รอมฎอนกับสุขภาพสัมพันธ์กันอย่างไร
Published: 5 April 2024
34 views

รอมฎอนกับสุขภาพสัมพันธ์กันอย่างไร

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า "รอมฎอน" แต่รู้ไหมว่าคืออะไร ทำไมถึงสำคัญอย่างมากกับชาวมุสลิมทั่วโลก "รอมฎอน" เป็นชื่อเดือนที่สำคัญในศาสนาอิสลามที่มุสลิมทั่วโลกปฏิบัติ "รอมฎอน" หรือที่เรียกว่า ถือศีลอด โดยส่วนมากจะเรียกกันว่า เดือนบวช

ซึ่งมีความสำคัญตามบทบัญญัติ 1 ใน 5 ของอิสลาม คือเดือน 9 ซึ่งตรงตามปฏิทินอิสลาม โดยในเดือนนี้นั้นมุสลิมทุกคนจะงดการกิน การดื่ม หรือพฤติกรรมที่เป็นบาปอื่น ๆ โดยมุสลิมทุกคนจะเริ่มอดตั้งแต่เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตลอดทั้งเดือน

เดือนรอมฎอน เป็นเดือนที่ถูกบัณญัติให้ผู้ที่ศรัทธาปฎิบัติอิบาดะห์ศาสนกิจที่สำคัญยิ่ง ดังที่ อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ตรัสไว้ว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ (183)

   “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” 

(ซูเราะห์อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 183)

รอมฎอนเดือนแห่งการถือศีลอดสำคัญกับศาสนาอิสลามขนาดไหนกัน?

รอมฎอน เป็นหนึ่งในเดือนที่สำคัญที่สุดในอิสลาม เป็นเวลาที่มุสลิมทั่วโลกต่างรอคอย นอกจากจะงดการกิน การดื่ม หรือพฤติกรรมที่เป็นบาปอื่น ๆ แล้วนั้น รอมฎอนยังมีความสำคัญในด้านจิตใจและสติปัญญา ซึ่งช่วงเวลานี้จะเป็นโอกาสที่มุสลิมจะสร้างความสำคัญในการพัฒนาความเข้มแข็งทางจิตใจและความอดทนในการดำรงชีวิตประจำวัน

การถือศีลอด เป็นการแสดงออกถึงความศรัทธา ความอดทน และการตั้งใจปฎิบัติเพื่อใกล้ชิดกับพระเจ้า นอกจากนี้ยังเป็นการย้ำเตือนให้นึกถึงความลำบากของผู้ที่ด้อยโอกาสหรือผู้ที่ไม่มีกำลังมากพอ ดังนั้นชาวมุสลิมจึงมีการบริจาคให้แก่ผู้ขาดแคลนนั่นเอง

การถือศีลอดส่งผลอย่างไรกับสุขภาพกันนะ?

การถือศีลอดในรอมฎอนไม่เพียงแต่เป็นการฝึกอบรมทางจิตใจและจิตวิญญาณ แต่ยังมีผลดีต่อสุขภาพทั้งกายและจิตใจของบุคคลที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

  1. การถือศีลอดจะช่วยในการล้างลำไส้ให้สะอาด และช่วยฟื้นฟูให้กระเพาะอาหารดีขึ้น ซึ่งในช่วง1-3 วันแรกนั้น อาจจะมีอ่อนเพลีย คลื่นไส้ ได้
  2. การถือศีลอดจะช่วยขจัดโรคหรือช่วยให้อาการดีขึ้น เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด
  3. กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  4. การลดน้ำหนัก สามารถเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มตลอดช่วงเวลารอมฎอนอาจช่วยในการลดน้ำหนัก โดยที่การลดน้ำหนักอาจมีผลทางบวกต่อสุขภาพหัวใจและระดับน้ำตาลในเลือด
  5. ปรับความสมดุลในร่างกายและปรับเวลาในการทานอาหาร
  6. ส่งเสริมและพัฒนาจิตใจ การปฏิบัติรอมฎอนอาจช่วยในการพัฒนาความอดทนและความเคลื่อนไหวในการควบคุมตัวเอง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพจิตและการลดความเครียด


ข้อควรระวังในการถือศีลอด

การถือศีลอดในรอมฎอนเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในศาสนาอิสลามและมีความหมายทางศาสนาอย่างมาก แต่ก็ยังมีข้อที่ควรระวังเช่นกันกัน

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดหรือรสจัด
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  4. พักผ่อนให้เพียงพอ
  5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำงานหนัก
  6. ควรตรวจร่างกาย ความพร้อมของสุขภาพตนเอง หรือปรึกษาแพทย์ หากมีโรคประจำตัวที่ต้องทานยาตลอด ผู้ป่วย อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงผ่อนผันให้ผู้ป่วยละศีลอดในเดือนรอมฎอนได้ ให้ผู้ป่วยละศีลอดหากผู้ป่วยประสบกับความยากลำบากในการถือศีลอดเกินกว่าจะอดทนได้ 

ดังดำรัสของอัลลอฮ์(ซ.บ.)

“(คือถูกกำหนดให้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน) ในบรรดาวันที่ถูกนับไว้ แล้วผู้ใดในหมู่พวกเจ้าป่วย หรืออยู่ในการเดินทางก็ให้ถือใช้ในวันอื่น”

(อัลบะเกาะเราะห์ 2 : 184)

ช่วงถือศีลอด ต่างจากการทำ IF อย่างไร?

อย่างแรกต้องรู้ก่อนว่า IF หรือ Intermittent Fasting (IF) คือการอดอาหารเป็นช่วงเวลา ซึ่งเป็นวิธีลดน้ำหนักที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน หลายคนใช้ IF เพื่อลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาน้ำหนักให้คงที่ นอกจากนี้การทำ IF ยังมีประโยชน์ด้านสุขภาพอื่นๆอีกด้วย เช่น ปรับปรุงความสมดุลในร่างกาย การย่อยอาหาร การอักเสบ ซึ่งวิธีการทำ IF นั้น มีหลายประเภท ดังนี้

  1. แบบ IF 16/8 (กิน 8 ชั่วโมง อดอาหาร 16 ชั่วโมง)
  2. แบบ IF 19/5 (กิน 5 ชั่วโมง อดอาหาร19 ชั่วโมง)
  3. แบบ IF 24 (อดอาหาร24 ชั่วโมง 1-2 ครั้ง/สัปดาห์)
  4. แบบ5:2 (การกินอาหารตามปกติ 5 วัน และกินอาหารแบบ Fasting 2 วัน และลดปริมาณอาหาร)
  5. แบบ Alternate Day Fasting (อดอาหารแบบวันเว้นวัน)

ดังนั้นการทำ IF จึงไม่ได้แตกต่างจากการถือศีลอดมากนัก เพราะการทำ IF เป็นการเปลี่ยนแปลงเวลาการทานอาหาร การถือศีลอดก็เป็นการอดอาหาร 14-15 ชั่วโมง

รู้ไหม! อินทผาลัม ผลไม้มหัศจรรย์ สร้างเสริมสารอาหารใน "เดือนรอมฎอน"

อินทผาลัม (Date Palm) เป็นพืชตระกูลปาล์ม มีหลากหลายสายพันธ์ุ อยู่ทางทิศตะวันออกกลาง ซึ่งสามารถเจริญเติบโตในพื้นดินที่แห้งแล้ง อากาศร้อน ได้ เช่น ประเทศซาอุดิอาราเบีย แอลจีเรียมีรสชาติที่หวานฉ่ำ สามารถรับประทานได้ทั้งแบบสุกและดิบ สามารถเก็บรักษาได้นาน

โดยอินทผาลัมนั้นเป็นผลไม้ที่ประกอบไปด้วย น้ำตาล ไขมัน โปรตีนและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถสร้างพลังงานบำรุงร่างกายไม่ให้อ่อนเพลีย ป้องกันเบาหวาน และอื่นคุณสมบัติอื่นๆอีกมากมาย

อินทผาลัมจึงเป็นผลไม้ที่ชาวมุสลิมนิยมทานกันอย่างมากในเดือนรอมฎอน โดยจะทานในช่วงละศีลอดหรือหลังจากกการละศีลอดในตอนค่ำ เนื่องจากให้น้ำตาลและโพแทสเซียมสูง ช่วยฟื้นฟูพลังหลังจากการอดอาหารมาตลอดทั้งวัน หรือบางคนกินทั้งเช้าและเย็นในช่วงถือศีลอด

ภาพโดย : Pharmacy.Mahidol


عَنْ أَنَسٍ بنِ مَاْلِكٍ رَضِيَ الله عَنْهُ قَالَ : كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُفْطِرُ قَبْلَ أَنْ يُصَلِّيْ عَلى رُطَبَاْتٍ، فَإِنْ لَّمْ تَكُنْ رُطَبَاْتٌ فَتُمَيْرَاْتٍ، فَإِنْ لَمْ تَكُنْ تُمَيْرَاتٌ حَسَا حَسَوَاتٍ مِنْ مَّآءٍ. (الترمذي رقم 632، صحيح سنن الترمذي للألباني رقم560 : صحيح)

จากท่าน อะนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่า

“ท่านรอซูล(ซ.ล.) จะละศีลอดก่อนละหมาด(มัฆริบ)ด้วยลูกอินทผาลัมสดจำนวนเล็กน้อยถ้าไม่มีอินทผาลัมสดท่านจะละศีลอดด้วยอินทผาลัมแห้งเล็กๆ จำนวนหนึ่งหรือถ้าไม่มีอินทผาลัมแห้ง ท่านจะจิบหรือดื่มน้ำสองสามครั้ง”

(รายงานโดย อัต-ติรฺมิซีย์ หมายเลข 632 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อัต-ติรมิซีย์ ของ อัล-อัลบานีย์ หมายเลข 560 เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)


โดยสรุปแล้วเดือนรอมฎอน (เดือนบวช/เดือนถือศีลอด) ไม่ได้เป็นเพียงแค่เดือนที่ปฏิบัติศาสนกิจในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังเป็นเดือนที่ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งกายและจิตใจ เช่น ปรับสมดุลร่างกาย ปรับระดับน้ำตาลในเลือด ส่งเสริมสุขภาพจิต พัฒนาสมาธิและความอดทน สร้างความร่วมมือในชุมชน ส่งเสริมการมีน้ำใจ ด้วยนั่นเอง





อ้างอิง

https://health.kapook.com/view122460.html

https://www.islammore.com/view/1401

https://shopee.co.th/blog/ramadan-activities-behave/

https://www.thaipbs.or.th/now/content/917

https://www.bbc.com/thai/international-60970014

https://www.springnews.co.th/news/hot-issue/848596

https://www.islammore.com/view/3225

https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/320/อินทผาลัม/




Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...