"Stay Hungry, Stay Foolish"
คือหนึ่งในคำปราศรัยของ สตีฟ จ๊อบส์ ที่โด่งดังจนติดหูใครหลายๆ คน จากการ กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญต่อหน้าบัณฑิต มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดเมื่อปี ค.ศ. 2005 ซึ่งบ่งบอกให้บุคคลทุกชนชั้นที่แม้จะสำเร็จการศึกษาไปแล้ว แต่ยังคงส่งเสริมให้มีความกระหายต่อการแสวงหาความรู้ต่อไปตลอดชีวิต
ในประวัติศาสตร์ โลกของการทำงาน จำเป็นต้องมีลักษณะของการปรับตัวอย่างต่อเนื่องสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในหลากปัจจัย อาทิ เทคโนโลยี วัฒนธรรม การเมือง ตลอดจนเศรษฐกิจ การเรียนรู้ถึงความเปลี่ยนผันในอดีตขององค์กรการทำงานต่างๆ อาจนำไปสู่การทำความเข้าใจปัญหาในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะในการทำงานทุกวันนี้ต้องมีความสามารถหลากหลายด้าน เพื่อรองรับต่อการทำงานยุคศตวรรษที่ 21 ที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดสิ่ง ดังนั้น จึงต้องมีหลักๆ 3 สิ่ง ได้แก่ 1) ทักษะการเรียนรู้ ที่หมายถึงต้องมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 2) ทักษะการเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 3) ทักษะชีวิต เพื่อให้เข้าใจตนเองและรู้จักปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป (Siripop Somapa, 2567)
นอกเหนือจากทักษะการทำงานทางวิชาชีพ หรือเชิงฝีไม้ลายมืออย่าง "Hard Skill" การมีทัศนคติ-บุคลิกภาพ หรืออุปนิสัยที่ดีในภาพรวมเรียกว่า "Soft Skill" เมื่อมีทั้งสองสิ่งนี้ และได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจะถูกเรียกรวมว่า "สมรรถนะส่วนบุคคล" อันจะทำให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานอื่น ๆ ได้อย่างมืออาชีพ
สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้มีเครื่องมือในการพัฒนาสมรรถนะของบุคคล ที่เรียกว่า "Generic Competence" สมรรถนะทั่วไปที่ผู้เรียนรู้พึงมี เพื่อเป็นบุคลากรในสายวิชาชีพอื่น ๆ ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ อ่านเพิ่มเติม โดยประกอบไปด้วยทักษะในหลายๆ ด้าน ดังจะยกตัวอย่างทักษะที่สำคัญ เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการวางแผน หรือแม้แต่เรื่องของวาทศิลป์
จากแผนภาพด้านล่างอธิบายได้ว่า ทาง มจธ. ได้สร้างกรอบกำหนดไว้ใช้เป็นแนวทางสำหรับการออกแบบหลักสูตร เพื่อตอบสนองความคาดหวังของมหาวิทยาลัย โดยอิงจากทักษะต่างๆ ที่จะมีขึ้นในตัวบัณฑิต ระดับการพัฒนา หรือตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในทักษะที่เกี่ยวข้อง และเกณฑ์ต่างๆ สามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับประเมินผลระดับการพัฒนาความสามารถของนักศึกษาที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
และในบทบาทขององค์กรสมัยใหม่ กลุ่มอุตสาหกรรมการทำงานต่างๆ ได้มีการจัดตั้งระบบ "Skill Mapping" หรือ "แผนที่ทักษะ" ขึ้นมา เพื่อทำการสำรวจความต้องการทักษะการทำงานในแต่ละสาขาอาชีพ โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศนโยบายสำคัญสนับสนุนให้มหาวิทยาลัย จัดทำ Skill Mapping เพื่อระบุทักษะที่มีความจำเป็นในอาชีพขององค์กรสมัยใหม่
Skill Mapping คืออะไร?
การจับคู่ทักษะของบุคคลให้เข้ากับอาชีพ โดยจะนำข้อมูลจากผลการสำรวจความต้องการของภาคธุรกิจ และจากฐานข้อมูลการทำงานระดับโลก มาวิเคราะห์ทักษะที่นักศึกษาในปัจจุบันควรมี สถาบันทางการศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงกับทักษะของตลาดแรงงานที่ต้องการใช้วิทยาการข้อมูล (Data Science) ประมวลผลข้อมูลความต้องการและทักษะผู้ปฏิบัติงานที่ได้จากการจัดเก็บ ทั้งจากผู้ใช้งานโดยตรง รวมถึงแหล่งข้อมูลอื่น ที่ได้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงสภาวิชาชีพสายงานต่างๆ ร่วมกับฐานข้อมูลภายนอกอื่นๆ เช่น เว็บไซต์ ลิงก์อิน (LinkedIn) จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) นำมารวบรวมและกลั่นกรองก่อนประมวลผลออกมาเป็นฐานข้อมูลกรอบทักษะที่แต่ละสายอาชีพต้องการ
ทักษะที่ตลาดยังต้องการอีกมาก?
บทบาทของแต่ละตำแหน่งงานในองค์กรจะมีทักษะที่เป็นรายละเอียดยิบย่อยอีกเป็นจำนวนมากที่พนักงานต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เรื่องนี้ เว็บไซต์ disprz.ai ได้รายงานสถิติหนึ่ง ที่ระบุไว้ ความว่า "พนักงาน 58% ต้องการทักษะใหม่เพื่อให้ทำงานสำเร็จ และในจำนวนทักษะที่ความจำเป็นนั้นมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 10% ทุกปีนับตั้งแต่ปี 2017" จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นอย่างชัดเจนว่า ความจำเป็นในการเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรในยุคปัจจุบันนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคน
การจัดการทักษะยังเป็นส่วนสำคัญของการฝึกอบรม การเรียนรู้ และการพัฒนา ซึ่งการหันมาใช้ระบบของการจัดทำ Skill Mapping สามารถช่วยให้ทราบได้อย่างชัดเจนว่า ในคณะทำงานของตนเอง มีทักษะอะไรบ้างที่จะช่วยให้ก้าวข้ามผ่านในยุคที่มีการเปลี่ยนผันไปอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่า "ยุคห่งการดิสรัปท์" ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุใดการทำ Skill Mapping ของพนักงาน จึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นสำหรับทุกๆ องค์กรไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรูปแบบก็ตาม
สำหรับการทำ Skill Mapping ยังมีความแตกต่างกันออกไปตามความต้องการทราบข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่แต่ละหน่าวยงานต้องการบรรลุ เช่น การจัดหมวดหมู่ตามรูปแบบงาน ตามประสิทธิภาพการทำงาน การจัดทักษะตามสมรรถนะ แผนผังระบุตามความสามารถ หรือแผนผังระบุทักษะของแต่ละอาชีพ ซึ่งหลักๆ แล้ว การทำ Skill Mapping เพื่อนำไปพัฒนาองค์กร มีประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนอยู่ 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1. เป็นการระบุช่องว่างทางทักษะ
เมื่อองค์กรได้ทำการสำรวจ/รวบรวม ทักษะของพนักงาน ด้านนี้สามารถช่วยเหลือให้รู้ว่าช่องว่างทางทักษะของพนะกงานแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความสอดคล้องกับงานที่ทำอยู่ในบทบาทขององค์กรหรือไม่ การประเมิน หรือการตรวจสอบของผู้จัดการ มักใช้เพื่อระบุช่องว่างทางทักษะ การได้รับทราบว่าระดับความสามารถและช่องเป็นอย่างไรนั้น ช่วยทำให้รู้ถึงการกำหนดว่าพนักงานคนนั้นๆ ควรจะพัฒนาทักษะในด้านใดเพิ่มเติม หรือว่าจ้างบุคลากรใหม่เข้ามา เพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้
2. การวางแผนสำหรับสืบทอดตำแหน่ง
ในการทำงานยุคปัจจุบัน คนจำนวนไม่น้อย ที่มักออกจากองค์กรเดิม ไปสู่องค์กรใหม่ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม หากแต่สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่า ไม่มีใครที่จะสามารถอยู่กับองค์กรเดิมได้ตลอดไป (ไม่ว่าจะย้ายงาน หรือจนปลดวัยเกษียณ) เมื่อมีคนก้าวออก องค์กรก็จำเป็นต้องหาบุคลากรเข้ามาแทนที่ การทำ Skill Mapping ช่วยให้สามารถระบุพนักงานที่มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งใหม่ รวมไปถึงการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในองค์กรได้ เมื่อมีฐานข้อมูลทักษะของพนักงาน ผู้ที่สรรหาพนักงานจะเห็นความสามารถที่หลากหลายของบุคลากร โดยไม่จำเป็นต้องเฟ้นหาบุคลากรพรสวรรค์ใหม่ เมื่อต้องดำเนินการวางแผนเพื่อสืบทอดตำแหน่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งที่มีความสำคัญมากๆ ต่อองค์กร)
3. เพิ่มการมีส่วนร่วม และการรักษาพนักงานให้คงอยู่กับองค์กร
การสร้าง Skill Mapping ช่วยเพิ่มความพึงพอใจในหน้าที่การงาน และการมีส่วนร่วมของพนักงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่การเติบโตและผลผลิตทางธุรกิจที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังแสดงเส้นทางของพนักงานในองค์กรอีกด้วย การจัดแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของพนักงาน สามารถกระตุ้นให้บุคลากรเหล่านี้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และต่อยอดพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทั้งกับตัวพนักงานเองและกับองค์กรเช่นเดียวกัน
4. การบริหารจัดการบุคลากรที่มีความสามารถ
การมองเห็นทักษะความสามารถอย่างชัดเจน ช่วยให้องค์กรตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าจะจ้างบุคลากรคนใด และควรเลื่อนตำแหน่งให้กับบุคลากรคนใด เมื่อรู้ว่าพนักงานคนใดมีทักษะอะไรบ้าง จะสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการมอบตำแหน่งงานและพัฒนาทักษะของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านใดก็ตามแต่
5. ติดตามความคืบหน้าของทีมงานเป็นการเฉพาะ
การติดตามความคืบหน้า เป็นวิธีที่ดีในการตรวจสอบว่าทุกอย่างกำลังดำเนินไปอย่างไร การติดตามทักษะ ติดตามว่าใครทำงานแบบไหน ทีมต่างๆ ทำงานอย่างไร และคาดหวังอะไรจากแผนกหนึ่งเมื่อเทียบกับอีกแผนก
ซึ่งจากประโยชน์ทั้ง 5 ข้อตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ช่วยให้เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าทักษะความสามารถของบุคลากรแต่ละคน จะส่งผลต่อองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความท้าทายของการทำ Skill Mapping ก็ย่อมต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน ข้อมูลนั้นต้องมีความถูกต้อง ไม่ลำเอียง บทบาทสมัยใหม่ มักต้องการทักษะที่หลากหลายมากกว่ายุคก่อน และบางครั้ง พนักงานอาจไม่เห็นด้วยกับการทำ Skill Mapping เนื่องจากอาจมีความกังวล ในส่วนของจุดอ่อนที่ถูกเปิดเผย การสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประโยชน์ของตัวพนักงานเองและองค์กรสามารถช่วยให้เอาชนะปัญหานี้ไปได้ การสร้างความมั่นใจและแสดงให้เห็นถึงการทำสิ่งเหล่านี้ จะเป็นการช่วยสนับสนุนการเติบโตในอาชีพการงานได้มากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง การให้ความสำคัญต่อ Skill Mapping จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ทั้งตัวผู้สมัครงาน ผู้ประกอบการ องค์กรต่างๆ ไปจนถึงการพัฒนาคุณภาพของประชากรในประเทศ ที่ควรค่าแก่การศึกษาและลงมือดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน อาชีพยอดนิยมหลายๆ อย่าง จึงล้วนควรมีการทำแบบแผนแสดงทักษะดังกล่าวนี้ เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น งานในปัจจุบัน คนเจน Z ประสงค์อยากประกอบอาชีพเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ทีนี้เราจึงต้องมาเจาะลึกกันต่อ ถึงทักษะที่ควรมีในการปรอบอาชีพนี้ที่ต้องการ เช่น ทักษะด้านการออกแบบ ด้านการใช้งานโปรแกรมต่างๆ ไปจนถึงรายละเอียดปลีกย่อยหรือความสามารถอื่นเพิ่มเติมอย่างการตัดต่อวิดีโอ สิ่งเหล่านี้ หากผู้ประกอบการมองเห็นจากตัวผู้สมัครงาน ก็จะยิ่งสามารถเฟ้นหาบุคลากรที่มีศักยภาพตรงกันกับที่องค์กรต้องการได้
จากที่อ่านมาทั้งหมด หากจะนำมาปรับใช้กับตนเอง ผู้อ่านมีสกิลอะไรบ้าง? มีอาชีพใดที่อยากประกอบ? แล้วสาขาอาชีพนั้น เหมาะกับความสามารถของเรา ณ ตอนนี้หรือไม่? แล้วถ้ายังไม่เหมาะ เราควรพัฒนาตัวเองต่อไปทางไหน? บทความชิ้นนี้ จึงพาทุกคนกลับมาลองทบทวนตนเองกันดูครับ และขอให้โชคดีกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ตลอกจนการประกอบอาชีพในภายภาคหน้า
อย่างน้อยๆ กลับมาปิดท้ายบทความด้วยประโยคในตำนานอีกครั้งครับ
"Stay Hungry, Stay Foolish"
Reference
1 : Creative Talk. (17 สิงหาคม 2564). บทเรียนที่ได้จากสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของ Steve Jobs. Creative Talk. https://creativetalkconference.com/steve-jobs-speech-at-standford/
2 : Melvin Kranzberg, Michael T. Hannan. (n.d.). history of the organization of work. Britannica Money. https://www.britannica.com/money/history-of-the-organization-of-work
3 : Siripop Somapa. (6 กรกฎาคม 2567). 21st Century Skills ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21. Smart-icamp. https://shorturl.asia/sP2lp
4 : Professional One. (11 ตุลาคม 2566). 10 ทักษะที่เด็กจบใหม่ควรรู้ก่อนเริ่มชีวิตการทำงาน. Professional one. https://shorturl.asia/u5kGM
5 : KMUTT c4ed. (2017). KMUTT Generic Competence Rubric. https://www.c4ed.kmutt.ac.th/_files/ugd/326b95_b0a061cdeeea48e6834b326efdd347d7.pdf
6 : ประชาชาติธุรกิจ. (11 กุมภาพันธ์ 2567). ทำความรู้จัก Skill Mapping ระบบสำรวจทักษะงาน นโยบายของ อว.. PRACHACHAT.net. https://shorturl.asia/qHZU4
7 : Sindhuja Ramakrishnan. (12 September 2024). 5 Benefits of Skill Mapping for Employee Development. disprz. https://disprz.ai/blog/skill-mapping
8 : KMITL. (1 มกราคม 2567). Skill Mapping. KMITL พระจอมเกล้าลาดกระบัง. https://skill.kmitl.ac.th/charts
Categories
Hashtags