Verbal Skills: ศิลปะแห่งการพูดที่ทำให้คนคล้อยตาม
“Courage is what it takes to stand up and speak; courage is also what it takes to sit down and listen.”
“ความกล้าหาญคือสิ่งที่ทำให้เราลุกขึ้นพูด และความกล้าหาญนั้นเองที่ทำให้เรานั่งลงและฟัง”
– Winston Churchill
คำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร และยังเป็นบุคคลหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นคำกล่าวที่สะท้อนถึงสองทักษะอย่างการพูดและการฟัง ในฐานะของเครื่องมือสร้างการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อดำเนินมาถึงทุกวันนี้ การสื่อสาร (Communication) เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างเราๆ ทุกภาคส่วนของความเป็นอยู่ อาทิ การดำเนินชีวิต การเข้าสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนการศึกษา กล่าวคือ การสื่อสารเป็นฟันเฟืองเครื่องจักรแห่งสังคมที่ช่วยให้ดำเนินไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง อันเนื่องมาจากการสื่อสารเป็นเครื่องมือและวิธีการในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งในแง่มุมปัจเจก องค์กร หรือสังคม การอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะในสังคมจึงจำเป็นคต้องมีการติดต่อสื่อสารกันชนิดที่ว่าไม่อาจปฏิเสธสิ่งนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพูด ยิ่งเป็นหนึ่งในการสื่อสารที่ช่วยสร้างสัมพันธ์อันดีให้แก่กัน เป็นสัญลักษณ์แห่งความเข้าใจระหว่างคนสองคน หรือคนหลายหมู่เหล่า
หากว่าด้วยเรื่องการสื่อสารแล้ว คำว่าสื่อสารยังเป็นคำพูดที่ค่อนข้างกว้างซึ่งกินความรวมหลายแขนง หากแต่บทความชิ้นนี้จะว่าด้วยเรื่อง ทักษะทางวาจา หรือคำพูด (ตามแต่สะดวกต่อการทำความเข้าใจ) ซึ่งนับเป็นแขนงหนึ่งในการสื่อสาร เพราะดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การพูดนับเป็นสิ่งสำคัญมาก (อาจมากที่สุดในทักษะทั้งหมดของการสื่อสารเลยก็ไม่ปาน) เพราะเป็นทักษะที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง สามารถเปลี่ยนคนหนึ่งให้เป็นผู้ที่มีภาพลักษณ์แตกต่างไปจากตัวตนที่แท้จริง สามารถเปลี่ยนความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ มุมมอง หรือแม้แต่ทัศนคติของคนหนึ่งคนใดในหมู่ผู้ได้รับฟังความรู้จากผู้พูด กล่าวคือ คำพูดช่วยให้สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้นั่นเอง
นำเกริ่นว่าหากแต่ละท่านอยากพัฒนาทักษะทางวาจาให้เพิ่มขึ้นไปอีกระดับ ทางผู้เขียนมีหนังสือสำหรับแนะนำให้ลองไปค้นคว้าเพิ่มเติมได้อย่าง เทคนิคการพูด สำหรับพิธีกร โฆษกและนักพากย์ ของ คุณสมชาติ กิจยรรยง ที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับทักษะการเป็นผู้ดำเนินรายการ พิธีกร ทำอย่างไรให้ดี น่าเชื่อถือ สามารถลองเข้ามาอ่านได้ที่ลิงก์นี้ครับ
การพูด คืออะไร?
ว่าด้วยความหมายของ “การพูด” เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีผู้ให้นิยามของการพูดไว้หลายท่าน เช่น สมชาย สำเนียงงาม (2545) ได้ให้ความหมายว่า “การพูด หมายถึง การถ่ายทอดความรู้ ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของผู้พูดโดยใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง สีหน้า แววตา รวมทั้งกิริยาต่างๆ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายและตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
ด้านของ สวนิต ยมาภัยและถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ (2547) ได้นิยามว่า “การพูด หมายถึง การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง รวมทั้งกิริยาอาการถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความรู้สึกและความต้องการของผู้พูดให้ผู้ฟังรับรู้และเกิดการตอบสนอง
ขณะที่ หลวงวิจิตรวาทการ ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์คนสำคัญของชาติสยาม ก็ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับทักษะการพูดไว้ว่า “วิชานักพูด เป็นศิลปะอันสำคัญอันหนึ่ง และผู้ที่เป็นนักพูดก็ต้องนับว่าเป็นผู้มีศิลปะอันประเสริฐอันหนึ่งเหมือนกัน นักพูดเป็นบุคคลจำนวนหนึ่ง พวกหนึ่ง ซึ่งทำให้โลกนี้เป้นที่รื่นรมย์ นักพูดที่ดี ๆ ย่อมสามารถจะดับความทุกข์และให้ความสุขแก่คนทั้งหลายโดยการปลุกหรือปลอบหัวใจด้วยคำพูดอันฉลาดของเขา การที่นักพูดเป็นที่พอใจของคนทั้งหลายนั้น ก็เพราะเหตุว่าเขาได้ใช้คำพูดของเขาเป็นเครื่องทำความสุขความรื่นรมย์ให้แก่บุคคล คำพูดของนักพูดที่ดี ๆ ย่อมจะเป็นยาประเสริฐสำหรับชโลมหัวใจ” เป็นบางส่วนที่ผู้เขียนหยิบยกมาจากคำกล่าวของหลวงวิจิตรวาทการที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพูดอันเป็นทักษะที่หากว่านำไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ก็สามารถสร้างคุณประโยชน์ได้มหาศาล แต่เมื่อนำมันไปใช้ผิดวิธี ก็ย่อมสร้างความเสียหายต่อสังคมมนุษย์ได้อย่างแพร่หลายมาก
ดังที่กล่าวมาข้างต้น สามารถทำความเข้าใจเรื่องของการพูดได้ว่า หมายถึง พฤติกรรมการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก หรือความต้องการของผู้พูดเพื่อสื่อความหมายไปยังผู้ฟังโดยใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง สีหน้า แววตา และกิริยาท่าทาง เพื่อให้ผู้ฟังรับรู้ความเข้าใจ และสนองตอบต่อสารที่ผู้พูดได้สื่อออกไปยังผู้ฟัง
จะพัฒนาทักษะการพูดอย่างไรดี?
สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต่อการพูด ก็ย่อมต้องมาพร้อมกับการฟัง เสมือนการเขียนที่ต้องมาพร้อมกับการอ่าน ทักษะที่จับคู่กันมาดังกล่าวนี้ไม่สามารถตัดขาดออกจากกันได้ ทั้งนี้จะมาพูดถึงแนวทางการพัฒนาทักษะการพูดและฟังให้กลายเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น
1. การเป็นผู้ฟังที่ดีและตั้งใจ : การฟังเป็นองค์ประกอบของการสื่อสาร ผู้ฟังจะต้องเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด แม้ว่าผู้พูดอาจสื่อสารได้ไม่ดี เพราะหากไม่ตั้งใจฟังเสียแต่แรกอาจทำให้ข้อมูลที่ได้รับบกพร่องได้ การตั้งใจฟังจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของผู้พูด จะเป็นผู้ฟังที่ดีได้ ต้องมาทั้งการตั้งใจฟังและภากายที่ถูกต้อง เช่น สบตากับผู้พูดอย่างเหมาะสม เน้นโฟกัสที่สีหน้าและถ้อยคำของผู้พูด เป็นต้น
2. การสื่อสารกลับไปด้วยการพูด : ควรใช้วาจาอย่างเหมาะสม ใส่ใจกับวิธีการออกเสียงแต่ละคำ ฝึกการออกเสียงเพื่อปรัปรุงการแสดงออก หาจังหวะการพูดให้ชัดเจน ไม่ช้าหือเร็วจนเกินไป แม้กระทั่งการเว้นวรรคจังหวะการพูดอย่างมีชั้นเชิง (ทั้งมวลนี้ต้องได้รับการฝึกฝนครับ)
3. ความกระชับในการสื่อสาร : เป็นสิ่งที่จะช่วยให้การสื่อสารของเราเข้าใจได้อย่างตรงไปตรงมา ฉะนั้นแล้วก่อนจะโพล่งคำใดๆ ออกไป ควรค่าแก่การจัดระเบีบยทางความคิดก่อนเสมอ เมื่อใดก็ตามที่กำลังเป็นฝ่ายพูด ควรใช้ภาษาที่ง่าย ไม่คลุมเครือ เช่นการพูดอภิปรายกับผู้คนระดับชาวบ้าน แต่ยกคำพูดเชิงตรรกศาสตร์ที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้มานำเสนอ จนทำให้ผู้ฟังเกิดอาการงงจนไม่สามารถตกผลึกใดๆ ที่มีสาระได้จากผู้พูดคนนั้น แบบนี้ก็ไม่เป็นอันสมควรครับ
4. เป็นรูปธรรมและชัดเจน : การสื่อสารด้วยข้อความที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ (ง่ายๆ คือการพูดให้เคลียร์) เป็นอีกทักษะที่จำต้องฝึกปรือให้ดี ดังนั้นจึงจะต้องสื่อสารด้วยข้อความที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นในเวลาอันสั้น อาจจะใช้คำง่ายๆ หรือใช้น้ำเสียงที่กระตือรือร้นและชัดเจนให้มาก
5. การสื่อสารที่ไม่ใช่การพูด คือหัวใจสำคัญ : หมายถึงการให้ความสำคัญต่อ ภาษากาย ที่มีบทบาทในการสื่อสารอย่างน่าทึ่ง การใช้น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง ที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้พูด และผู้ฟังสนใจที่จะฟังสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร การใช้ภาษากายสื่อสารในขณะพูดไปด้วย จึงจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. กล้าแสดงออก : ความกล้าแสงออกในการเสนอความคิดเห็น หรือตั้งคำถาม รวมทั้งความรู้สึกมั่นใจต่างๆ เป็นสิ่งที่พึงมีสำหรับผู้พูด เพราะเป็นสิ่งที่เราแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของเราได้อย่างชัดเจน
7. ผ่อนคลาย : ก่อนจะพูดอะไรกับผู้ฟัง ผู้พูดควรผ่อนความเครียดของตัวเองลงก่อน เพราะความเครียดหรือความวิตกนั้นเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้การสื่อสารลดประสิทธิภาพลง อาจทำให้ผู้ฟังเข้าต่อสารที่พวกเขากำลังรับได้ยากขึ้น
8. การให้ข้อมูล : เพื่อการสื่อสารอย่ามีประสิทธิภาพ ควรมีการแจ้งให้ผู้ฟังทราบ อาจเป็นการอธิบายโดยละเอียดต่อแต่ละประเด็นว่าจะพูดอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้ฟังเตรียมตัวทำความเข้าใจต่อผู้พูด (สิ่งนี้เหมาะสมต่อการพูดในที่สาธารณะ)
9. ความสามารถในการปรับตัว : ปรับแนวทางการพูดของเราตามกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มผู้ฟัง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดทั้งต่อผู้พูดและผู้ฟัง จะไม่มีปัญหาอื่นใดตามมา เช่น ผู้พูดอาจกล่าวโทษผู้ฟังว่า “พวกนี้ความรู้ไม่ถึง พอมาฟังผมพูดไม่เข้าใจก็กลับไปต่อว่าผม” ขณะเดียวกันผู้ฟังเองอาจกล่าวหาได้ว่า “ผู้พูดคนนี้เป็นพูดจาไม่รู้เรื่อง” ฉันใดก็ฉันนั้น หาความพอดีทั้งเนื้อหาและผู้ฟังด้วยนะครับ
10. การเล่าเรื่อง : การเล่าเรื่องเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การนำเสนอนั้นๆ น่าสนใจ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและโน้มน้าวผู้อื่นให้เข้าใจและน่าจดจำในสิ่งที่ต้องการสื่อสาร โดยที่เราสามารถที่จะฝึกการเล่าเรื่องในบริบทต่างๆ ได้ ทั้งเรื่องส่วนตัว การศึกษา ธุรกิจ หรืออะไรก็ตามใจนึกครับ (ถ้ามันไม่สร้างความเสียหายต่อฟังนะครับ)
ตามที่กล่าวมาทั้งหมด การใช้วาทศิลป์อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้ความคิด ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุด จึงเห็นสมควรที่ทุกท่านจะต้องพัฒนาทักษะทางในการสื่อสาร โดยใช้แทคนิคและประสบการณ์ของตนเองในการสร้างความประทับใจต่ออีกฝ่ายครับ
Reference
1 : BrainyQuote. (n.d.). Winston Churchill Quotes. Winston Churchill - Courage is what it takes to stand up...
2 : พรรณภา ส่งแสงแก้ว. (2564). การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต ในทักษะการสื่อสารด้านการพูดเพื่อการนำเสนอ. [รายงานวิจัย, มหาวิทยาลัยศรีปทุม]. มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น. content
3 : ศิริรัตน์ กลยะณี, และพระมหาขวัญชัย กิตฺติปาโล. (2558). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการพูด. วารสาร มจร มนุษยศาสตร์ปริทรรศน์, 1(1), 17-30. jmhr_admin,+Journal+editor,+17-30.pdf
4 : Time Consulting. (15 พฤศจิกายน 2566). 10 ทักษะการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ Effective Communication. 10 ทักษะการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ Effective Communication
Categories
Hashtags