การเดินทางท่องโลก กับ Self-Directed Learning ไม่สัมพันธ์กัน จริงหรือ?
“การเดินทาง มักเปลี่ยนตัวตนของเรา เมื่อเราเลือกที่จะดื่มด่ำหลงใหลการท่องโลกกว้าง ยามกลับสู่ถิ่นฐาน ตัวตนเราย่อมเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปเป็นมนุษย์ที่มีความมั่นใจมากขึ้น เป็นอิสระ และตระหนักรู้ในตนเอง รวมถึงเป็นคนที่ดีขึ้นในหลายๆ มิติ”
เป็นประโยคหนึ่งที่เชื่อว่าหลายๆ ท่านมักเคยอ่าน พบ เจอ หรือได้ยินคำพูดในทำนองนี้ ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่จุดที่น่าย้อนกลับมาสังเกตคือ มนุษย์ทุกคน ย่อมรักในการออกไปท่องโลกกว้าง แต่ทำไมผลลัพธ์ในการเดินทางของแต่ละคนจึงต่างกัน? ทำไมบางคนที่เดินทางแค่ในประเทศ กลับได้รับอะไรจากการเดินทางมากกว่าไปหลายๆ ประเทศ? ทำไมบางคนที่ใช้จ่ายอย่างประหยัดในการเดินทางแต่ละครั้ง ถึงมีความสุขกว่าคนที่ใช้จ่ายเพื่อให้การเดินทางแต่ละครั้งเพื่อให้มีความสุขสบาย? และทำไม การเดินทางของใครหลายๆ คน ถึงไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทั้งที่ได้ไปในที่ที่อยากจะไป?
ว่าแล้วก็…ฟังดูย้อนแย้งกับหลายๆ อย่าง แต่คงกลับมาสรุปเป็นคำถามรวบยอดสั้นๆ แล้วกันครับว่า “การเดินทางที่เปลี่ยนแปลงชีวิต คืออะไร?”
บางทีเราต้องกลับมาคุยกันใหม่หลายๆ เรื่องครับ โดยเฉพาะการเดินทางให้เข้ากับบริบทของยุคสมัยนี้ ที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ถามว่าการเดินทางแบ็กแพ็คเข้าป่าเขาลำเนาไพรช่วยให้เรารู้จักเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นหรือเปล่า? คงตอบว่า “ไม่” อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าถามว่า การเดินทางท่องโลก ช่วยให้เราเพิ่มทักษะความสามารถในการเรียนรู้ได้หรือเปล่า? แน่นอนว่า “ใช่” ครับ ซึ่งสอดรับกับนิยามการเรียนรู้ในยุคสมัยใหม่นั่นก็คือ Self-Directed Learning อันจะนำไปสู่วิถีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้รู้จักตนเองมากยิ่งขึ้น
การท้าทายขีดจำกัดของตัวเองไปกับการเดินทาง นับว่าเป็นหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยพัฒนาตนเองได้อย่างก้าวกระโดด โดยปกติเรามักเห็นการเดินทางในช่องยูทูบต่างๆ ที่ออกไปท้าทายขีดจำกัดอยู่แล้ว ดังเช่นที่ เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี นักเดินทางชาวนิวซีแลนด์ (เสียชีวิต ค.ศ. 2008) ซึ่งเป็นบุรุษคนแรกผู้พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้ในปี ค.ศ. 1953 ที่ความสูง 8,850 เมตร ร่วมกับ เท็นซิง นอร์เกย์ นักปีนเขาชาวเชอปา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ที่ไม่ใช่เพียงการพัฒนาตนเอง หากแต่เป็นการพัฒนาในระดับประเทศ กล่าวคือ การพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ของ เซอร์ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี และเท็นซิง นอร์เกย์นั้น นำไปสู่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวเนปาล โดยการมอบสวัสดิการต่างๆ อาทิ การสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนระบบขนส่งมวลชนของประเทศอย่างสนามบิน!
[ภาพที่ 1 เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี กับ เท็นซิง นอร์เกย์. จาก Britannica]
[วิดีโอเรื่องราวของเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลารี]
การเดินทางทำใหเราเรียนรู้อะไรบ้าง?
จะเดินทางอย่าไรให้พัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กันได้นั้น เราคงต้องกลับมาตั้งต้นตั้งแต่หาสิ่งที่ตัวเองต้องการครับ หรือก็คือ "การตระหนักรู้ในตนเอง" (Self-Awareness) หมายถึง ความสามารถที่จะรับรู้และเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการของตนเอง การจะเดินทางแต่ละครั้ง จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่ อย่างน้อยต้องทราบเพื่อการเตรียมตัวออกไปเผชิญโลกภายนอก การตรวจสอบสภาพความพร้อมของร่างกาย ความพร้อมของงบประมาณ ความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า รองเท้า เต๊นท์ ฯลฯ เหล่านี้เมื่อเรามีความพร้อมในระดับหนึ่ง ก็จะนำไปสู่ Self-Directed Learning ต่อได้ เพราะเมื่อเราทราบแล้วเป็นที่เรียบร้อย ว่าการเดินทางครั้งนั้นๆ เราต้องการอะไร หรือเรามีความพร้อมมากแค่ไหน เราจึงจะทราบในภายหลังได้ว่าเราจะกำหนดวิธีการเรียนรู้ของเราอย่างไรให้ไปถึงจุดที่เราต้องการนั้นๆ
ตัวอย่างนะครับ เช่น ผมอยากรู้ว่า จะเป็นอย่างไร หากตัวเองลองออกไปใช้ชีวิตตัวคนเดียวในจุดที่ไม่มีใครรู้จัก? เมื่อรู้แล้วว้าต้องการอะไร เราจึงสามารถนิยามสิ่งที่เราจะทำเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้ อย่าง การลองวางแผนตั้งแต่ หา รอบรถไฟ เช็คราคารถไฟว่าจะไปชั้น1 หรือ ชั้น3 พอไปถึงแล้วจะเช่ารถมอเตอร์ไซค์ หรือจะลองฮิทช์ไฮกิ้ง (คือการโบกรถชาวบ้านเที่ยว) เมื่อถึงที่หมายแล้วจะไปหาของกินที่ไหน จะเตรียมค่าใช้จ่ายอย่างไร และเมื่อผ่านสถานการณ์ที่ดีหรือร้ายมาได้ จึงทำให้เรารู้ว่า ยามที่เราออกมาใช้ชีวิตตัวคนเดียวนั้น เราจะอยู่ในสภาพไหน ซึ่งนั่นคือคำตอบของแต่ละคน!
เกี่ยวกับการเดินทางเพื่อพัฒนาตนเองนั้น อดัม กาลินสกี้ (Adam Galinsky) นักจิตวิทยาจากสถาบัน Colombia Business School ได้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการเดินทาง สามารถทำให้สภาพจิตใจที่ดีขึ้นได้หรือไม่? จากการศึกษา พบว่า การเดินทางไปในดินแดนที่มีสภาพแวดล้อมจากความคุ้นชินของตนเองเป็นระยะเวลานานนั้น ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้สภาพจิตใจได้มากขึ้น ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ และความไว้วางใจ ที่ทำให้มองโลกอย่างรอบคอบและเข้าใจความแตกต่างของผู้คนมากขึ้น เป็นสิ่งที่เสริมสร้างทักษะในการเข้าใจผู้อื่น และการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม (ซึ่งสอดรับกับ Self-Directed Learning) และจะมีมากยิ่งกว่าบุคคลอื่นที่ไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้
รู้จัก Self Directed Learning
หมายถึง การเรียนรู้ด้วยตนเอง คือวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียน วางแผน ปฏิบัติ และประเมินผลความก้าวหน้าของตนเอง มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้อยู่ในห้องเรียน หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วก็ตาม ซึ่งเหมาะสมอย่างมากสำหรับการเตรียมความพร้อมสู่ยุคสมัยใหม่ที่ข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทักษะประเภทนี้ ยังช่วยให้มีพัฒนาการที่มีคุณภาพและอยู่ในโลกอนาคตอย่างมีความสุขได้
การเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงมีความสำคัญตรงที่ว่าเป็นทักษะที่ช่วยให้นำความรู้-ประสบการณ์ รอบตัวมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยิ่งใครออกไปเรียนรู้ด้วยตนเองได้ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การเดินทางไม่ใช่เพียงวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะเสริมสร้าง Self-Directed Learning หากแต่สิ่งที่จะบอกคือ การเดินทางนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ เมื่ออยากพัฒนาตนเองให้มากขึ้น เพราะ Self-Directed Learning มีความเกี่ยวข้องกับความสามารถของคนในการชี้นำตนเองเพื่อการเรียนรู้ และที่สำคัญ ยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อแนวทาง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ซึ่งทำให้มนุษย์เราเรียนรู้ทั้งในระบบการศึกษา และเรียนรู้แบบที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาด้วย ดังเช่น การเดินทางแล้วประสบปัญหา ที่ต้องแก้ไขด้วยตนเอง! ซ้ำแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังถูกนำไปใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรต่างๆ ซึ่งทำให้คนในองค์กรนั้นๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ที่มี Self-Directed Learning สามารถสนับสนุนให้องค์กรสังกัดของตน เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ได้
ดังนั้น การจัดการเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นเรื่องทีมีความสำคัญในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผลิตนักศึกษาที่สามารถช่วยพัฒนาองค์กร และประเทศได้ ซึ่งสอดรับกับแนวทางที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้จัดแนวทางเหล่านี้ไว้เพื่อเสริมสร้าง Self-Directed Learning ภายใต้นโยบาย Kmutt 3.0 ที่ก่อตั้งเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างแนวคิด บ่มเพาะวิสัยทัศน์ซึ่งนำไปสู่แนวทางการเรียนรู้ของตนเองได้ ทำให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว
[ภาพที่ 2 ภาพประกอบการเดินทาง. จาก Unplash]
สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ คือ การเดินทางนั้น มีส่วนสำคัญมากในการพัฒนาศักยภาพของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดอย่างก้าวกระโดด หากคนผู้นั้นมีเจตนาในการเดินทางเพื่อแสวงหาความท้าทาย แม้ไม่มีเจตนาเพื่อผลักดันในระดับประเทศอย่างที่เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี ได้ทำไว้ แต่ประโยชน์ที่แฝงอยู่ในการเดินทาง มีสิ่งที่ซ่อนอยู่อย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ กล่าวคือ ต้องลองด้วยตนเองเท่านั้น เช่น ลองพิชิตภูกระดึงสักครั้ง ลองเดินทางตัวคนเดียวต่างแดนสักครึ่งเดือน ลองขับมอเตอร์ไซค์เที่ยวต่างจังหวัดแบบค่ำไหนนอนนั่น เหล่านี้เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่จะพอยกตัวอย่างได้
“ผมอยากทำแบบพี่บ้าง” “ถ้าผมมีเวลา ผมไปแบบพี่แน่” “ผมชอบการเดินทางของพี่มากครับ ผมอยากลองอะไรแบบนี้มากๆ” และอีกสารพัดคำกล่าวที่สามารถหาพบได้ตามคอมเมนต์ในวิดีโอที่เกี่ยวกับการเดินทาง เราจะเห็นเยอะมากครับ กับคำว่า “อยากไป” แต่สิ่งที่หาได้น้อยมากเลยคือ “จะไป” ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น คนที่จะออกไปทำจริงๆ นั้นมีน้อย เพราะต้องอาศัยอะไรหลายๆ อย่างโดยเฉพาะ “ใจ” ที่ต้องกล้า และบ้าบิ่นพอจะออกมาท้าทายจุดที่ตนเองยืนอยู่
บางคนเดินทางด้วยรถยนต์ สิ่งที่ได้รับ อาจจะเป็นบทสนทนาคุณภาพกับผองเพื่อน
บางคนเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ สิ่งที่ได้รับ อาจจะเป็นความสุขง่ายๆ อย่างการได้พักหลบแดดใต้ศาลาข้างทาง
บางดนเดินทางโดยการเดินพิชิตภูเขาสักลูก สิ่งที่ได้รับ อาจจะเป็นความรู้สึกประสบความสำเร็จในการทำสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
ผมคงบอกไม่ได้ครับ ว่าสิ่งไหนดีกว่าสิ่งไหน แต่ละคนมีรูปแบบการเดินทางที่เหมาะสมกับตนเองอยู่แล้ว หากแต่สิ่งที่ชวนผู้อ่านคิดทบทวนไปพร้อมๆ กันก็คือ การเดินทางของเรา ตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการแล้วหรือยัง?
ณ จุดนี้จึงขอกลับมาทิ้งท้ายด้วยคำถามในย่อหน้าที่สามครับ “การเดินทางที่เปลี่ยนแปลงชีวิต คืออะไร?”
หนึ่งในคำตอบนั้นคงเป็น “การเดินทางที่ช่วยให้เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต”
ว่าแล้วก็…เก็บกระเป๋าดีกว่าครับ
Reference
1 : Elizabeth Gorga. (6 May 2024). 15 Life Lessons Learned From Traveling. Go Abroad.com. 15 Important Lessons Learned from Traveling | GoAbroad.com
2 : Starfish Academy. (ม.ป.ป.). self-directed learning ปลูกทักษะเรียนรู้ด้วยตัวเอง. STARFISHLABZ. บทความ - self-directed learning ปลูกทักษะเรียนรู้ด้วยตัวเอง
3 : Cao, J., Adam Galinsky, and W. Maddux. (2014). Does travel broaden the mind? Breadth of foreign experiences increases generalized trust. Social Psychological and Pers0onality Science (5), 517-525.
4 : อมรินทร์ เทวตา, เอกกฤต เลิศวิทยาประดิษฐ์, ชวนชื่น อัคคะวณิชชา, ฐิติพร สำราญศาสตร์ และรชกร วชิรสิโรดม. (2557). การจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (SDL) โดยการแผนธุรกิจเพื่อพัฒนา SDL ตามแนวคิดลักษณะส่วนบุคคล. [รายงานการวิจัย-มหาวิทยาศิลปากร]. มหาวิทยาลัยศิลปากร. 56_20190701_.pdf
5 : KMUTTC4ED. (n.d.). Framework : A long journey to KMUTT 3.0. FRAMEWORK | c4ed
6 : Khalid Turk. (15 May 2023). The Journey to Self-Improvement: Tips for Personal Growth and Development. Linkedin. The Journey to Self-Improvement: Tips for Personal Growth and Development
7 : ธันยพร จารุไพศาล. (ม.ป.ป.). การตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) คืออะไรและพัฒนาอย่างไร. Work with Passion Training. https://shorturl.asia/de7ca
8 : Britannica. (n.d.). Edmund Hillary. Edmund Hillary | Biography, Accomplishments, & Facts | Britannica
Categories
Hashtags