หลักของการถ่ายภาพฉบับมือใหม่ต้องรู้ ep1
Published: 17 May 2024
128 views

หลักของการถ่ายภาพฉบับมือใหม่ต้องรู้

พื้นฐานของการถ่ายภาพ

เคยรู้สึกสับสนเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "รูรับแสง", "ความเร็วชัตเตอร์", "ความไวแสง ISO", "การชดเชยแสง", "สมดุลแสงขาว" บ้างหรือไม่ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะบทความต่อเนื่องชุดพื้นฐานเกี่ยวกับกล้องของเราจะพาคุณไปรู้จักแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญของการถ่ายภาพเหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงคุณจะรู้จักกล้องของคุณดีขึ้น แต่ยังมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับโหมดและการตั้งค่ากล้องต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย!

สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาเมื่อถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลคือ ผลกระทบของรูรับแสงที่มี ต่อภาพถ่ายของคุณ การเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้นหรือแคบลงจะทำให้ภาพถ่ายที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในบทความนี้ เราจะมาศึกษาถึงผลกระทบของค่ารูรับแสงต่างๆ ที่มีต่อระยะชัดโดยการเปรียบเทียบตัวอย่างและเรียนรู้แนวคิดเกี่ยวกับ f-stop กัน (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)

รูรับแสงทำหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ สิ่งที่ต้องจำ

  • ค่ารูรับแสงมากขึ้น (กล่าวคือ ค่า f ต่ำลง) ขนาดของโบเก้จะใหญ่ขึ้น
  • ค่ารูรับแสงต่ำลง (กล่าวคือ ค่า f มากขึ้น) พื้นที่ที่อยู่ในโฟกัสจะกว้่างขึ้น (ระยะชัด)
  • ปริมาณแสงที่เข้าสู่เซนเซอร์จะถูกควบคุมด้วยขนาดของรูรับแสงที่กว้างขึ้น/แคบลง

รูรับแสงช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ได้ โดยเมื่อรูรับแสงกว้างขึ้น ปริมาณแสงจะเข้าสู่เลนส์มากขึ้น และในทางกลับกัน เมื่อรูัรับแสงแคบลง ปริมาณแสงจะเข้าสู่เลนส์ได้น้อยลง ค่าตัวเลขของขนาดรูรับแสงที่แตกต่างกันเรียกว่า ค่า f ซึ่งค่า f มาตรฐาน ได้แก่ f/1.4, f/2, f/2.8, f/4, f/5.6 การเพิ่มขนาดรูรับแสงให้กว้างขึ้นจะเป็นการลดค่า f ให้น้อยลง ขณะที่การลดขนาดรูรับแสงลงจะเป็นการเพิ่มค่า f ให้สูงขึ้น

เมื่อค่า f เปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องจะเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ขนาดของพื้นที่ภาพที่อยู่ในระยะโฟกัสยังเปลี่ยนไปด้วย และยิ่งค่า f ต่ำลงมากเท่าใด พื้นที่ภาพในระยะโฟกัสจะมีขนาดเล็กลงเช่นกัน ในทางกลับกัน หากค่า f มากขึ้น พื้นที่ภาพที่อยู่ในระยะโฟกัสจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งผลภาพที่ได้จะมีความคมชัดจนถึงส่วนแบ็คกราวด์

เมื่อค่า f มีค่าต่ำที่สุด คุณจะได้ "รูรับแสงกว้างสุด" ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณแสงเข้าสู่กล้องได้มากที่สุด อีกทั้งได้วงกลมโบเก้ที่ดูสะดุดตามากที่สุด ("ขนาดใหญ่ที่สุด") อีกด้วย

ตัวอย่างภาพที่ที่มี f ต่างกันออกไป

ภาพที่ใช้ f/1.8 EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/800 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: Manual

ภาพที่ใช้ f/5.6 EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/80 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: Manual

ภาพที่ใช้ f/16 EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/40 วินาที, EV+0.7)/ ISO 400/ WB: Manual

เมื่อรูรับแสงกว้่างขึ้น ค่า f จะลดลง พื้นที่ที่อยู่ในระยะโฟกัสของภาพจะลดลง และโบเก้จะดูสะดุดตายิ่งขึ้น (หรือ "มีขนาดใหญ่ขึ้น") ในทางกลับกัน หากรูรับแสงแคบลง ค่า f จะเพิ่มขึ้น และพื้นที่ที่อยู่ในระยะโฟกัสจะเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มองเห็นโบเก้ได้ไม่ชัดเจน

แล้ว Bokeh (โบเก้) คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร?

Bokeh (โบเก้) หมายถึงความเบลอหรือความไม่ชัดเจนในภาษาญี่ปุ่น ในการถ่ายภาพ หมายถึงส่วนที่อยู่นอกระยะโฟกัสจากวัตถุที่เราโฟกัส Bokeh มีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับเลนส์และวัตถุในภาพ

Bokeh มีความสำคัญอย่างไร?

  1. เน้นวัตถุ: ช่วยให้วัตถุที่เราต้องการเน้นดูเด่นขึ้น
  2. เพิ่มมิติ: ทำให้ภาพมีระยะใกล้-ไกลชัดเจน ดูมีมิติมากขึ้น
  3. สร้างเอฟเฟกต์: หากฉากหลังมีดวงไฟหรือแสงระยิบระยับ จะทำให้เกิด Bokeh ที่มีรูปทรงสวยงาม

วิธีการถ่ายภาพให้ได้ Bokeh สวย ๆ:

  1. ใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง: เช่น f/1.8 หรือ f/2.8
  2. ปรับระยะห่าง: ให้วัตถุที่ถ่ายอยู่ใกล้เลนส์ และฉากหลังอยู่ไกลออกไป
  3. ถ่ายในสภาวะแสงที่เหมาะสม: เช่น ในที่ที่มีแสงน้อยหรือมีแสงไฟระยิบระยับ

การใช้ Bokeh ช่วยทำให้ภาพถ่ายของเราดูมีมิติมากขึ้นและดึงดูดสายตามากขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและ f-stop เกี่ยวกันอย่างไร:

การตั้งค่าการเปิดรับแสงหรือที่ช่างภาพนิยมเรียกกันว่า "f-stop" ช่วยให้คุณปรับปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องได้ โดยการเพิ่มค่ารูรับแสงขึ้น 1 สต็อป จะลดปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องลงครึ่งหนึ่ง และการลดค่ารูรับแสงลง 1 สต็อป จะเพิ่มปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องมากขึ้นสองเท่า

สำหรับกล้อง DSLR (Digital Single-lens Reflex) ส่วนใหญ่ นอกจากการปรับแบบ 1 สต็อปตามมาตรฐานแล้ว ยังสามารถตั้งค่าในระยะ 1/2 สต็อป และ 1/3 สต็อปได้ด้วย เช่น หากตั้งค่า 1/3 สต็อป ช่วงของสต็อปทั้งหมดระหว่าง f/2.8 ถึง f/4 จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนั้น ช่วงของสต็อปจะกลายเป็น f/2.8 → f/3.2 → f/3.5 → f/4 การใช้ช่วง 1/3 สต็อปนี้จะช่วยให้การปรับแต่งปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องทำได้ดียิ่งขึ้น

สรุปจากข้อความข้างต้น ในการถ่ายภาพที่ช่วยควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์กล้อง เมื่อรูรับแสงกว้างขึ้น ปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์จะมากขึ้น และเมื่อรูรับแสงแคบลง ปริมาณแสงจะน้อยลง ค่าตัวเลขที่บอกขนาดรูรับแสงเรียกว่า "ค่า f" (f-number) โดยค่า f ที่ต่ำหมายถึงรูรับแสงกว้าง และค่า f ที่สูงหมายถึงรูรับแสงแคบการปรับค่า f ไม่เพียงแค่ควบคุมปริมาณแสง แต่ยังส่งผลต่อความลึกของระยะโฟกัส (Depth of Field) ด้วย ค่า f ต่ำทำให้พื้นที่ในระยะโฟกัสเล็กลง ส่งผลให้ฉากหลังเบลอมากขึ้น ในขณะที่ค่า f สูงทำให้พื้นที่ในระยะโฟกัสกว้างขึ้น ทำให้ภาพมีความคมชัดตลอดทั้งภาพ

ดังนั้น การปรับรูรับแสงให้เหมาะสมจะช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดตามความต้องการของผู้ถ่ายภาพ


อ้างอิง

https://snapshot.canon-asia.com/th/article/thai/camera-basics-1-aperture

https://snapshot.canon-asia.com/th/article/thai/4-easy-steps-to-capture-those-elusive-bokeh-circles

https://fotoinfo.online/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3/







Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...