หัวชาร์จรถไฟฟ้า: ความหลากหลายที่ผู้ใช้ควรรู้
ในอดีตที่ผ่านมาการเดินทางด้วยรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและใช้งานในชีวิตประจำวัน การเติมพลังงานให้กับรถยนต์เหล่านี้มีขั้นตอนที่เราทราบกันเป็นอย่างดีนั้นก็คือการเติมน้ำมัน ซึ่งรถยนต์แต่ละรุ่นนั้นจะมีการเติมชนิดของน้ำมันที่แตกต่างกันไปซึ่งกระบวนการในการเติมน้ำมันใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถใช้รถเดินทางต่อได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องการหาสถานีบริการน้ำมัน อย่างไรก็ตามเมื่อเทคโนโลยีและความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิต รถยนต์ไฟฟ้าจึงกลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความสนใจในยุคปัจจุบัน
การเติมพลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามีความแตกต่างไปจากการเติมพลังงานของรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปอย่างสิ้นเชิง รถยนต์ไฟฟ้านั้นเติมพลังงานโดยการชาร์จผ่านระบบไฟฟ้าที่เรียกว่าหัวชาร์จ และการเลือกหัวชาร์จที่เหมาะสมไม่เพียงแต่จะช่วยให้การชาร์จรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ยังส่งผลต่อการใช้งานและความปลอดภัยของรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย หัวชาร์จสำหรับรถไฟฟ้านั้นมีหลากหลายประเภทและมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค บทความนี้จะพาทุกคนไปสำรวจถึงความหลากหลายของหัวชาร์จ รวมถึงข้อดีและข้อจำกัดของหัวชาร์จแต่ละประเภท เพื่อให้ผู้ใช้งานรถไฟฟ้าสามารถเลือกใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
การชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ การชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charger) หรือที่เรียกว่า AC Charger และ การชาร์จแบบเร็ว (Quick/Fast Charge) หรือเรียกว่า DC Charger ซึ่งการชาร์จทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องของกระแสไฟฟ้าในวงจรที่ส่งผลต่อระบบการชาร์จไฟของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงระยะเวลาในการชาร์จอีกด้วย ซึ่งในแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้
ที่มา: https://www.evthai.com/article/เครื่องชาจ์รรถไฟฟ้า/
1) การชาร์จรถไฟฟ้าแบบธรรมดา (Normal Charge / AC Charger)
เป็นการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ หัวชาร์จแบบ AC หรือ "การชาร์จแบบธรรมดา" (Slow Charging) เป็นประเภทที่ใช้พลังงานไฟฟ้ากระแสสลับซึ่งต้องแปลงไฟฟ้าเป็นกระแสตรงผ่าน On-board Charger ที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเข้าสู่แบตเตอรี่ของรถยนต์ โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 4-16 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนการใช้งานนั้นใช้สำหรับชาร์จในบ้านหรือสถานีชาร์จที่ไม่ต้องการความเร็วสูง เหมาะสำหรับการชาร์จข้ามคืนในช่วงเวลาที่ไม่เร่งรีบและสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าข้ามคืนได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่เสื่อม ส่วนข้อจำกัดคือ ต้องใช้เวลาชาร์จที่ค่อนข้างนานและไม่เหมาะสำหรับการชาร์จในช่วงเวลาที่เร่งรีบ
2) การชาร์จแบบเร็ว (Quick / Fast Charge / DC Charger)
วิธีการชาร์จรถไฟฟ้าแบบ DC เป็นวิธีการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง ที่สามารถนำกระแสไฟฟ้าส่งตรงเข้าสู่แบตเตอรี่ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่าง On Board Charger ทำให้สามารถชาร์จไฟได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งความเร็วในการชาร์จสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ 80% ในเวลาประมาณ 20-30 นาที (ขึ้นอยู่กับรุ่นของรถและกำลังไฟฟ้า) เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่เร่งรีบเพราะใช้ระยะเวลาในการชาร์จสั้น ส่วนมากการใช้งานของวิธีการชาร์จดังกล่าวเครื่องชาร์จจะถูกติดตั้งไว้ที่จุดพักรถหรือสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งข้อจำกัดในการชาร์จก็คือ สถานีชาร์จในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมมากพอ ถ้าจะต้องเดินทางไกลต้องวางแผนการชาร์จให้ดี และตัวแบตเตอรี่รถยนต์อาจเสื่อมสภาพไว หากชาร์จด้วยหัวชาร์จรถไฟฟ้าแบบ DC บ่อยเกินไป
“การชาร์จแบบ AC Charger เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ จึงมีกระบวนการที่ทำให้ใช้เวลานานกว่าการชาร์จ DC Charger ที่เป็นไฟฟ้ากระแสตรงที่ชาร์จกระแสไฟเข้าสู่แบตเตอรี่ได้เลย”
ซึ่งเมื่อทุกคนทราบแล้วว่าระบบการชาร์จของรถไฟฟ้านั้นมีอะไรบ้างแล้ว ในส่วนต่อไปจะเป็นเรื่องของประเภทของหัวชาร์จ ซึ่งในแต่ละระบบการชาร์จนั้นจะมีหัวชาร์จที่แตกต่างกันไปสามารถแบ่งได้ทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้
ที่มา: https://www.facebook.com/EVmeTH
1) หัวชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charger)
เป็นการชาร์จที่สายชาร์จถูกออกแบบให้ต่อจากปลั๊กไฟฟ้าในบ้านโดยตรงข้อจำกัดคือมิเตอร์ไฟฟ้าต้องเป็น 15(45)A และต้องใช้เต้ารับที่รองรับกับตัวปลั๊กของหัวชาร์จโดยเฉพาะ ทำให้ใช้เวลาชาร์จนานกว่า 12-16 ชั่วโมงถึงจะเต็มความจุของแบตเตอรี่ หัวชาร์จรถไฟฟ้าแบบธรรมดามี 2 แบบ คือ
หัวชาร์จรถไฟฟ้า Type 1 นิยมใช้ในกลุ่มทวีปอเมริกาเหนือและประเทศญี่ปุ่น หัวต่อแบบ 5 Pin ใช้กระแสไฟฟ้า AC แบบ Single-Phase รองรับกระแสไฟฟ้า 32A/250V
หัวชาร์จรถไฟฟ้า Type 2 นิยมใช้ในกลุ่มทวีปยุโรปและประเทศในเอเชีย หัวต่อแบบ 7 Pin ใช้กระแสไฟฟ้า AC แบบ Single-Phase รองรับกระแสไฟฟ้า 70A/250V และ 3 Phase 63A/480V
2) หัวชาร์จแบบ Double Speed Charger หรือแบบ Wall Box
หัวชาร์จรถไฟฟ้า AC หรือกระแสสลับแบบ Double Speed Charger หรือการชาร์จจากเครื่อง Wall Box นิยมติดตั้งไว้ที่บ้านเป็นหลัก มีความปลอดภัยมากกว่าหัวชาร์จรถไฟฟ้า Normal Charger และใช้เวลาชาร์จน้อยกว่าเฉลี่ย 4-7 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับขนาดของ Wall Box และความจุแบตเตอรี่ โดยมีหัวชาร์จ 2 แบบคือ
เป็นหัวชาร์จ Type 1 ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มทวีปอเมริกาเหนือและประเทศญี่ปุ่น ใช้กระแสไฟฟ้า AC แบบ Single-Phase รองรับกระแสไฟฟ้า 16A, 40A และ 48A/240V
เป็นหัวชาร์จ Type 2 ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มทวีปยุโรปและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ใช้กระแสไฟฟ้า AC แบบ 3 Phase รองรับกระแสไฟฟ้า 16A และ 32 A/250V
3) หัวชาร์จแบบชาร์จเร็ว (Quick Charger)
เป็นหัวชาร์จรถไฟฟ้ากระแสตรงหรือ DC Charging เหมาะกับผู้ที่ต้องการชาร์จในเวลาเร่งด่วนจาก 0-80% ภายใน 40-60 นาที มีหัวชาร์จทั้งหมด 3 แบบ คือ
หัวชาร์จ CHAdeMO (CHArge de Move) รองรับกระแสไฟฟ้า 200A/600V จุดเด่นคือชาร์จไฟแล้วขับต่อได้ทันที นิยมใช้ในประเทศญี่ปุ่น
หัวชาร์จ GB/T เป็นนวัตกรรมจากประเทศจีน และพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบรับความนิยมของผู้ใช้รถไฟฟ้าที่มากขึ้น มีทั้งแบบ AC และ DC
หัวชาร์จ CSS (Combined Charging System) เป็นนวัตกรรมที่นำ AC Charging มาเพิ่มหัวต่ออีก 2 Pin เพื่อให้รองรับการชาร์จแบบ DC Charging ได้ มีทั้งหมด 2 แบบคือ
CSS Type 1 นิยมใช้ในกลุ่มทวีปอเมริกาเหนือและประเทศญี่ปุ่น รองรับกระแสไฟฟ้า 200A/600V
CSS Type 2 นิยมใช้ในกลุ่มทวีปยุโรปและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย รองรับกระแสไฟฟ้า 200A/1000V
จากที่กล่าวมาในข้างต้นการทำความเข้าใจความแตกต่างของหัวชาร์จรถไฟฟ้าและระบบกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในการชาร์จเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าหรือผู้ที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม การเลือกหัวชาร์จที่ถูกต้องและเหมาะสมกับรถยนต์ของตนเองนั้นไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน แต่ยังช่วยยืดอายุแบตเตอรี่และลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว และหัวชาร์จแต่ละประเภทก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้งานก็ควรพิจารณาจากรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าและความต้องการส่วนตัว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน
รายการอ้างอิง
นิสสัน ประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ประเภทหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า. https://www.nissan.co.th/experience-nissan/Nissan-EV/EV-charger-type.html
พิธานกรุ๊ป. (ม.ป.ป.). ประเภทหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า. https://phithangreen.com/th/type-of-electric-car-charger/
EVOLT. (ม.ป.ป.). การชาร์จรถไฟฟ้า AC กับ DC ต่างกันอย่างไร?. https://evolt.co.th/การชาร์จรถไฟฟ้า-ac-dc/#การชาร์จรถไฟฟ้ามีกี่แบบ-แล้วแตกต่างกันมากแค่ไหน
EV Thai. (ม.ป.ป.). เครื่องชาร์จรถไฟฟ้า. https://www.evthai.com/article/เครื่องชาจ์รรถไฟฟ้า/
EVme Thailand. (2565). Facebook Page EVme Thailand. https://www.facebook.com/EVmeTH
Categories
Hashtags