Virtual Communication: ทักษะสำคัญในโลกยุคดิจิทัล
“We become what we behold. We shape our tools, and thereafter our tools shape us.”
“เรากลายเป็นสิ่งที่เราจับจ้อง เราสร้างเครื่องมือขึ้นมา และหลังจากนั้น เครื่องมือเหล่านั้นก็กำหนดรูปแบบตัวเรา”
— Marshall McLuhan
ในประโยคข้างต้นของ Marshall McLuhan นักปรัชญาชาวแคนาดา สามารถเป็นจุดบ่งชี้ได้ว่า สื่อ หรือเทคโนโลยีใดก็ตามที่เราสร้างขึ้น (จะโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มโซเชียล ฯลฯ) ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่เราใช้เพื่อจุดประสงค์บางอย่างเท่านั้น แต่เมื่อเราต้องหยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้บ่อยๆ เครื่องมือต่างๆ ย่อมส่งผลมามีอิทธิพลในชีวิต พฤติกรรม และวิถีชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัว เช่น การสื่อสารผ่านจอ อาจค่อยๆ เปลี่ยนวิธีที่เราสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือแม้แต่การทำความเข้าใจโลกใบนี้
สิ่งที่กำลังจะกล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ คือ ในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว วิถีการทำงาน การเรียนรู้ และการสื่อสารก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในชีวิตประจำวันคือ “การสื่อสารเสมือน” หรือ “Virtual Communication” ไม่ว่าจะเป็นการประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom, WebEx, หรือ Microsoft Teams รวมถึงการส่งข้อความผ่านอีเมล แอปพลิเคชันแชทต่างๆ แม้กระทั่งการเรียนออนไลน์ ทุกสิ่งดังกล่าวนี้เข้าใจภาพรวมของ การสื่อสารเสมือน ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในโลกที่เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
เมื่อหน่วยงานองค์กรหลายแห่งจำนวนมากขึ้นเริ่มยอมรับแนวคิดเรื่องการสื่อสารเสมือนอย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดการปฏิสัมพันธ์แบบพบหน้ากันในที่ทำงานเสมือน แต่ประโยชน์ของการสื่อสารรูปแบบนี้ที่ไม่สามารถปฏิเสธ โดยเฉพาะเมื่อผ่านบริหารส่งเสริมการสื่อสารเสมือนผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น
ว่าด้วยการสื่อสารเสมือน?
การสื่อสารเสมือน (Virtual Communication) คือการสื่อสารที่เกิดขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องพบปะกันแบบตัวต่อตัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบของข้อความเสียง วิดีโอคอล การแชท อีเมล หรือการสื่อสารบนแพลตฟอร์มใดก็ตามแบบเรียลไทม์ การสื่อสารในลักษณะดังกล่าวนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงานและการเรียนรู้ยุคใหม่ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่เร่งเร้าให้ผู้คนหันมาใช้การสื่อสารเสมือนเป็นช่องทางหลัก
เมื่อจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นการสื่อสารในรูปแบบนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเข้าใกล้ระหว่างกันโดยที่แต่ละคนไม่ต้องมาเจอกันตลอดเวลา โดยอาจกล่าวถึงตัวอย่างข้อดีของการสื่อสารรูปแบบนี้ได้ เช่น
1. ความยืดหยุ่นของเวลาและสถานที่ : การสื่อสารเสมือน ช่วยให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้จากทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่กันคนละประเทศ เมือง หรือทวีป การสื่อสารลักษณะนี้ช่วยลดต้นทุนในการเดินทางและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเวลาได้เป็นอย่างมาก
2. การบันทึกข้อมูล และรวจสอบย้อนหลังได้ : การประชุมในรูปแบบออนไลน์ สามารถบันทึกวิดีโอหรือเก็บข้อความแชทไว้ดูย้อนหลังได้ ช่วยให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังหรือจับประเด็นสำคัญได้ทุกเมื่อ
3. เปิดโอกาสสู่ความร่วมมือระดับโลก : การสื่อสารเสมือน ช่วยให้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมสามารถร่วมงานกันได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้และการทำงานที่กว้างไกลขึ้น
จากที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนของข้อดีที่ยกตัวอย่างมาบางส่วนเท่านั้น แม้ว่าการสื่อสารเสมือน จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีความท้าทายที่จำเป็นต้องคอยระวังอยู่ตลอดเวลา เพราะก็ถือได้ว่าการสื่อสารรูปแบบนี้มักเป็นการสื่อสารที่ขาดมิติทางอารมณ์ เนื่องจากไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึก หรือภาษากายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่าย หรืออาจเกิดปัญหาทางเทคนิค ที่เกี่ยวกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ขาดความเสถียร ปัญหาจากอุปกรณ์ หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่เข้ากัน อาจรบกวนการสื่อสารและลดประสิทธิภาพของการประชุม
ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวโน้มของการสื่อสารเสมือน ในอนาคตยังคงเติบโตต่อไป โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI Metaverse และ Virtual Reality เข้ามาเสริมสร้างประสบการณ์การสื่อสารให้สมจริงยิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ เริ่มลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐานและฝึกอบรมบุคลากรให้สามารถใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างคล่องตัว โดยจะไม่ได้มีแค่ในแง่มุมของการทำงานเท่านั้น แต่ในแง่มุมของการศึกษา ก็อาจพึ่งพาการสื่อสารเสมือนมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนจำเป็นต้องมีวินัยในตนเองมากกว่าเก่า และสามารถสื่อสารกับผู้สอนหรือเพื่อนร่วมชั้นผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งตามที่ทราบกันดีว่า การสื่อสารเสมือนไม่ใช่เพียงการ “คุยออนไลน์” แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการสื่อสารในโลกปัจจุบัน การพัฒนาทักษะด้านนี้จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กร ครู นักศึกษา หรือบุคลากรทั่วไป ผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกเสมือนนี้ได้ จะสามารถเติบโตและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคงในยุคดิจิทัล
Reference
1 : Goodreads. (n.d.). Quotable Quote. Quote by Marshall McLuhan: “We become what we behold. We shape our tools, a...”
2 : University of Pennsylvania. (18 September 2024). How virtual communication changes virtually nothing for good leaders. How virtual communication changes virtually nothing for good leaders | Penn LPS Online
3 : The University of Edinburgh. (11 November 2024). Virtual communication. Virtual communication | Students | The University of Edinburgh
4 : อัจฉรา จุ้ยเจริญ. (8 กันยายน 2561). Virtual Communication. Post Today. Virtual Communication
Categories
Hashtags