วิธีการสอนโดยใช้กรณีศึกษา: เปิดโลกการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง
“The only source of knowledge is experience.”
“แหล่งความรู้ที่แท้จริงมีเพียงสิ่งเดียว คือประสบการณ์"
– Albert Einstien
เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่ยุคสมัยใหม่กันอยางไม่อาจเลี่ยงได้ บุคคลที่จะรอดหรือร่วง ล้วนเทียบได้กับแต่ละปัจเจกว่าจะสามารถปรับตัวต่อสภาพการณ์ของแต่ละยุคสมัยใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน บางคนก็สามารปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว บางคนก็อาจใช้เวลา หรือบางคนที่อาจไม่สามารถปรับตัวตนเข้ากับสภาพสังคมยุคใหม่ได้เลย นั่นจึงเป็นเหตุให้ท้ายที่สุดแล้ว บุคคลผู้ที่มิอาจพัฒนาความสามารถหรือทัศนคติของตนเองให้ไปด้วยกันกับยุคสมัยได้นั้น โดยมากล้วนตกไปสู่ภาวะการตามยุคไม่ทันในที่สุด
เหตุนี้ การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเมื่อเข้าสู่ยุคที่เต็มไปด้วยความรวดเร็ว การฝึกฝนทักษะอาจไม่ใช่สิ่งแรกที่ควรแก่การพัฒนาหรือปรับปรุง หากแต่สิ่งแรกนั้นเล็งเห็นว่าเป็นทัศนคติที่จำเป็นต้องกับมาหมั่นเช็คกันโดยด่วน ผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่เมื่อประสบความสำเร็จในด้านหนึ่ง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเขากลับตกยุคตามไม่ทัน นั่นเป็นเพราะการมีทัศนคติที่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมนั้นๆ จนไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ อย่างเช่น กรณีของแบรนด์โทรศัพท์มือถือ ที่เมื่อก่อนรุ่นปุ่มกดล้วนเป็นที่นิยม แต่เมื่อยุคที่สมาร์ทโฟนจอสัมผัสลื่นไหลเข้าครอบงำ แบรนด์ใดก็ตามแต่ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ตรงกับความต้องการใหม่ของลูกค้าได้ก็ย่อมตกไปสู่ความยากลำบากในการเอาตัวรอดเป็นที่สุด
เมื่อทราบว่าการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ จึงเป็นเหตุจำเป็นที่บรรดานักศึกษาผู้แสวงหาความรู้ จำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวทางการเรียนรู้ให้หลากหลายมากกว่าแต่ก่อนที่มีเพียงการบรรยายในคลาสเรียนเท่านั้น ซึ่งกรณีที่จะกล่าวถึงนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถหยิบมาใช้ได้ตลอดชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเฉพาะคลาสเรียน หากแต่เพียงเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ ก็สามารถนำสิ่งที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลมาเป็นการเรียนรู้ได้ ซึ่งเรียกกันว่า การสอนแบบใช้กรณีศึกษา – Case Study
ว่าด้วยการสอนแบบกรณีศึกษา
สามารถให้ความหมายในการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวได้ว่า เป็นการสอนโดยอ้างถึงรายละเอียดของสถานการณ์ ปัญหา หรือเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นแล้ว หรือสมมติขึ้นมาโดยอ้างอิงจากสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้สูง โดยผู้สอนจะใช้ยกตัวอย่างเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด หรือให้เข้าใจได้โดยง่าย ก็คือ เป็นวิธีที่เน้นการนำเอาสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในองค์กร ธุรกิจ หรือแม้แต่ชีวิตประจำวัน โดยผู้เรียนจะต้องทำการวิเคราะห์สถานการณ์นั้นๆ อย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของปัญหา แนวทางแก้ไขและข้อเสนอแนะต่างๆ
การเรียนการสอนด้วยกรณีศึกษา ถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการแก้ปัญหา ช่วยพัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ ทั้งด้านความรู้ การคิดวิเคราะห์ การประยุกต์ การตัดสินใจ หรือกระทั่งทักษะทางสังคม
ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราต่างทราบว่า รูปแบบการเรียนการสอนด้วยกรณีศึกษา เป็นการจัดการเรียนการสอนที่นำเสนอเหตุการณ์ สถานการณ์ หรือการจำลองสภาพการณ์ที่เหมือนจริง ในรูปแบบสื่อที่หลากหลาย อาจมาเป็นข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วีดิทัศน์ โดยให้ข้อมูลรายละเอียดที่ครบถ้วน เพื่อจัดหาสถานการณ์ให้ผู้เรียนตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการเรียน โดยเน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษา แลกเปลี่ยนความเห็น คิดวิเคราะห์ตามแต่ละสถานการณ์ แล้วสรุปแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาตามทัศนะของตนเองด้วยความเหมาะสม ซึ่งเป็นการสอนที่ต้องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน
จะนำมาประยุกต์ใช้อย่างไรดี
ตามที่ผู้เขียนสืบค้นและแต่ละแหล่งข้อมูลก็ล้วนมีความสอดคล้องกันเกี่ยวกับแนวทางการนำไปใช้ แต่ก็ไม่มีความคล้ายคลึงไปเสียทั้งหมด ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนจึงขอนำมาเรียบเรียงให้เข้าใจโดยทั่วกันผ่านการศึกษาจากแหล่งข้อมูลหลายๆ แหล่งและนำมาสรุปได้โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนเพื่อนำไปใช้ได้ดังนี้
1. เตรียมกรณีศึกษา : ผู้สอนจำเป็นต้องเลือกหรือจัดทำกรณีศึกษา ที่เหมาะสมกับเนื้อหาวิชาและระดับของผู้เรียน กรณีศึกษาควรมีข้อมูลที่ครบถ้วน สมจริง และเป็นกรณีที่ท้าทายความคิด ซ้ำยังเป็นเรื่องที่เปิดโอกาสให้วิเคราะห์ได้หลายมุมมอง
2. มอบหมายให้ศึกษาและเตรียมความพร้อม : ผู้เรียนควรได้รับรู้ถึงกรณีศึกษาเพื่อนำมาเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจ และเตรียมคำตอบไว้เบื้องต้น (หรือเรียกว่าเก็งคำตอบไว้ก่อน) โดยอาจหยิบมาวิเคราะห์ปัญหา ระบุประเด็นสำคัญ และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม
3. อภิปรายในชั้นเรียน : ขั้นตอนนี้ผู้สอนควรแก่การกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิด วิเคราะห์กรณีจากหลายๆ มุมมอง และถกเถียงกันถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา จุดสำคัญคือการตั้งคำถามปลายเปิดที่ช่วยให้ผู้เรียนขยายความคิดและฝึกใช้เหตุผล
4. สรุปบทเรียนและสะท้อนความคิด : หลังจากผู้เรียนอภิปราย ผู้สอนควรช่วยสรุปแนวคิดที่สำคัญ ข้อสังเกตและข้อคิดจากการอภิปราย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดของตนเองและเรียนรู้จากเพื่อนร่วมชั้น
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ว่าการใช้กรณีศึกษามาเป็นแนวทางในการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่สามารถช่วยผู้เรียนเห็นภาพได้สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่สมจริงผ่านสถานการณ์นั้นๆ การสอนในลักษณะนี้จึงนับว่าเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่มีพลังมากในการพัฒนาทักษะหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่อะไรๆ ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปเสียหมด การสอนเช่นนี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความเข้าใจในเนื้อหา แต่ยังช่วยปลูกฝังวิธีคิดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคตอย่างยั่งยืนด้วย
Reference
1 : BrainyQuote. (n.d.). Albert Einstein Quotes. Albert Einstein - The only source of knowledge is...
2 : ปรียา สมพืช. (2559). การจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนด้วยกรณีศึกษา. วารสารวิจัยราชภัฎพระนคร สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 11(2), 260-270.
3 : Narong Kanchana. (ม.ป.ป.). วิธีสอน (Teaching Methods). Blogger. วิธีสอน (Teaching Methods): กรณีตัวอย่าง
4 : Starfish Labz. (ม.ป.ป.). จัดการเรียนรู้ผ่าน Case Study เปิดมุมมองใหม่จากสถานการณ์จริง. บทความ - จัดการเรียนรู้ผ่าน Case Study เปิดมุมมองใหม่จากสถานการณ์จริง
Categories
Hashtags