กฎ 5 ชั่วโมงของการพัฒนาตนเอง จากยุคปฏิวัติอเมริกา สู่ยุคโลกาภิวัฒน์
“An investment in knowledge pays the best interest..”
“การลงทุนไปกับการแสวงหาความรู้ จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด”
– Benjamin Franklin.
หนึ่งในประโยคสร้างแรงบันดาลใจนี้ อันมาจากบุคคลผู้มากความสามารถชาวอเมริกัน ที่เป็นทั้งนักเขียน นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ ตลอดจนนักการเมืองและเป็นหนึ่งในผู้ที่มีคุณค่าต่อสหรัฐอเมริกา เพราะผู้นี้คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งชาติมหาอำนาจแห่งนี้ ซึ่งก็คือ เบนจามิน แฟรงคลิน
เกี่ยวกับตัวของแฟรงคลิน ที่ทำหน้าที่เป็นทูตคนสำคัญในช่วงปฏิวัติอเมริกา โดยเฉพาะในช่วงปี 1776 ที่ได้ออกเดินทางไปยังฝรั่งเศสเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเมืองน้ำหอม ซึ่งมีส่วนช่วยให้สามารถต่อสู้กับอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสนี้นำไปสู่การสนับสนุนทางการทหารและงบประมาณจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวอาณานิคมประสบความสำเร็จในการประกาศเอกราช
สิ่งสำคัญคือ แฟรงคลิน ยังเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการร่างคำประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 18 ซึ่งนับเป็นเอกสารสำคัญที่ประกาศเจตนารมณ์ต่อชาวอังกฤษในการแยกตัวออกมาจากการปกครองของรัฐสิงโตคำราม โดยการมีส่วนร่วมนี้เองที่ทำให้เขาได้รับการยอกย่องว่าเป็นหนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรของสหรัฐอเมริกา
ครับ ข้างต้นเพียงบอกพื้นเพเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์ ที่หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านๆ แต่ไม่เคยอ่านจากที่ไหนมาก่อน แต่ที่จะกล่าวถัดมาคือ แฟรงคลิน แม้จะศึกษาในระบบเพียงแค่ 10 ปีและหลังจากนั้นเป็นการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง แต่แฟรงคลินไม่ได้มีบทบาทแค่ฐานะทางการเมืองที่สำคัญเท่านั้น ตัวเขายังมีบทบาทเป็นอย่างมากต่อการปฏิวัติความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม โดยมีผลงานที่โดดเด่นอย่างเช่น การคิดค้นสายล่อฟ้า แว่นตาไบโฟคอล และเตาแฟรงคลิน (เตาผิงบุด้วยโลหะ ที่ตั้งชื่อตามผู้คิดค้น) เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถ และความกว้างขวางในขอบเขตความรู้ของแฟรงคลินที่สามารถปฏิวัติวงการต่างๆ ได้
ทีนี้สิ่งที่เราจะมาคุยกันอยู่ตรงนี้ครับ จากที่อ่านไปข้างต้น ว่าเบนจามิน แฟรงคลิน คือหนึ่งในผู้ที่มีความรู้เยอะมาก และสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้มาจนถึงทุกวันนี้ ตัวเขาทำอย่างไรให้มีความรู้ได้มากขนาดนั้น? อันที่จริงไม่เพียงความรู้ หากแต่เป็นการทุ่มเทแสวงหาความรู้ในแขนงต่างๆ ไปพร้อมๆ กับการทำงาน เขาเอาเวลาที่กิน นอน อ่านหนังสือ และทำงานทำการจากไหนบ้าง? เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณไมเคิล ซิมมอนส์ (Michael Simmons) ซึ่งเป็นนักลงทุนและผู้สื่อข่าวได้ศึกษาประวัติของ แฟรงคลิน โดยจับสังเกตสิ่งต่างๆ ที่แฟรงคลินได้ทำไว้ ซึ่งแบ่งได้โดยเรียกว่า กฎ 5 ชั่วโมง
นำกฎ 5 ชั่วโมงมาปรับใช้กับชีวิต
แม้ตัวของแฟรงคลินจะไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา แต่เขาก็วางแผนการศึกษาของตนเองไว้อย่างเป็นระบบ โดยเลือกที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่วันละ 1 ชั่วโมง แบ่งเป็น 5-6 วันต่อสปดาห์ เพื่อไม่ให้สมองทำงานหนักจนเกินไป เพราะมนุษย์อย่างเราๆ เองต่างก็ใช้สมองกันอย่างหนักในภาระหน้าที่การงานประจำวันของตนเองกันอยู่แล้ว เมื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่เข้าเป็นส่วนเสริมของชีวิต หากรับมาหนักเกินไป แน่นอนว่าสมองของเราย่อมไม่ไหว
การแบ่งออกเป็นวันละ 1 ชั่วโมงจะทำให้เบาลงกว่า ไม่หนักจนเกินไป และช่วยให้เราไม่หมดไฟไปกับการแสวงหาความรู้ด้วย (หากเป็นคนทั่วไปที่ไม่ใช่ระดับนักวิชาการขนานแท้ที่อ่านหนังสือได้เป็นสิบๆ ชั่วโมง) ซึ่งการวางแผนการเรียนรู้โดยซอยย่อยออกเป็นส่วนเล็กๆ ในแต่ละวัน จะช่วยให้สมองตกผลึกความรู้ได้ดีมากยิ่งขึ้น
จึงกลับมาอธิบายถึงงานค้นคว้าของ ไมเคิล ซิมมอนส์ ที่ว่ากฎ 5 ชั่วโมงของเบนจามิน แฟรงคลิน จะทำอย่างไร โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมอะไรบ้าง
1 : การอ่าน (Reading)
เป็นขั้นตอนแรกเริ่มเลยก็ว่าได้ สำหรับคนที่จะเป็นนักแสวงหาความรู้ มีการบันทึกไว้ในประวัติของแทบจะทุกคนที่ประสบความสำเร็จว่าจะต้องประกอบไปด้วยความขยันในการอ่านหนังสือ – ซึ่งถือเป็นวิธีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้สัมผัสกับแนวคิด นวัตกรรมหรือที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอื่นๆ อาจพกเป็น E-Books ที่ทุกวันนี้ก็มีด้วยกันหลายแพลตฟอร์ม ค่อยๆ อ่านเก็บเล็กผสมน้อย จนบางทีก็ยินคำกล่าวประมาณว่า “สิ่งที่ยากที่สุดของการอ่านหนังสือไม่ใช่การกระตุ้นตัวเองให้เริ่มต้นอ่าน แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือก่ารอ่านให้จบต่างหาก”
แต่เมื่อได้เริ่มอ่านหนังสือวันละ 1 ชั่วโมงจนเป็นนิสัย เหล่านี้ก็อาจช่วยต่อยอดให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้อีกด้วย
2 : การทบทวนตัวเอง (Reflection)
หลังจากขั้นแรกที่ว่าเป็นการอ่านหนังสือแล้ว บางทีเราควรหาเวลาหยุดสักหน่อยเพื่อสะท้อนความคิดที่ได้รับจากการอ่านหนังสือ คิดลงไปอย่างลึกซึ้งเพื่อหาว่าประโยชน์จากการอ่านแต่ละวัน ได้รับอะไรมาบ้าง อาจเขียนลงกระดาษ พิมพ์ใส่เวิร์ด หรือแค่นั่งคิดทบทวน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ควรทำอย่างยิ่ง ยิ่งบ่อยก็ยิ่งดีครับ
3 : การทดลอง (Experiment)
เมื่อเราเริ่มอ่านค้นคว้าหาข้อมูลแล้ว ได้นั่งตกผลึกทางความคิดแล้ว สิ่งที่ควรจะทำต่อไปก็คือการพิสูจน์ว่ากฎ 5 ชั่วโมงของแต่ะคนจะมีประโยชน์จริงหรือไม่ ซึ่งก็คือการนำความรู้ที่ได้รับมาปฏิบัติ มาทดลองใช้ตามที่ได้รับมาว่าเป็นอย่างไร
เช่น บางคนหยิบหนังสือ Atomic Habits ของ James Clear มาอ่าน จากนั้นนั่งตกผลึกว่าแนวทางการทำให้ชีวิตดีขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงนิสัยเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันมีวิธีอะไรบ้าง แต่พอตกผลึกจนแตกฉานในความรู้นั้นแล้ว กลับไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สิ่งนี้ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จในการใช้ทฤษฎี กฎ 5 ชั่วโมงครับ
คั่นไว้ก่อนนะครับ ไหนๆ แล้วก็ แปะหนังสือเผื่อใครอยากลองอ่านนะครับ หนังสือ “Atomic Habits เพราะชีวิต ดีได้กว่าที่เป็น” ท่านสามารถเข้ามาค้นได้ที่นี่ Holdings:...
มาถึงจุดนี้ จะเห็นว่า กฎ 5 ชั่วโมงนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก (เพราะแค่วันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น) แต่ส่งผลในการพัฒนาตนเองได้อย่างมหาศาล อย่างที่เบนจามิน แฟรงคลินได้ทำไว้เป็นแบบอย่างแล้ว หากมีความสม่ำเสมอในการพัฒนาตนเอง ก็ย่อมไปได้ไกลและก้าวหน้าอย่างแน่นอน แม้ต้นทุนชีวิตจะไม่มากเท่ากับคนอื่นก็ตาม
หากนำกฎนี้มาใช้จริงๆ จำต้องฝืนทนสักนิดเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น เพราะไม่อาจมีใครมีชีวิตที่ดีขึ้นได้หากไม่เปลี่ยนอะไรเลยตั้งแต่แรก เช่น เริ่มตื่นนอนสัก 5.30 จัดแจงล้างหน้าล้างตากินอะไรรองท้องสักหน่อย แล้ว 6.00-7.00 ก็เปิดหนังสืออ่านยามเช้าที่สมองกำลังสดใส จากนั้นก็เตรียมตัวออกไปเรียนไปทำงาน
หากอยากปรับปรุงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น ทางผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านมา ณ ที่นี้
มองการพัฒนาตนเองเปรียบดั่งการ “กินข้าว” กินเรื่อยๆ กินทุกวัน ยังไงก็โตขึ้นครับ
Reference
1 : Thai PBS Sci & Tech. (17 มกราคม 2567). รัฐบุรุษสายล่อฟ้า "เบนจามิน แฟรงคลิน" นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ช่วยมนุษย์รอดพ้นจากฟ้าผ่า. Thai PBS. รัฐบุรุษสายล่อฟ้า "เบนจามิน แฟรงคลิน" นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ช่วยมนุษย์รอดพ้นจากฟ้าผ่า | Thai PBS NOW
2 : STKC. (18 July 2019). นักวิทยาศาสตร์ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin). นักวิทยาศาสตร์ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) | Science and Technology Knowledge Centre : STKC
3 : pruetsara.wixsite. (ม.ป.ป.). เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God's Thunder: Benjamin Franklin's Lightning Rod a. เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God's Thunder: Benjamin Franklin's Lightning Rod a
4 : รวิศ หาญอุตสาหะ. (2563). Superproductive (พิมพ์ครั้งที่ 12). สำนักพิมพ์ KOOB
5 : ManagementConsulted. (16 Septebe 2024). 5 Hour Rule: A Learner’s Success Model. 5 Hour Rule: A Learner’s Success Model | Consulting Prep & Resources
6 : Chompoonut Suwannochin. (23 กันยายน 2567). Five-Hour Rule กฎทองแห่งการพัฒนาตัวเอง กุญแจสู่ความสำเร็จที่คนเก่งระดับโลกทำกัน. BlockDit. [Future Trends] Five-Hour Rule กฎทองแห่งการพัฒนาตัวเอง กุญแจสู่ความสำเร็จที่คนเก่งระดับโลกทำกัน คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนเก่งๆ ระดับโลกถึงประสบความสำเร็จอย่างมากมาย? เป็นเพราะพวกเขามีต้นทุนชีวิตที่เหนือกว่า ดวงที่ดีกว
Categories
Hashtags