ADDIE Model สูตรลับความสำเร็จในการออกแบบการเรียนรู้
Published: 25 September 2024
39 views

ADDIE Model สูตรลับความสำเร็จ ในการออกแบบการเรียนรู้

ADDIE Model กระบวนการที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาการเรียนรู้หรือการฝึกอบรมอย่างมีระบบ เช่น การฝึกอบรม การเรียนรู้ การนำเสนอข้อมูล การเรียน การสอนและยังเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ADDIE Model จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การออกแบบและพัฒนาโครงการการเรียนรู้มีโครงสร้างและประสิทธิภาพสูง

ADDIE มาจากอักษรตัวแรกของขั้นตอนหลัก 5 ขั้นตอน

Analysis (การวิเคราะห์): การวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียน เป้าหมายของเรียนรู้ ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมาย และปัญหาที่ต้องการแก้ไข เพื่อให้ทราบว่าเนื้อหาหรือกระบวนการใดจำเป็นสำหรับการออกแบบ

Design (การออกแบบ): ออกแบบหลักสูตรหรือโปรแกรมการเรียนรู้ กำหนดวัตถุประสงค์ ผลลัพธ์ที่ต้องการ สื่อที่ใช้ วิธีการสอน และการประเมินผล

Development (การพัฒนา): ขั้นตอนนี้จะพัฒนาเนื้อหา สื่อการเรียนรู้ และแบบทดสอบตามที่ได้ออกแบบไว้

Implementation (การดำเนินการ): นำเนื้อหาและสื่อที่พัฒนามาใช้จริงในการฝึกอบรมหรือการเรียนรู้ โดยอาจมีการทดสอบเบื้องต้นเพื่อดูประสิทธิภาพ

Evaluation (การประเมินผล): ขั้นตอนสุดท้ายคือการประเมินผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินการ เพื่อวัดประสิทธิผลของโปรแกรมว่าตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ และปรับปรุงแก้ไขตามผลลัพธ์ที่ได้

ตัวอย่างวิธีการใช้ ADDIE Model เช่น

หัวข้อเรื่อง : การพัฒนาสื่อการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี เพื่อฝึกอบรมพัฒนา บุคลากรมจธ. โดยใช้ ADDIE Model

วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ 2. เพื่อประเมินผลการฝึกอบรมหลังจบหลักสูตร

ขั้นตอนการดำเนินงานโดยใช้ ADDIE Model

1. Analysis (การวิเคราะห์): วิเคราะห์ความต้องการและการรับรู้ของบุคลากรเรื่องการใช้เทคโนโลยี

2. Design (การออกแบบ): ออกแบบหลักสูตรที่ครอบคลุมเนื้อหาการใช้เทคโนโลยี เช่น สื่อวิดีโอ สื่อนำเสนอ Presentation สื่อการเรียนการสอน

3. Development (การพัฒนา): พัฒนาสื่อการเรียนรู้หรือหลักสูตร เช่นการสร้างบทเรียนแบบวิดีโอและการทดสอบที่สามารถวัดผลได้ทันที

4. Implementation (การดำเนินการ): นำหลักสูตรที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นไปทดลองใช้จริงกับบุคลากรและเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามความพึงพอใจของบุคลากร

5. Evaluation (การประเมินผล): ประเมินความสำเร็จของหลักสูตรจากผลการทดสอบและผลที่ได้จากแบบสอบถามความพึงพอใจของบุคลากรที่เข้าร่วมอบรม

ผลในการวิจัย : บุคลากรมีการปรับปรุงทักษะในการใช้เทคโนโลยีและมีความพึงพอใจในหลักสูตรที่ออกแบบตาม ADDIE Model


เป็นอย่างไรกันบ้าง การใช้ ADDIE Model ในการออกแบบไม่ยากเลย แถมยังช่วยให้เรามองเห็นถึงกระบวนการทำงานและกระบวนการคิดวิเคราะห์ได้อย่างง่ายดายอีกด้วย ต่อมาคือ ตัวอย่างงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ใช้โมเดล ADDIE

เรื่อง : Digital Educational Game for Learning Genetic Algorithm using ADDIE Model (เกมส์การศึกษาดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้อัลกอริทึมทางพันธุกรรมโดยใช้แบบจำลอง ADDIE)

รศ.ดร. ณัฐชา เดชดำรง และดร.ทวีชัย นันทวิสุทธิวงศ์ ได้วิจัยเกี่ยวกับระบบการพัฒนาและการใช้งานเกมส์การศึกษาดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้อัลกอริทึมทางพันธุกรรม โดยในการออกแบบได้ใช้แบบจำลอง ADDIE Model ในการออกแบบ คิดวิเคราะห์ พัฒนา การนำไปใช้และการประเมินผล เพื่อให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกสนาน หลังจากพัฒนาแล้วได้ทำการทดสอบกับผู้ใช้ โดยประเมินความพึงพอใจและประสิทธิภาพของเกม ผลลัพธ์แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัลกอริทึม และผู้ใช้มีความพึงพอใจสูง ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าในการประยุกต์ใช้แบบจำลองการออกแบบการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาเกมการศึกษาที่ส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมาย

อย่างไรก็ตามการใช้ ADDIE Model ในการออกแบบการเรียนการสอนเป็นแนวทางที่ช่วยให้กระบวนการพัฒนาสื่อการสอนหรือหลักสูตรนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก ADDIE Model ครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคิดวิเคราะห์ผู้เรียน ออกแบบสื่อการเรียนรู้ ปัญหา การพัฒนา การนำไปใช้และการประเมินผล โดยเมื่อเราทำตามขั้นตอนเหล่านี้แล้วนั้น จะช่วยให้เรารับรู้ลำดับขั้นตอนและสามารถตรวจสอบปรับปรุงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และยังสามารถช่วยสร้างประสบการณ์เรียนรู้อีกด้วย






อ้างอิง

https://kirim.kmutt.ac.th

https://www.peoplevalue.co.th

https://kirim.kmutt.ac.th/converis/portal/detail/Person/54166858?auxfun=&lang=de_DE

https://kirim.kmutt.ac.th/converis/portal/detail/Person/1103875618?lang=de_DE


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...