เมื่อโลกกลายเป็นสนามต่อรอง เกมภาษีนำเข้าและการเมืองระหว่างประเทศในแบบฉบับทรัมป์
Published: 17 April 2025
159 views

ผศ.ดร.ภาสนันทน์ อัศวรักษ์

สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสำหรับประเทศไทย 36% และประเทศจีนเป็น 145% การดำเนินการนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่มุ่งหวังให้ประเทศทั่วโลกกลับมาเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่สหรัฐอเมริกากำหนด ทั้งนี้ประเทศจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็น 125% และยังจำกัดการส่งออกแร่ธาตุหายากและสินค้าทางการทหารไปยังสหรัฐอเมริกา  การประกาศใช้นโยบายภาษีนำเข้าครอบคลุมสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อ “ความเป็นธรรมทางการค้าและการปกป้องอุตสาหกรรมภายในของสหรัฐอเมริกา” แม้คำกล่าวนั้นจะฟังดูเป็นยุทธศาสตร์ชาตินิยมเศรษฐกิจในรูปแบบ “America First” แต่หากมองลึกลงไปในกลไกของการดำเนินนโยบายนี้จะเห็นภาพของ "เกมต่อรอง" ที่ซับซ้อนและสอดคล้องกับแนวคิดที่ทรัมป์เคยเขียนไว้ในหนังสือเล่มสำคัญของเขาคือ "Trump: The Art of the Deal" ดังนั้น เกมนี้จึงไม่ใช่แค่การขึ้นภาษีตามปกติ แต่คือการวางหมากที่สะท้อนปรัชญาทางการเมือง เศรษฐกิจ และจิตวิทยาการต่อรองในแบบที่โลกคุ้นเคยของทรัมป์ตั้งแต่สมัยก่อนเข้าสู่ทำเนียบขาว

ภาษีที่ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจแต่คือกลยุทธ์ทางอำนาจ

อัตราภาษีนำเข้าที่ทรัมป์กำหนดสูงถึง 36% สำหรับประเทศไทย และพุ่งทะยานถึง 145% สำหรับจีน รวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยกับอีกหลายประเทศมิได้สะท้อนจากการวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริงของสินค้า แต่คือ “สัญญาณการเปิดเกมต่อรอง” ที่ชัดเจนและแน่วแน่ การค้าระหว่างประเทศในสายตาของทรัมป์ไม่ได้ดำเนินอยู่บนหลักการของความร่วมมือแบบเสรีนิยม หากแต่เป็นสนามประลองระหว่าง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ซึ่งจำเป็นต้องมีการพลิกโต๊ะเมื่อรู้สึกว่าอีกฝ่ายได้เปรียบเกินไป การค้าเสรีแบบเดิมจึงถูกตีความว่าเป็นการยอมเสียเปรียบอย่างไม่จำเป็น และทรัมป์เลือกใช้ภาษีเป็นเครื่องมือหลักในการต่อสู้เพื่อรื้อโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ และเรียกสมดุลใหม่ที่เขาจะเป็นผู้กำหนดกติกา หากย้อนกลับไปอ่านแนวคิดที่ทรัมป์ถ่ายทอดไว้ในหนังสือ Trump: The Art of the Deal จะพบว่าการดำเนินนโยบายเหล่านี้สอดคล้องกับกลยุทธ์การเจรจาของเขาอย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าให้สูงเกินจริง การสร้างสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หรือการใช้แรงกดดันทางจิตวิทยาจนคู่เจรจาไม่สามารถเพิกเฉยได้ การขึ้นภาษีจึงไม่ใช่แค่กลไกเศรษฐกิจ หากแต่คือ “ภาวะวิกฤตเทียม” (Artificial Crisis) ที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อเร่งให้ทุกฝ่ายต้องกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา ซึ่งในรอบนี้ โต๊ะนั้นตั้งอยู่ในเงื่อนไขที่ทรัมป์ถือไพ่เหนือกว่าอย่างที่เขาต้องการ

เมื่อภาษีคือการแสดงอำนาจการเมืองภายในสู่เวทีโลก

การตัดสินใจของทรัมป์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผลทางเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อน “เกมการเมืองภายใน” ที่กำลังดำเนินควบคู่  ทรัมป์ใช้การขึ้นภาษีเป็นเครื่องมือเสริมฐานเสียงในกลุ่มรัฐอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกัน ภาษีที่เพิ่มขึ้นกับสินค้านำเข้าจะช่วยสร้างภาพว่าเขากำลัง "ปกป้องงาน" ของคนอเมริกัน และส่งเสริมการผลิตในประเทศ แม้จะต้องแลกกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นสำหรับผู้บริโภค อีกด้านหนึ่ง ภาษียังเป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามต่อพันธมิตรเดิม ไม่ว่าจะเป็นอียู ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศไทยว่า “ยังคงสมดุลผลประโยชน์ระหว่างกันหรือไม่” ทรัมป์เลือกท้าทายระเบียบโลกแบบเสรีนิยม โดยไม่กลัวต่อแรงเสียดทานทางการทูต เพราะเป้าหมายคือการบีบให้ประเทศเหล่านั้นต้องหวนกลับมาเจรจาใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ประเทศจีนเดินเกมบุ๋นท่ามกลางหมากบู๊

ท่ามกลางความตึงเครียดและเสียงปะทะทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับทั่วโลก ประเทศหนึ่งที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือจีน ประเทศที่เคยเผชิญกับมาตรการภาษีจากทรัมป์มาแล้วในสมัยทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกและวันนี้ต้องเผชิญอีกครั้ง หากทรัมป์ใช้ “เกมบู๊” ที่เปิดหน้าโจมตีด้วยภาษี จีนกลับเลือกใช้ “เกมบุ๋น” ด้วยการตอบโต้แบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐอเมริกาที่มีนัยทางการเมืองสูงอย่างถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ และไวน์ รวมถึงการใช้สื่อของรัฐกระตุ้นกระแสรักชาติไม่ซื้อสินค้าอเมริกัน แต่ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือ จีนวางเกมระยะยาวผ่านการขยายตลาดใหม่ การลงทุนในประเทศอาเซียน แอฟริกา และลาตินอเมริกา การผลักดันความร่วมมือแบบพหุภาคี เช่น RCEP และ BRICS+ การเร่งขยายตลาดผ่าน Belt and Road Initiative การลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศกำลังพัฒนา และการผลักดัน “หยวนดิจิทัล” เพื่อลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ สิ่งเหล่านี้คือการ “แย่งศูนย์กลางของเกม” ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การปะทะทันที แต่คือการสร้างทางเลือกใหม่เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นระบบ หลักคิดของจีนสอดคล้องกับปรัชญาของซุนวู (The Art of War) ที่ว่า “ชัยชนะที่แท้จริง คือการเอาชนะโดยไม่ต้องสู้” จีนจึงไม่ตอบโต้แบบตรงไปตรงมา แต่สร้างสมดุลอำนาจใหม่อย่างเงียบเชียบแต่ทรงพลัง

การเผชิญหน้าที่ไม่มีผู้ชนะถาวร

เกมการค้าระหว่างทรัมป์กับจีน หรือประเทศต่าง ๆ ไม่ได้มีแค่เรื่องดุลการค้าหรือราคาสินค้า หากแต่มันคือการต่อสู้เพื่อกำหนด “ทิศทางของระเบียบโลกใหม่” ที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคเสรีนิยมไปสู่โลกที่แต่ละประเทศหันกลับมาหาผลประโยชน์แห่งชาติแบบเดี่ยวมากขึ้น ทรัมป์จึงไม่ใช่ผู้เริ่มการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่เป็นผู้กล้าประกาศและใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในเชิงการเมืองอย่างตรงไปตรงมาที่สุด การขึ้นภาษีจึงไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงพาณิชย์ แต่คือ “การทูตเชิงบีบบังคับ” (Coercive Diplomacy) ที่ใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของอำนาจแข็ง (Hard Power) ขณะที่จีนตอบโต้ด้วย “การทูตเชิงรุกแบบนุ่มนวล” (Strategic Soft Power) โดยวางยุทธศาสตร์ให้ผลลัพธ์สะสมทีละน้อยแต่มั่นคงในระยะยาว

ประเทศไทยและบทเรียนของประเทศขนาดกลาง

สำหรับประเทศขนาดกลางอย่างไทย การเผชิญหน้าของสองยักษ์ใหญ่คือบทเรียนสำคัญว่าโลกหลังยุคเสรีนิยมทางเศรษฐกิจจะไม่มีความแน่นอนอีกต่อไป การพึ่งพาตลาดเดียวจะกลายเป็นความเสี่ยง และนโยบายเศรษฐกิจต้องหันมาสร้างความยืดหยุ่น (resilience) และการกระจายตัวของตลาด การสนับสนุนผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ในหลายเวที การเร่งสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยี และการเจรจาแบบพหุภาคีในเวทีระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ภาษีคือหมากและโลกคือกระดาน

นโยบายภาษีนำเข้าของทรัมป์อาจถูกมองว่าเป็นการสร้างกำแพงเศรษฐกิจ แต่ในอีกมิติหนึ่งมันคือ “การเดินหมาก” ที่ใช้กลยุทธ์จากหนังสือ The Art of the Deal มาแปลงเป็นกลไกของรัฐ ทรัมป์ใช้ภาษีเพื่อสร้างการต่อรองใหม่ เพื่อเปลี่ยนสมการอำนาจทางการค้า และเพื่อวางตนเป็นผู้ควบคุมโต๊ะเจรจา จีนตอบโต้อย่างแยบคายด้วยการใช้ความสงบนิ่งสยบความเคลื่อนไหว พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และเปลี่ยนโครงสร้างของพลังทางเศรษฐกิจโลกอย่างไม่ส่งเสียง สุดท้าย ไม่มีใครสามารถชนะได้ตลอดกาลในเกมแบบนี้ แต่ผู้ที่ปรับตัวไว มองเกมขาด และวางหมากลึก คือผู้ที่จะอยู่รอดบนกระดานที่ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวเกมนี้

รายการอ้างอิง

Trump, D. J., & Schwartz, T. (1987). Trump: The Art of the Deal. Random House.

Thaipublica. (2025, April 3). “ทรัมป์ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36%.” Retrieved from https://thaipublica.org/2025/04/trump-pauses-reciprocal-tariffs-on-countries/

The Standard. (2025, April 4). “Trump imposes 145% tariff on Chinese imports, 37% on Thailand.” Retrieved from https://thestandard.co/trump-imposes-37-percent-tariff-on-thailand/

Reuters. (2025, April 5). China hits back with 125% tariff on U.S. goods; rare earth exports restricted. Retrieved from https://www.reuters.com/world/china-responds-trump-tariffs-rare-earths-2025

BBC Thai. (2025, April 5). “สงครามภาษีรอบใหม่ ทรัมป์-จีน กับผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก.” Retrieved from https://www.bbc.com/thai/international-65193801

ซุนวู. (The Art of War). (แปลโดย วิวัฒน์ พันธุมโกมล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

ธนินท์ เจียรวนนท์. (2563). กลยุทธ์จีน. กรุงเทพฯ: มติชน.

 


Categories

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...