ว่าด้วยศตรรษที่ 21 ทักษะใดบ้างที่ควรมี ?
Published: 21 October 2024
7 views

ว่าด้วยศตรรษที่ 21 กับทักษะที่ควรมี ?  


ในยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมโลกและสังคมไทย กำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อันเป็นยุคที่มีความสลับซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เด็กยุคใหม่ ที่กำลังจะจบหรือจบการศึกษามาแล้ว จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมทักษะของตนเอง ให้กลายเป็นผลผลิตที่มีความสามารถสอดคล้องต่อกระแสโลกาภิวัฒน์และบริบททางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

กฎ กติการูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก หลายๆ ด้าน ส่งผลให้ทุกประเทศต้องมีการปรับตัว วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน สิ่งเเวดล้อม และสังคมเพื่อการจัดระเบียบใหม่ที่สำคัญของโลก มิหนำซ้ำ ยังรวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศสำคัญๆ ในโลก มีผลกระทบต่อการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศ เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม ขณะที่โครงสร้างการผลิต ปรับเปลี่ยนจากการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น มาเป็นการใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น 

ด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งตอบสนองต่อการดำรงชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำงานของสมองและสุขภาพจิต ที่เป็นทั้งโอกาส และภัยคุกคามต่อการพัฒนา ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จากมนุษย์บ้าน กลายเป็นมนุษย์ที่มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การที่มนุษย์จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับแต่ละยุคสมัย กล่าวคือ ปัจจุบันนี้จะต้องมีการพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 นั่นเอง 

ความท้าทายของประเทศไทยคือ จะทำอย่างไรจึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในชั้นเรียนทั่วประเทศ และเราจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนให้มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะและทักษะของผู้เรียนได้อย่างไร การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นกรอบที่กำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางในการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้และผลลัพธ์ที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ดังนั้น กระบวนการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาจึงควรจะนำไปสู่การปลูกฝังความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยมต่าง ๆ ที่เยาวชนจำเป็นต้องมี เพื่อให้พวกเขาเติบโตได้ ไม่ใช่แค่ในโลกปัจจุบัน แต่รวมถึงอนาคต 

ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงริเริ่มการพัฒนาหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ ที่จะไม่ใช่แค่การมอบความรู้ในด้านนั้นๆ เพียงอย่างเดียว หากแต่มุ้งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะชีวิตให้ผู้เรียนมีความพร้อมต่ออการประกอบอาชีพ เพื่อขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ครอบคัว ชุมชน องค์กร ไปจนถึงประเทศชาติ 

โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในด้านของทัศนคติหรือกระบวนการคิด ทั้งในด้าน Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) Analytical Thinking (การคิดเชิงวิเคราะห์) Systemic Thinking (การคิดเชิงระบบ) Creative Thinking (ความคิดสร้างสรรค์) Problem-Solving (กระบวนการแก้ไขปัญหา) รวมถึง Learning Orientation (การมุ่งเน้นที่การเรียนรู้) และยังมีอีกหลากหลายด้านที่ทางมหาวิทยาลัย ต้องการปลูกฝังอุปนิสัยที่ดีให้กับนักศึกษา อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ซึ่งทำไปเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ ให้แนวทาง จุดประกายไฟ สร้างแรงบันดาลใจ และมอบความไว้วางใจให้คนรุ่นใหม่ เมื่อแนวทางของพวกเขาสามารถจุดประกายขึ้นมาได้ พวกเขาจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ออกมาเสมอ 


ทักษะที่ควรมีติดตัว? 


ด้วยกับกระแสยุคโลกาภิวัฒน์มีผลกระทบกับเศรษฐกิจและการศึกษาอย่างชัดเจน ส่งผลให้บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนไป ทักษะความสามารถในศตวรรษที่ 21 ทางเว็บไซต์ Smart-i-Camp ได้แบ่งออกเป็น 3 ทักษะหลักๆ ได้ดังนี้ 

1. ทักษะการเรียนรู้ : เป็นหนึ่งในทักษะที่ก่อให้เกิดอุปนิสัยที่รักการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ แม้จะออกไปจากมหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม ซึ่งในส่วนนี้ กินความรวมไปที่ ทักษะหลายๆ อย่าง เช่น 

- ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ทำให้คน "คิดเป็น" เป็นกระบวนการเรียนรู้ซึ่งประเด็นปัญหา สืบค้นข้อมูลโดยปราศจากอคติ ก่อนจะตัดสินใจเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 

- ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Teamwork) การมีความเห็นอกเห็นใจ การมีทัศนคติที่ดีต่อทีม และรวมถึงการมุ่งหวังผลประโยชน์ที่ดีให้กับทุกฝ่าย

- ความคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) การมีความคิดสร้างสรรค์ในความหมายของ การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในความหมายของ ความคิดแง่บวกและการกระทำที่ไม่ให้ร้ายใคร ไม่ทำลายล้าง อันเป็นคุณธรรมการคิดที่สำคัญกำกับหรือเป็นฐานคิดรวมอยู่ด้วย มิเช่นนั้นแล้วอาจนำสู่สถานการณ์ที่มีปัญหา ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

- ทักษะการสื่อสาร/ใช้คำพูด (Verbal Skills) คือทักษะพื้นฐานที่สำคัญไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมใดๆ แต่กลับเป็นสิ่งที่หลายองค์กรลืมที่จะให้ความสำคัญ ก่อให้เกิดปัญหาการสื่อสารและการเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ทั้งการพูด การเขียน การนำเสนอ หรือการใช้เครื่องมือ 

2. ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล : เป็นทักษะด้านดิจิทัลพื้นฐานที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการปฏิบัติงาน การสื่อสาร และการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในลักษณะ “ทำน้อย ได้มาก” และยังเป็นเครื่องมือช่วยให้บุคลากร สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ เช่น

- Analytical Thinking หรือ ความรู้ความเข้าใจข้อมูล สามารถแยกแยะข้อมูลจริงและเท็จแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้ 

- Innovation  หรือ การตอบสนอง/มองเห็น ความต้องการของตนเองและความต้องการส่วนบุคคล องค์กร และสังคมได้ดี ปรับเปลี่ยนหรือแนะนำสิ่งใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาองค์กรและนำไปสู่ผลลัพธ์การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

- ICT Literacy  หรือ ความรู้ความเข้าใจในคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง สามารถเข้าใจภาษาที่ใช้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้

3. ทักษะชีวิต : เข้าใจตนเองและรู้จักปรับตัวเข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่ผู้เรียนควรมีในการดำเนินชีวิต เช่น 

-  Adaptability and flexibility หรือ ความยืดหยุ่น ปรับตัว ปรับใจ ปรับวิธีการ รับมือความเปลี่ยนแปลงได้

- Leadership หรือ ทักษะความเป็นผู้นำ คือ รู้จักนำ รู้จักตาม รับฟัง ประสานประโยชน์ของแต่ละฝ่าย

- Planning หรือ การใช้ชีวิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด มีการวางแผน เช่นการมีเป้าหมาย มีวินัย และการบริหารเวลา

- Diversity Interculturality and Internationalization หรือ ทักษะทางด้านสังคมที่นำไปสู่การทำความเข้าใจต่อความหลากหลาย


และทั้งหมดนี้ ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น ที่จะสามารถทำให้คนๆ หนึ่ง พัฒนาจนกลายเป็นบุคลากรคุณภาพ ที่สามารถเอาตัวรอดในศตวรรษที่ 21 นี้ได้ แต่...หากจะให้กล่าวว่าสิ่งใดสำคัญที่สุดนั้น คงต้องมุ่งไปที่ทักษะ "การรู้จักตนเอง" 


"การรู้จักตนเอง คือทักษะที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21"


หนึ่งในประโยคสำคัญของ ดร. ทาชา ยูริค (Tasha Eurich) ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Havard Business Review ซึ่งท่านได้กล่าวต่อว่า "การรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ คนที่รู้จักตนเองจะเป็นคนที่ทำงานได้ดีกว่า มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ดีกว่า สื่อสารกับคนอื่นได้ดีกว่า มีอิทธิพลต่อคนอื่นมากกว่า และมีความสัมพันธ์ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวดีกว่า ทำให้คนเหล่านี้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำมากกว่า" โดยสถิติหนึ่งในงานวิจัยที่ ดร.ยูริค หยิบยกมาสนับสนุนคำพูดของตนเองนั้น คือ "คนจำนวน 95% บอกว่ารู้จักตัวเองเป็นอย่างดี แต่เมื่อไปทำการทดสอบต่างๆ ว่ารู้จักตัวเองจริงไหม กลับพบว่า มีเพียงแค่ 10-15 % เท่านั้นที่รู้จักตัวเองจริงๆ กล่าวคือ คนกว่า 80-90% นั้น ที่บอกว่ารู้จักตัวเองดีแล้ว ประเมินตนเองผิดคาดไปไกลเกินสมควร


ในการทำความรู้จักตนเองนั้น ดร.ยูริค จำแนกออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ 

- Internal Self-Awareness หมายถึง การรู้จักตัวเองด้วยการเข้าใจตัวเอง ซึ่งก็คือการรู้เกี่ยวกับตัวเอง เช่น เราเป็นยังไง? บุคลิกภาพของเราเป็นอย่างไร? ชอบการทำงานสภาพแวดล้อมแบบไหน? และอีกหลายๆ คำถามเกี่ยวกับตนเอง หากเราเองยังตอบกับตัวเองไม่ได้ หมายความว่า เรายังไม่มี Internal Self-Awareness เท่าที่ควร

- External Self-Awarness หมายถึง การรู้จักตนเองผ่านคนรอบตัว คือความสามารถที่จะรับรู้ผ่านสิ่งที่คนอื่นเห็นเราได้ โดยสิ่งที่มีความจำเป็นเลยคือ "การรับฟัง" เพราะเป็นหนึ่งในสกิลที่หากขาดไปแล้ว นั่นหมายความว่า เราได้ตัด External Self-Awareness ออกจากตนเองไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในองค์กรและอาจเป็นผลเสียอีกทอดหนึ่งในอนาคต 


ตามที่กล่าวมาตั่งแต่ต้น ทักษะดังกล่าว คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า "ไม่มีความจำเป็น" ต่อการพัฒนาตนเองในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการรู้จักตนเอง ผู้ที่แสวงหาคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์มากกว่า มีวุฒิภาวะมากกว่า มีความสามารถมากกว่า จึงเป็นแต้มต่อสำคัญ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะอื่นๆ ได้ การเดินทางสู่การตระหนักรู้ในตนเอง จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด การรู้จักตนเองเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนกันได้ 

หากท่านใดอ่านแล้ว ยังขาดทักษะแขนงไหนอยู่ ก็ถึงเวลาแล้วครับ ที่จะต้องพัฒนาตนเองในจุดนั้นๆ แต่หากว่าสกิลที่ขาดไป คือการ "ตระหนักรู้ในตนเอง" หลังจากอ่านบทความชิ้นนี้จบ ลองหาใครสักคนที่มีเลเวลสูงกว่าตัวเอง และเป็นคนที่หวังดีกับเรา ถามพวกเขาดูครับ ว่ามีคำแนะนำอะไรให้เราไหม จะเป็นคำแนะนำด้านใดก็ได้ครับ ด้านรูปลักษณ์ภายนอก ด้านความคิด ด้านการพูด หรือด้านใดก็ตามแต่ เพียงเท่านี้ ก็ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาตนเองแล้วครับ


เรียนรู้ พัฒนา และปรับตัว สู่ยุคศตรรษที่ 21 ไปพร้อมๆ กันครับ



Reference

1 : อดุลย์ วังศรีคูณ. (2557). การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 : ผลผลิตและแนวทางการพัฒนา. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, 8(1), 1-17. 

2 : Hugh Delaney. (22 April 2019). Education for the 21st Century Placing skills development at the heart of education. unicef. https://www.unicef.org/thailand/stories/education-21st-century 

3 : KMUTT c4ed. (2017). KMUTT Generic Competence Rubric. https://www.c4ed.kmutt.ac.th/_files/ugd/326b95_b0a061cdeeea48e6834b326efdd347d7.pdf

4 : Siripop Somapa. (6 กรกฎาคม 2567). 21st Century Skills ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21. Smart-icamp. https://shorturl.asia/sP2lp

5 : DRDANCANDO. (11 สิงหาคม 2560). สร้างสรรค์สิ่งใหม่ : ฮาร์วาร์ดส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์. drdancando.com. https://shorturl.asia/TqGzj

6 : อานันท์ กุลปิยะวาจา. (29 สิงหาคม 2567). Communication Skills คืออะไร? เจาะ 5 ทักษะการสื่อสารที่จะบูสต์ศักยภาพให้ทีมของคุณ. Base Playhouse. https://www.baseplayhouse.co/blog/5-communication-skills

7 : สุภาพรรณ อนุตรกุล. (25 พฤศจิกายน 2564). ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy). มหาวิทยาลัยแม่โจ้. https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=1246 

8 : รวิศ หาญอุตสาหะ. (2563). Super Productive (พิมพ์ครั้งที่ 12). สำนักพิมพ์ KOOB. 

9 : Tasha Eurich. (4 January 2018). What Self-Awareness Really Is (and How to Cultivate It). Havard Business Review. https://hbr.org/2018/01/what-self-awareness-really-is-and-how-to-cultivate-it

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...