เปิดประตูสู่การเรียนรู้ หา Learning Style ของตัวเอง!
“การพัฒนาทางสติปัญญา ควรจะเริ่มเมื่อแรกเกิด และจะหยุดเมื่อชีวิตสิ้นสุดเท่านั้น” ประโยคหนึ่งของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์นามอุโฆษของโลก ได้กล่าวไว้เพื่อเปิดประตูสู่การเรียนรู้ของผู้คน ซึ่งเมื่อพูดถึง “การเรียนรู้” ผู้คนจำนวนไม่น้อยมักเข้าใจในทำนองว่าจะต้องจำกัดอยู่แค่ ณ สถานศึกษา ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นเพราะ การเรียนรู้ถือเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์อย่างยาวนาน มนุษย์สามารถแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา กล่าวคือ คนเราสามารถเรียนรู้กันได้ตลอดชีวิต
การเรียนรู้ หากจะนำมาขยายความให้เข้าใจได้ในภาพรวม สามารถทำความเข้าใจได้ว่า คือแนวทางการเพิ่มพูน ฟูมฟัก ความรู้ความสามารถ ความคิด สติปัญญา ทักษะ ประสบการณ์ รวมถึงพฤติกรรมของผู้เรียนให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ผ่านสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการมองเห็น การฟัง การอ่าน การรับรู้จากข้อผิดพลาดของตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น
ทว่า เมื่อเป็นผู้ที่ต้องการใฝ่เรียนรู้แล้ว แต่ละคน จะมีรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะที่แตกต่างกัน ไม่มีใครที่ใช้ความถนัดในการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งอยู่ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่จะใช้แบบผสมผสาน แต่จะมีรูปแบบที่แต่ละคนถนัดที่สุดซึ่งรูปแบบนั้นจะถูกมาใช้งานมากกว่ารูปแบบอื่นๆ และมีแนวโน้มที่จะลดทอนการใช้รูปแบบที่ไม่ถนัดลง จนบางโอกาส เราอาจละเลยการรับรู้ในรูปแบบอื่นๆ ไป
การที่แต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติการรับรู้ของตัวเอง ทั้งรูปแบบที่ตนเองถนัดและไม่ถนัด สามารถช่วยให้เราค้นพบตนเอง และนำความถนัดของแต่ละคนมาใช้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถฝึกฝนการเรียนรู้ในรูปแบบที่ไม่ค่อยถนัดให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มความยืนหยุ่นในการเรียนรู้ของตนเอง มีพัฒนาการและความก้าวหน้าได้เร็วมากยิ่งขึ้น และสามารถทำความเข้าใจรูปแบบการเรียนรู้ในภาพรวมได้ ซึ่งทำให้ตนเองสามารถจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเสริมการรับรู้และเรียนรู้ให้เหมาะสมที่สุดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเรียนรู้นั้นๆ ได้ดีขึ้นด้วย
เมื่อแต่ละคน มีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปตามความถนัดของตนเอง บางคนต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนมากกว่าเพื่อนร่วมคลาส บ้างก็เรียนแล้วงง ฟังในห้องบรรยายอาจไม่ค่อยมีสมาธิ บ้างก็เรียนรู้บางเรื่องได้ค่อนข้างช้า เพราะยังไม่เจอวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะกับตนเอง จึงเป็นเหตุที่ว่า เราควรให้ความสำคัญกับการค้นหา “วิธีเรียน” ที่ตรงตามความถนัดและความชอบของตนเอง สิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญอันจะนำไปสู่ความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันนี้ วิธีการสอนจึงต้องเปลี่ยนจากการบรรยายเพียงอย่างเดียว โดย กิ่งฟ้า และสุลัดดา (2545) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนจาก “การให้ความรู้” ไปสู่ “การก่อให้เกิดการเรียนรู้” ดังนั้น การเรียนรู้ควรมีหลากหลายรูปแบบ ให้ผู้เรียนมีกิจกรรม ได้ซักถาม แลกเปลี่ยน อภิปราย เรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถเชื่อมโยงตามความเข้าใจในเรื่องที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยผู้เรียนจะต้องเป็นผู้แสวงหาและสร้างความรู้ด้วยตนเอง
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เมื่อวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนมีการปรับเปลี่ยน บทบาทของผู้ให้ความรู้ก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน จากการบรรยายให้ผู้เรียนเพียงอย่างเดียว ปรับเป็นผู้อำนวยความสะดวก พยายามจัดเตรียมข้อมูล กิจกรรม และแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน โดยผู้สอนจะคอยกระตุ้น เร่งเร้า ตั้งประเด็น คำถาม เพื่อชี้แนะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
อย่างไรก็ดี กิจกรรมในชั้นเรียน รวมถึงนวัตกรรมการสอนต่างๆ มากมายตั้งแต่ยุคอดีตมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ละวิธีจะมีความเฉพาะเจาะจง มีจุดเด่น-จุดด้อย แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงมีนโยบายส่งเสริมวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายเข้ามารองรับ เพื่อเปิดช่องทางให้กับผู้เรียน ได้ค้นพบตนเอง สู่การเรียนรู้ที่เหมาะสม ด้วยกับ Teaching Learning Approaches ซึ่งเป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต่อนักศึกษาแต่ละคน อ่านแนวทางการจัดการเรียนการสอนได้ที่นี่ โดยมีแนวทางหลากหลายรูปแบบ เช่น การสอนแบบสัมมนา (Seminar) การใช้กรณีศึกษา (Case Study) การสะท้อนความคิด (Reflective Thinking) หรือ การศึกษาค้นคว้าโดยอิสระ (Independent Study) เป็นต้น
หากนำทั้งหมดมาจัดหมวดหมู่ สำหรับแบ่งรูปแบบการเรียนการสอน Teaching Learning Approaches โดยนิยามรูปแบบการเรียนการสอน 2 แบบ ได้แก่ Passive Learning และ Active Learning จะสามารถช่วยให้ผู้ที่ต้องการลองสิ่งใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง ได้เรียนรู้วิธีการในแต่ละหมวดหมู่ได้
ทั้งนี้ เราต้องมาทำความรู้กันก่อนสักเล็กน้อยเกี่ยวกับการเรียนรู้ระหว่าง Passive Learning กับ Active Learning
Passive Learning
คือ กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการฟัง การท่องจำ การเห็น การรับชม หรือก็คือเป็นการสอนแบบบรรยาย ที่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านทางการถ่ายทอดของผู้สอนเป็นหลัก ซึ่งเป็นวิธีที่พวกเราต่างมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งเหมาะสมกับผู้เรียนที่มีพื้นฐานความรู้ในเรื่องนั้นๆ ที่ดี มีความรับผิดชอบสูง ซึ่งผู้เรียนประเภทนี้ ไม่ว่าจะสอนแบบไหน หรือให้ค้นคว้าด้วยตนเอง ก็จะสามารถเรียนได้อย่างบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งแนวทาง Teaching Learning Approaches ที่อยู่ในหมวดหมู่ของ Passive Learning สามารถจำแนกได้ดังภาพ 1 ดังนี้
[ภาพที่ 1 Teaching Learning Approaches แบบ Passive Learning]
Active Learning
คือ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ แสดงความคิดเห็น และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้สอนรับทราบได้ว่า ใครเข้าใจหรือไม่เข้าใจ และสามารถแก้ไขแนวทางของแต่ละเนื้อหาได้ต่อเนื่องจนกระทั่งถึงช่วงสอบ เป็นกระบวนการสร้างองค์ความรู้ให้กับตัวผู้เรียนได้ลงมือคิด ลงมือทำ อภิปรายและมีกิจกรรมร่วมกันทั้งผู้เรียนและผู้สอน โดยแนวทาง Teaching Learning Approaches ที่อยู่ในหมวดหมู่ของ Passive Learning สามารถจำแนกได้ดังภาพ 2 ดังนี้
[ภาพที่ 2 Teaching Learning Approaches แบบ Active Learning]
จากวิธีการเรียนรู้ที่ได้นำเสนอไป จะเห็นได้ว่าทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้จัดแนวทางไว้เพื่อให้มีความครอบคลุมต่อกลุ่มผู้เรียนซึ่งปลูกฝังให้มีนิสัยรักการเรียนรู้ พร้อมสำหรับการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ ผู้ที่ชอบการเรียนรู้ด้วยตนเองและรักการเรียนรู้อยู่ตลอด มักมุ่งสู่การแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะเหล่านี้ ล้วนช่วยให้พวกเขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น รวมทั้งมีความมั่นใจ มีความสุขในการเรียน และประสบความสำเร็จในที่สุด
เป็นสิ่งที่การันตีได้ว่า ไม่ว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ของโลกจะไปเร็วแค่ไหน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผู้เรียนจะพร้อมรับมือ และไม่สุ่มเสี่ยงต่อการตามโลกไม่ทัน
ดังคำพูดของไอน์สไตน์ที่ได้หยิบยกมานำเสนอเมื่อตอนต้น “การพัฒนาทางสติปัญญา ควรจะเริ่มเมื่อแรกเกิด และจะหยุดเมื่อชีวิตสิ้นสุดเท่านั้น” เป็นที่ยืนยันอย่างชัดเจน ไม่ว่าเราต่างจะเป็นบุคคลใดใครก็ตาม จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก นักบาสเกตบอลเอ็นบีเอ นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ นักธุรกิจพันล้าน ไปจนกระทั่งพ่อค้าแม่ขายตามตลาดนัด ทุกสาขาอาชีพล้วนแล้วต้องการใช้วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อการเอาชีวิตรอดในยุคสมัยใหม่ทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ ใครที่หาตนเองเจอก่อน รู้วิธีการเรียนที่เหมาะสมกับตัวเองก่อน ก็เท่ากับนำหน้าคนอื่นไปก้าวหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย
เปิดประตูการเรียนรู้ มุ่งหน้าสู่อนาคตที่ดีครับ
Reference
1 : Jinnat. (4 พฤศจิกายน 2565). 3 เคล็ดลับการเรียนรู็ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้มากขึ้น. Learning Hub. 3 เคล็ดลับที่การเรียนรู้ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้มากขึ้น - Learninghubthailand
2 : Tat Jarusaksri. (ม.ป.ป.). รูปแบบการเรียนรู้. DiSC-U. DISC-U
3 : TUXSA Blog. (5 ตุลาคม 2565). วิธีเรียนแบบไหนที่เหมาะกับคุณ? รู้จัก 4 สไตล์การเรียนรู้ เพื่อหาวิธีเรียนที่ใช่ที่สุด. วิธีเรียนแบบไหนที่เหมาะกับคุณ? รู้จัก 4 สไตล์การเรียนรู้ เพื่อหาวิธีเรียนที่ใช่ที่สุด | TUXSA (skilllane.com)
4 : สมชาย รัตนทองคำ. (2556). เอกสารประกอบการสอน 475 788 การสอนทางกายภาพบำบัด ภาคต้นปีการศึกษา 2556. AMS KKU. D:\Box2Doc\aEdD\Th&dev\สุลัดดา\takehomSL
5 : อดิศักดิ์ จำปาทอง. (8 มิถุนายน 2564). Active Learning การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ.Knowledge Management Nation University. Active Learning การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ | Knowledge Management Nation University
6 : วิชาญ คงธรรม. (ม.ป.ป.). Active learning และ passive learning ส่งผลต่อผู้เรียนต่างกันมาก. surasitsongma.dusit. active-learning-และ-passive-learning-ส่งผลต่อผู้เรียนต่างกันมาก.pdf
Categories
Hashtags