังงานสูงกว่าลิเธียมไอออน 10 เท่า
  • โอกาสติดไฟต่ำเนื่องจากไม่มีอิเล็กโทรไลต์เหลว
  • ความปลอดภัยสูง

ข้อจำกัด:

  • ต้นทุนสูงกว่าลิเธียมไอออน 8 เท่า
  • เปราะบางต่อการกระแทก
  • ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา
  • คาดว่าจะพร้อมใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ประมาณปี 2030


 3.     แบตเตอรี่โซเดียมไอออน (Sodium Ion Battery / Na-Ion Battery) 

แบตเตอรี่โซเดียมไอออนหรือ “แบตเกลือ” ใช้แร่ธาตุที่หาง่าย ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น

จุดเด่น:

  • ต้นทุนต่ำกว่าลิเธียมไอออน 3-4 เท่า
  • ทนทานต่อสภาพอุณหภูมิทั้งสูงและต่ำได้ดี
  • ชาร์จเร็ว (0-80% ใน 20 นาที)
  • อายุการใช้งานยาวนาน (8,000-10,000 รอบการชาร์จ)

ข้อจำกัด:

  • ให้พลังงานน้อยกว่าลิเธียมไอออน
  • น้ำหนักมากกว่าลิเธียมไอออน

ความคืบหน้า: BYD กำลังเตรียมนำมาใช้กับรถยนต์รุ่น Seagull โดยมุ่งเน้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระดับกลางถึงล่าง


4.     แบตเตอรี่ตัวเก็บประจุไฟฟ้า (Supercapacitors) 


ซูเปอร์คาปาซิเตอร์หรือตัวเก็บประจุไฟฟ้าความจุสูง ไม่ใช่แบตเตอรี่โดยตรง แต่สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้และมีคุณสมบัติพิเศษ มีประสิทธิภาพการเก็บไฟฟ้าได้สูงกว่าแบตเตอรี่อิเล็กโทรไลต์แบบเหลวทั่วไป ทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน

จุดเด่น:

  • ชาร์จและคายประจุได้เร็วกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป 1,000 เท่า
  • อายุการใช้งานยาวนาน (100,000-1,000,000 รอบการชาร์จ)
  • ทนทานสูง

ข้อจำกัด:

  • เก็บพลังงานได้น้อยกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปในขนาดเดียวกัน
  • คายประจุเร็ว (10-20% ต่อวัน) เมื่อไม่ได้ใช้งาน
  • การผลิตซับซ้อนและมีราคาสูง

การใช้งาน: นิยมใช้ในรถยนต์ไฮบริดระดับสูง เช่น Lamborghini Aventador เพื่อช่วยในการเร่งความเร็ว


5.     แบตเตอรี่ตะกั่วกรด (Lead Acid Battery) 


แบตเตอรี่ตะกั่วกรดเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ที่ยังคงใช้งานอย่างแพร่หลาย นับตั้งแต่ยุครถยนต์เครื่องสันดาป เพื่อใช้การจุดสตาร์ทเครื่องยนต์ จ่ายกระแสไฟให้กับระบบแอร์ วิทยุ หรือห้องโดยสาร

จุดเด่น:

  • ราคาไม่แพง
  • จ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงในระยะเวลาสั้นๆ

ข้อจำกัด:

  • อายุการใช้งานสั้น
  • ประสิทธิภาพลดลงในสภาวะอุณหภูมิต่ำ
  • ค่าบำรุงรักษาในระยะยาวสูง

การใช้งาน: เป็นแบตเตอรี่สำรองในรถยนต์ไฟฟ้าประเภท PHEV และ HEV


6.     แบตเตอรี่นิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ (Nickel-Metal Hydride Battery / Ni-MH)

หนึ่งในรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่นิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์ (Toyota Prius 2004)


แบตเตอรี่นิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ถูกคิดค้นในช่วงทศวรรษที่ 70 และได้รับการพัฒนาจนนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และรถยนต์ Hybrid (HEV หรือ PHEV) ที่ใช้ทั้งพลังงานไฟฟ้า / พลังงานน้ำมัน นิยมใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้

จุดเด่น:

  • อายุการใช้งานยาวนาน
  • ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดี

ข้อจำกัด:

  • ต้นทุนการผลิตสูงเนื่องจากใช้โลหะไทเทเนียม
  • เก็บพลังงานได้น้อยกว่าลิเธียมไอออน
  • คายประจุสูงแม้ไม่ได้ใช้งาน

การใช้งาน: พบในรถยนต์ไฮบริด เช่น Toyota Corolla Hybrid, Toyota Camry Hybrid และ Honda Accord Hybrid


7.     แบตเตอรี่นิเกิลแคดเมียม (Nickel-Cadmium Battery / Ni-Cd) 

แบตเตอรี่นิเกิลแคดเมียมเคยได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1990 สามารถนำมาอัดไฟใช้ซ้ำได้ ส่วนใหญ่จะนำมาใช้กับโทรศัพท์มือถือ, อุปกรณ์ไฟฟ้า, ถ่านแบบก้อน แต่ปัจจุบันถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีอื่น

จุดเด่น:

  • เก็บกระแสไฟฟ้าได้มาก
  • มีรอบการชาร์จ 500-1,000 ครั้ง

ข้อจำกัด:

  • มีปัญหา Memory Effect ทำให้ต้องใช้พลังงานให้หมดก่อนชาร์จใหม่
  • ปัจจุบัน Ni-Cd เป็นแบตเตอรี่ต้องห้าม เนื่องจากมีความเป็นพิษจากสารแคดเมียมรั่วไหลระหว่างขั้นตอนการผลิต

สถานะปัจจุบัน: เป็นแบตเตอรี่ต้องห้ามเนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม


ข้อดีและข้อเสียของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า


ข้อดี

1. ประสิทธิภาพด้านพลังงาน

  • แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพราะค่าไฟฟ้าถูกกว่าค่าน้ำมัน
  • พลังงานไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงในการขับเคลื่อนรถยนต์เมื่อเทียบกับพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง
  • เมื่อใช้งานในระยะยาว คุ้มทุนกว่าการใช้รถเครื่องยนต์สันดาป (เฉพาะเมื่อไม่ได้ชาร์จแบบ DC เป็นประจำ)

2. มิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  • แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศโดยตรง
  • ไม่มีการปล่อยไอเสียขณะขับขี่ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3. ประสิทธิภาพการทำงาน

  • แบตเตอรี่ให้กำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้เร่งความเร็วได้ดีกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
  • ไม่มีเสียงรบกวนจากการทำงานของแบตเตอรี่ทำให้การขับขี่เงียบกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป
  • มอเตอร์ไฟฟ้าให้แรงบิดทันทีที่เหยียบคันเร่ง ไม่ต้องรอรอบเครื่องยนต์

4. พัฒนาการของเทคโนโลยี

  • แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ขับขี่ได้ระยะทางไกลขึ้น
  • รถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นสามารถขับขี่ได้ไกลถึง 400-800 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง
  • เทคโนโลยีแบตเตอรี่มีแนวโน้มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อเสีย

1. ต้นทุนสูง

  • แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสูงตามไปด้วย
  • ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่เมื่อหมดอายุการใช้งานมีราคาสูง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาแพงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

2. ข้อจำกัดในการชาร์จ

  • แบตเตอรี่ใช้เวลาในการชาร์จนาน โดยเฉพาะการชาร์จแบบ AC ที่อาจใช้เวลา 4-12 ชั่วโมง
  • จุดชาร์จรถไฟฟ้ายังมีจำกัดในหลายพื้นที่
  • การชาร์จแบบ DC (เร็ว) มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและอาจส่งผลต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่ในระยะยาว

3. ข้อจำกัดด้านระยะทาง

  • ระยะทางที่ขับได้ถูกจำกัดด้วยความจุของแบตเตอรี่
  • แม้จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่สามารถเทียบระยะทางกับรถน้ำมันได้ในราคาที่ใกล้เคียงกัน
  • การเพิ่มความจุแบตเตอรี่ส่งผลให้ต้นทุนและน้ำหนักรถเพิ่มขึ้น

4. ข้อจำกัดด้านอุณหภูมิ

  • ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่อาจลดลงในสภาพอากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป
  • อาจเกิดความเสียหายหากใช้งานในสภาพอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน

5. ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

  • แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสเกิดไฟไหม้ได้ แม้จะมีโอกาสน้อยมาก
  • ความเสี่ยงอาจเกิดจากการชาร์จไฟเกิน การใช้สายไฟที่ชำรุด หรืออุบัติเหตุรุนแรง
  • การดับไฟในกรณีแบตเตอรี่ไฟฟ้าติดไฟทำได้ยากกว่าไฟทั่วไป

6. ข้อจำกัดในการใช้งาน

  • เหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่จอดรถภายในบ้าน สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟ
  • มูลค่าเมื่อขายต่ออาจลดลงเร็วกว่ารถสันดาป เนื่องจากสภาพแบตเตอรี่ที่เสื่อมลงตามอายุการใช้งาน
  • อู่ซ่อมที่มีความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ายังมีจำนวนน้อย



ในช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ที่รถยนต์ไฟฟ้าเกิดไฟไหม้จำนวนหลายครั้งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งสามารถแยกสาเหตุของอุบัติเหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าได้ ดังนี้ ไฟไหม้ขณะชาร์จ, ไฟไหม้ขณะขับรถ, ไฟไหม้ขณะจอดรถ และไฟไหม้หลังจากเกิดอุบัติเหตุ

    จากรูปแบบของการเกิดไฟไหม้ทั้ง 4 ประเภท สถาบันเทคโนโลยีแห่งปักกิ่งระบุว่า 38.5% ของอุบัติเหตุไฟไหม้ เกิดขึ้นขณะจอด และ 27.5% ของอุบัติเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นขณะที่รถกำลังชาร์จไฟ เมื่อแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากับการชาร์จ DC แบบเร็ว ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำมาก หากระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถอุ่นแบตเตอรี่ได้ แบตเตอรี่อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงลุกไหม้ และสาเหตุของเพลิงไหม้อีกอย่างคือการตกตะกอนของลิเธียมคาร์บอเนต และการก่อตัวของลิเธียมเดนไดรต์ในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต นอกจากนี้ 66% ของเหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้า เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศจีนมีอากาศร้อน ส่วนในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นมีตัวเลขลดลงที่ 34% (ไทยรัฐ ออนไลน์, 2565)


อายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า


โดยทั่วไปแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 8–15 ปี หรือประมาณ 150,000–300,000 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับประเภทของแบตเตอรี่ การใช้งาน และการดูแลรักษา ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ได้แก่

อุณหภูมิ: ความร้อนเป็นศัตรูสำคัญของแบตเตอรี่ โดยเฉพาะเมื่อใช้งานในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงตลอดทั้งปี

รูปแบบการชาร์จ: การชาร์จเร็ว (Fast Charging) แม้จะสะดวก แต่หากใช้บ่อยครั้งอาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น

ระดับการคายประจุ: การใช้แบตเตอรี่จนหมดเกลี้ยงอยู่บ่อยครั้งไม่เป็นผลดี ควรหลีกเลี่ยงการคายประจุจนถึง 0%

การเก็บรักษา: หากไม่ได้ใช้รถยนต์เป็นระยะเวลานาน ควรชาร์จแบตเตอรี่ไว้ราว 50-60% และจอดในที่ร่ม


การจัดการและรีไซเคิลแบตเตอรี่

         เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน สิ่งที่ตามมาคือ “การจัดการของเสีย” ที่ต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูง ปัจจุบันหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่เพื่อแยกวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ลิเธียม นิกเกิล และโคบอลต์ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนในการใช้พลังงาน

         บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำหลายแห่ง เช่น BYD หรือ Tesla ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการรีไซเคิลอย่างจริงจัง โดยออกแบบแบตเตอรี่ให้สามารถแยกส่วนได้ง่าย และนำวัสดุสำคัญกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่รุ่นต่อไป

 

สถานการณ์การผลิตแบตเตอรี่ในระดับโลกและประเทศไทย

         การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประเทศจีนถือเป็นผู้นำในด้านนี้ ขณะที่ประเทศไทยเองก็เริ่มมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เช่น การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่โดยภาคเอกชน และการส่งเสริมจากภาครัฐผ่านนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

 

ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า

1.  ศึกษาเทคโนโลยีแบตเตอรี่: เข้าใจข้อดีข้อจำกัดของแต่ละชนิด

2. พิจารณาระยะทางวิ่ง: คำนวณตามการใช้งานจริงว่าเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่

3. สำรวจจุดชาร์จไฟ: โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือในอาคารชุดที่ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

4.  ศึกษาระยะเวลารับประกันแบตเตอรี่: โดยปกติผู้ผลิตมักรับประกันระยะเวลา 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร

5. ตรวจสอบบริการหลังการขายและศูนย์ซ่อม: เพื่อความมั่นใจในการดูแลในระยะยาว

         

การมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไม่เพียงแต่ช่วยให้เข้าใจวิธีการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังช่วยให้สามารถเลือกซื้อ เลือกใช้ และดูแลรักษารถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อผู้บริโภคเข้าใจตั้งแต่ชนิดของแบตเตอรี่ จุดแข็ง-จุดอ่อน วิธีดูแลรักษา และแนวโน้มเทคโนโลยีในอนาคต จะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง ดังนั้น “แบตเตอรี่” ไม่ใช่แค่เรื่องของเครื่องยนต์กลไก แต่คือเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน เทคโนโลยีสะอาด และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า



บรรณานุกรม

Autospinn. (2566, 29 พฤษภาคม). รู้จักธุรกิจแบตเตอรี่ EV จากจุดเริ่มต้นการผลิตสู่กระบวนการรีไซเคิล. จาก https://www.autospinn.com/2023/05/car-ev-battery-supply-chain-94891

Autospinn. (2567, 20 กรกฎาคม). แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท? มีอายุการใช้งานกี่ปี?. จาก https://www.autospinn.com/2024/07/type-of-battery-ev-car-138034

BYD BD Auto Group. (ม.ป.ป.). แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Car Battery) คืออะไร?. จาก https://www.bydbdautogroup.com/electric-car-battery-th/

BYD BD Auto Group. (ม.ป.ป.). ความแตกต่างระหว่างแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป. จาก https://www.bydbdautogroup.com/electric-car-vs-batteries-general/

 Lamina Films. (2566). อยากซื้อรถ EV ต้องเข้าใจ “แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” กันก่อน. จาก https://www.laminafilms.com/th/article/EV-car-battery

 Solar FX Thailand. (ม.ป.ป.). แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV Battery) คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง. จาก https://solarfxthailand.com/ev-car-battery/

 ThaiPR.net. (2567, 2 ตุลาคม). เครื่องสแกนรถ EV คืออะไร สำคัญอย่างไรกับการบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่. RYT9. จาก https://www.ryt9.com/s/prg/3552703

Thairath. (2565, 11 กรกฎาคม). รถยนต์ไฟฟ้ากับสาเหตุที่อาจทำให้เกิดไฟไหม้. ไทยรัฐออนไลน์. จาก https://www.thairath.co.th/news/auto/news/2375071

Categories

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...