ตามรอยงานจิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Published: 30 October 2024
6 views


           ณ วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา ตัวผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทัศนาสัญจรในโครงการพระจอมเกล้าศึกษา "ศาสนสัมพันธ์องค์ความรู้แห่งพระจอมเกล้าฯ" ซึ่งเป็นกิจกรรม One Day Trip ที่จะพาผู้เข้าร่วม เดินทางตามรอยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ไปยังสถานที่ทางศาสนาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ที่ท่านเกี่ยวข้องโดยตรง หรือเกี่ยวข้องทางอ้อมก็ตาม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ความรู้ ความเข้าใจ และได้สัมผัสบรรยากาศของสถานที่นั้น ๆ

           ทั้งนี้ ตัวผู้เขียนมีความสนใจในเรื่องของงานจิตรกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานที่ ที่ได้เดินทางไปเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงตัดสินใจเขียนบทความนี่เพื่อแบ่งปันเรื่องราว ความรู้ และข้อมูลของจิตรกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่นั้นๆ ที่ได้ไปเยี่ยมชมให้กับผู้อ่านทุกท่านได้รับรู้กัน

 

วัดราชาธิวาสวิหาร

           เป็นสถานที่แรกที่เราได้แวะเยี่ยมชมกัน ซึ่งจิตกรรมที่โด่งดังของที่นี่จะถูกวาดไว้บนทั้ง 4 ด้านภายในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นภาพของเรื่องราวทางศาสนาพุทธที่ผมเชื่อใครหลาย ๆ คนเคยได้ยินกัน นั่นคือเรื่องพระเวสสันดรชาดก วาดโดยการร่วมมือกันของบุคคล 3 คน ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ได้รับการยกย่องว่า “สมเด็จครู” และ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” กับ คาร์โล ริโกลี จิตรกรชาวอิตาลี โดยภาพวาดจะถูกแบ่งกระจายเป็น 13 ส่วน สอดคล้องกับชาดกที่มี 13 กัณฑ์พอดี แบ่งเป็นภาพใหญ่ 2 ภาพขนาบซ้าย-ขวา และอีก 11 ภาพเป็นภาพย่อย โดยใช้สีปูนเปียก (Fresco) วาด ซึ่งจะทำให้สีอยู่ทนและนานถึงแม้จะโดนความชื้นจากน้ำฝนหรืออื่นๆ

           จุดที่น่าสนใจของจิตรกรรมนี้คือภาพใหญ่ทั้ง 2 ภาพ เพราะมีลักษณะการวาดที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยภาพใหญ่ทางด้านซ้ายตัวช้างในภาพจะมีขนาดใหญ่กำยำกว่าความเป็นจริง ด้วยความที่ผู้วาดเป็นคนไทย จึงต้องการสื่อให้เห็นถึงความน่าเกรงขามของสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศ แต่ในทางกลับกัน ภาพทางด้านขวาตัวช้างจะมีลักษณะใกล้เคียงกับความจริง ไม่ได้มีความเกรงขามเท่าฝั่งซ้าย เพราะเป็นฝั่งที่ คาร์โล ริโกลี ลงมือวาดเอง ซึ่งเขาวาดตามหลักความคิดแบบ Realistic ที่ยึดถืออยู่กับหลักความเป็นจริงของโลก

 

โบสถ์คอนเซ็ปชัญ

           งานจิตรกรรมที่โด่นเด่นของที่โบสถ์แห่งนี้จะพบเห็นได้ชัดเจน เพราะเป็นงานกระจกสี (Stained glass) ที่อยู่สูงบนผนังบริเวณด้านหลังของรูปปั้นพระแม่มารีย์ ซึ่งทุกองค์ประกอบของจิตกรรมนี้ล้วนมีความหมายในตัวของมันเอง พระอาทิตย์ที่ฉายแสงแสดงถึงรัศมีพระบารมีของพระแม่มารีย์ ตัวอักศรตรงกลางเกิดจากการวางซ้อนกันของตัวอักษร M และ A สื่อถึงชื่อของพระแม่มารีย์ และสุดท้ายคือกรอบรอบวงกลม ซึ่งมีดอกมาดอนน่าลิลลี่ล้อมรอบกรอบวงกลมไว้ สื่อถึงความบริสุทธิ์และพรหมจรรย์ของพระแม่มารีย์ 


วัดราชผาติการาม

           ในพระอุโบสถที่หลวงพ่อสุกประดิษฐานนั้น มีความหลากหลายของงานจิตรกรรมถูกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ ผนังด้านสกัดหลังหลวงพ่อสุก เป็นภาพจักรวาลไตรภูมิตามคติในศาสนาพุทธ โดยกำแพงซ้ายและขวาของภาพจะสื่อถึงกำแพงจักรวาล ส่วนเขาตรงกลางสื่อถือเขาไกลลาส หรือที่เชื่อกันในชื่อของเขาพระสุเมรุนั่นเอง

           ผนังด้านสกัดฝั่งตรงข้ามหลวงพ่อสุก เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ซึ่งจะมีความแปลกกว่าที่อื่นตรงที่พระพุทธเจ้าจะไม่ได้อยู่ในปางมารวิชัยเหมือนกับที่อื่นๆ แต่เป็นปางขัดสมาธิเพชรแทน

           ผนังด้านซ้ายและขวาจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นภาพวาดของเรื่องราวเดียวกัน คือเรื่องพระมหาชนกชาดก ซึ่งภาพด้านซ้ายจะเป็นภาพเขียนแบบโบราณที่ถูกนำมาจากพระไตรปิฎก แต่ในทางกลับกัน ภาพด้านขวาจะเป็นภาพเขียนแบบร่วมสมัยของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยในการทรงพระราชนิพนธ์จากที่ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนามหาชนกชาดก จากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 12 เมื่อปีพ.ศ. 2520 โดยจะมีการผสมผสานระหว่างบุคคลที่มีอยู่จริง และบุคคลในจิตนาการเข้าไปด้วย รวมถึงมีรูปของศิลปินผู้วาดอยู่ในรูปด้วยเช่นกัน

           สุดท้ายคือ ฝ้าเพดานภายในพระอุโบสถ ซึ่งจะไม่ใช่จิตรกรรมแบบไทยแบบผนังทั้ง 4 ด้าน แต่เป็นภาพแบบจีนแทน โดยเพดานจะทาด้วยพื้นสีแดง เขียนภาพดาวเพดานกระบวนจีน ดวงกลางเป็นภาพหงส์ ดวงบริวารเป็นภาพผีเสื้อ ผูกเป็นลายเกลียว ซึ่งเป็นภาพสัญลักษณ์มงคลตามคติความเชื่อของจีน โดยคาดว่าการที่มีจิตรกรรมแบบจีนมาผสมผสานด้วยนั้น มาจากอิทธิพลมาจากศาลเจ้าแม่ทับทิมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั่นเอง

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิม

               สถานที่สุดท้ายใน One Day Trip ในครั้งนี้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดราชผาติการามเลย เพียงแค่เดินข้ามถนนมาก็ถึงแล้ว โดยงานจิตรกรรมที่พบได้ที่นี่ตั้งแต่แรกเห็นเลย คือภาพมังกร ในสายตาของชาวจีน มังกรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ศักดิ์ศรี และความแข็งแกร่ง ชาวจีนมีความปรารถนาว่า มังกรจะช่วยให้เกิดสิ่งดีๆ หลายๆอย่าง เช่น ความอดทน การเรียนรู้ร่วมกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของจักรพรรดิด้วยเช่นกัน

           และที่อยู่คู่กันไม่ไกลเลยนั้น คือภาพนกฟีนิกซ์ หรือตามความความเชื่อของจีนจะเรียกว่า เฟิ่ง-หวง เป็นสัญลักษณ์แห่งความสุข ความสงบ ความเจริญรุ่งเรือง และอิสตรี ตัวแทนของจักรพรรดินี ตรงข้ามกับมังกร ที่เป็นตัวแทนของผู้ชายหรือจักรพรรดิ โดยคนจีนเชื่อว่าหลังการสร้างโลก เทพบนสวรรค์ได้สร้างสิ่งมีชีวิตเพื่อคุ้มครองทิศสวรรค์และฤดู ในทางโหราศาสตร์ เฟิ่งหวงมีพลังฝ่ายหยาง เมื่อนำมาคู่กับมังกร หรือพลังฝ่ายหยิน ก็จะทำให้มีพลังที่สมดุลกัน เหมือนฝ่ายชายกับหญิงที่อยู่ด้วยกัน


บทส่งท้าย

           งานจิตรกรรมที่ได้นำมาเขียนนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของงานจิตรกรรมอีกมากมายตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมมา ผมหวังว่าผู้อ่านจะได้มีโอกาสไปสัมผัสกับงานจิตรกรรมเหล่านี้ด้วยตัวเองดูสักครั้ง เพราะงานศิลป์ทุกงาน หากดูผิวเผินก็คงรู้สึกถึงแค่ความสวยงามด้านรูปลักษณ์ของสิ่งนั้น แต่หากเรารู้ข้อมูลลึกขึ้น เราจะได้สัมผัสถึงความงดงามของเรื่องราวในงานศิลป์นั้น ๆ ด้วยเช่นกัน หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านทุกท่าน อยากรู้ลึกถึงจิตรกรรมต่าง ๆ มากขึ้นนะครับ


64120501009

กิตติพิชญ์ เสริฐสอน

Hashtags

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...