เปิดโลกนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านแสงสว่าง กับอาจารย์มาโนช แสนหลวง
หากย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บุรุษนาม “มาโนช แสนหลวง” อาจยังคงเป็นวัยรุ่นไฟแรงที่อยู่กับงานวิชาการอันมีโปรไฟล์ที่ดีคนหนึ่ง ผู้ที่นอกจากจะมีเลือดเนื้อเชื้อไขความเป็นวิศวกร และยังมีบุคลิกลักษณะความเป็นนักวิจัยที่มองเห็นถึงความสำคัญด้านแสงสว่าง
มาจนปัจจุบันนี้ คงต้องเรียกว่า อาจารย์มาโนช แสนหลวง นักวิจัยด้านแสงสว่างที่กำลังดำเนินโครงการหลายส่วนอยู่ ณ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีไฟฟ้าและการส่องสว่าง ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ซึ่งหากท่านใดได้มีโอกาสติดตาม อ.มาโนชนั้น คงได้เห็นงานค้นคว้าที่ได้พูดถึงการออกแบบแสงสว่างเชิงชีวพลวัต เพื่อการดำเนินกิจกรรมอย่างมีคุณภาพ ที่กล่าวถึงแสงสว่างนั้น มีผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ในทุกแง่มุม โดยคนทั่วไปอาจคิดแค่ว่า “ถ้ามีแสง ก็ช่วยให้มองเห็น หากไม่มีก็มองกันไม่เห็น” งานค้นคว้าดังกล่าว อ.มาโนช ได้ออกมาชำแหละว่าแสงสว่างมีผลต่อมนุษย์มากกว่านั้น ทั้งในเรื่องของวงจรเซอร์คาเดียนรวมถึงค่าอุณหภูมิของแสงที่ส่งผลต่อมนุษย์โดยตรง
งานเขียนนี้ จะพามาทำความรู้จักกับนักวิจัยรุ่นใหม่ท่านนี้กัน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ด้วยความคาดหวังในองค์ความรู้ที่จะช่วยให้สามารถพัฒนาด้านแสงสว่างภายในประเทศให้ดีกว่าเดิมได้
ไปนั่งคุยกับอาจารย์มาโนชผ่านบทความด้านล่างกันครับ
ตอนนี้อาจารย์กำลังทำงานวิจัยอะไรอยู่?
ปัจจุบันผมเป็นนักวิจัยห้องปฏิบัติการไฟฟ้าและการแสงสว่าง สาขาที่มีความเชี่ยวชาญจะเป็นเรื่อง Adaptive Lighting Control แล้วก็เป็นเรื่องของการควบคุมแสงสว่างรูปแบบต่าง ๆ สำหรับหลอดไฟถนน ไฟในสำนักงาน หรือไฟทุกประเภท และอีกมุมหนึ่งก็จะมีการทำเกี่ยวกับเรื่องของ Horticultural Lighting ครับ ก็คือเป็นไฟสำหรับพืช โดยออกแบบ spectrum ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช สามารถเร่งเรื่องของสารสำคัญในพืชได้อย่างเหมาะสม
ซึ่ง ตอนนี้จะทำอยู่ 2 เรื่องนี้ครับ และปัจจุบัน กำลังกระโดดเข้ามาเรื่องของ Human-Centric Lighting จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแสงที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง แสงแบบไหนที่เหมาะสมกับมนุษย์ ในการทำงาน การพักผ่อน ก็จะเข้ามาเล่นตรงนี้มากขึ้น
แล้วในมุมของอาจารย์ ถ้าคนทั่วไปมีความรู้ด้านแสงสว่าง อาจารย์คิดว่าจะส่งผลกระทบทางบวกให้กับสังคมได้บ้างหรือไม่?
เอ่อ...ถ้าเป็นเรื่องของวงการแสง ในแง่ของสังคม จริงๆ ก็อาจจะแบ่งเป็นหลายด้าน แสงมีความสำคัญต่อมนุษย์ในเรื่องของความปลอดภัยก่อนเลยอย่างแรก ถ้าสมมุติเราขาดแสงไปในยามกลางคืน อาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน การใช้ชีวิต ในอีกแง่นึงก็คือ แสง ยังสำคัญต่อเรื่องด้านพลังงาน ...
...ถ้าเป็นเรื่องของความปลอดภัย ในเรื่องของสังคม การที่มีแสงสว่างเพียงพอ จะช่วยส่งเสริมด้านความปลอดภัย ทำให้คนสามารถเห็นทัศนวิสัยได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าเป็นเรื่องของอาคารจะส่งผลต่อสุขภาพ การที่เราให้แสงได้เหมาะสมตามช่วงเวลานั้นก็จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ ซึ่งแสงสีขาวจะช่วยในเรื่องของการตื่นตัวของมนุษย์ ส่วนแสงสีโทนอุ่นจะช่วยเรื่องของการพักผ่อน การหลั่งฮอร์โมนแห่งการนอนหลับออกมา ตรงนี้ก็จะมีส่วนช่วยอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องของตัวนาฬิกาชีวิต
อาจารย์ช่วยขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบไฟทางหลวงสักนิดครับ
ได้ครับ! แสงสว่างสำหรับประเภทของทางหลวง จริง ๆ จะมีมาตรฐานครบถ้วนอยู่ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยจะมีตัวมาตรฐาน มอก. 2954 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดค่าความสว่าง คุณภาพแสง ให้เหมาะสมตามทางต่างๆ ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 คลาส คลาสแรกจะเป็นเกี่ยวกับ Motorways ก็คือเป็นทางถนนที่ใช้ความเร็วสูง ทางด่วน ก็จะอยู่ในเกณฑ์ของประเภทมอเตอร์เวย์ อีกประเภทหนึ่งจะเป็น Conflict area ทางแยก ทางโค้งต่าง ๆ ส่วนมาตรฐานสุดท้ายก็จะเป็นตัวระดับชั้นของคนเดินเท้า ตัวนี้ก็จะมีมาตรฐานควบคุมอยู่ใน มอก. 2954 อยู่แล้ว
ทีนี้ในช่วงที่อาจารย์ ได้เรียน ทำวิจัย ได้สอน อาจารย์เคยเจอปัญหาอะไรหนักที่สุด และสามารถผ่านปัญหานั้นมาได้อย่างไร?
ปัญหาที่เจอหนักที่สุดคือ การเผชิญหน้าปัญหา ผมมองว่า ปัญหาเนี่ย ในมุมของวิศวะ เราเจอกันได้ตลอดนะ อยู่ที่ว่าเราจะมุ่งมั่นอดทนกับปัญหานั้นได้มากน้อยแค่ไหน การที่เราอดทนกับปัญหา พยายามแก้ปัญหานั้นอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เราผ่านปัญหาและอุปสรรคนั้นได้
ปัญหาที่เจอจะมีเชิงลึก อย่างผมทำโค้ดดิ้ง ทำเกี่ยวกับเรื่องของ AI เวลาเราเจอโค้ดที่มันเหมือนติดบั๊ก อะไรแบบนี้ ถ้าสมมุติเรา ท้อแล้วถอดใจ ก็จะเหมือนแก้ไม่สำเร็จเราก็จะต้องไปหาวิธีการอื่น หรือลองศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ความรู้ของเราเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว ข้อมูลที่เรารู้ เราเคยทำมาบางทีมันอาจจะเก่าไปแล้วมันอาจจะแก้ปัญหานี้ไม่ได้แล้ว เราอาจจะจำเป็นจะต้องหาความรู้ใหม่องค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อมาแก้ปัญหานั้น ๆ
ให้ช่วยแชร์แนวทางการการแบ่งเวลาสักหน่อยครับ
จริง ๆ การแบ่งเวลาของผม ในช่วงเวลางานก็จะเต็มที่กับงาน อย่างสมมติทำงานที่มหาวิทยาลัยก็จะมุ่งเต็มที่เลย และตอนเวลากลางคืนก็อาจจะแบ่งเวลาสักเล็กน้อยสักวันละหนึ่งถึงสองชั่วโมงมาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทบทวนความรู้ต่าง ๆ แต่ก็ไม่ลืมที่จะพักผ่อนด้วยครับ ก็จะมีช่วงมุมพักผ่อนในแต่ละวันเพื่อไม่ทำให้ตัวเองเครียดจนเกินไป ซึ่งการแบ่งเวลาอาจจะมากกว่าเดิมสักสองสามชั่วโมงต่อวันเพื่อเป็นการเพิ่มเติมความรู้องค์ใหม่ ๆ ครับ
ในแง่มุมของของการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ การเรียนรู้สิ่งอื่นนอกเหนือจากในคลาส มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน?
การเรียนรู้ในห้องเนี่ยบางทีเราอาจจะโดนจำกัดโดยองค์ความรู้ที่อาจารย์ผู้นั้นเป็นคนสอนดังนั้นเราควรที่จะเอาความรู้ที่ได้จากในห้องมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน ซึ่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเติมนอกห้องก็จะเป็นการต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง
เช่น การอ่านหนังสือหรือไปลงคอร์สหรืออะไรพวกนี้ก็ได้หลากหลายเลยครับ อย่างของผมก็อาจจะเกิดจากการทำงานจริง รับโปรเจกต์ใหม่ ๆ ขึ้นมา หรือเราก็ไปหาโจทย์จากภายนอก บางทีโจทย์เราอาจจะนึกไม่ออก เราก็อาจจะหาโจทย์จากภายนอก หาจากกลุ่มคอมมูนิตี้
ถ้าสมมุติเป็นเรื่อง AI เรื่อง Coding เนี่ย มันก็จะมี Community ที่เค้าทำงานอยู่ เราก็ไปดูซิว่า เค้ามีโจทย์ใหม่ ๆ โจทย์แปลก ๆ หรือการแก้ปัญหาอะไรที่ยังแก้ไม่ได้ แล้วเราก็ร่วมกันไปแก้ปัญหานั้น ก็จะเหมือนช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ของเราได้
การเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านนี้ให้กับคนทั่วไปหรือนักศึกษาได้รับทราบเนี่ย คิดว่ามีส่วนสำคัญหรือไม่?
ผมว่าเรื่องของการเผยแพร่ความรู้เนี่ย มีส่วนสำคัญมาก ๆ เพราะว่า หนึ่งเลย ถ้าอยากให้นักศึกษาไปอ่านใหม่ บางทีอาจจะเข้าใจช้า การที่เราได้เผยแพร่องค์ความรู้ไป ทำให้คนที่เข้ามาฟัง เข้ามาเรียนรู้ สามารถทำความเข้าใจเนื้อหานั้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถที่จะต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ ได้ดีกว่าคนที่เป็นคนสอนครับ ผมมองว่าจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก ๆ ถ้าสมมุติ เรานำองค์ความรู้ของผู้สอนมาปรับใช้ มันก็จะไปต่อยอดได้เร็วมากขึ้น ช่วยลดเวลาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากกว่า ดังนั้นการแชร์ข้อมูลจึงมีประโยชน์มาก
อยากฝากอะไรกับผู้ที่สนใจ หรืออยากฝากช่องทางการติดตามอาจารย์ไหมครับ?
ก็ติดตามได้ที่เฟซบุ๊กภาค วิชา วิศวกรรมไฟฟ้านะครับ แล้วก็จะมีอีกเฟซบุ๊กนึงก็จะเป็นของ Elu-Lab เป็นแล็บไฟฟ้าของสวทช. สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของแสงสว่างสำหรับมนุษย์ ก็สามารถมาพบกันได้ที่งานเสวนา Insight Series : Beyond Light ได้นะครับ ขอบคุณครับ
Categories
Hashtags