The Power of the Lecture: การสอนที่สร้างแรงบันดาลใจ
Published: 30 March 2025
2 views

The Power of the Lecture: การสอนที่สร้างแรงบันดาลใจ

 

           "I never teach my pupils. I only attempt to provide the conditions in which they can learn."

         “ฉันไม่ได้สอนนักเรียนของฉัน ฉันเพียงพยายามสร้างเงื่อนไขที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้"

– Albert Einstien         

           

           เมื่อเข้าสู่การเรียนการสอน สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ของเหล่าบรรดาผู้เรียน หรือแม้กระทั่งผู้เคยเรียนชาวสยามประเทศล้วนมีประสบการณ์ร่วมกันสืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานคือ “การเรียนหนังสือแบบฟังครูสอน” หรือกล่าวกันว่าเป็นการเรียนการสอนแบบบรรยาย Lecture อันเป็นแนวทางที่นักเรียนไทยใช้กันมายาวนานนับตั้งแต่เรียนอนุบาลไปจนกระทั่งในระดับอุดมศึกษา

           ทั้งนี้ทั้งนั้น กล่าวกันได้ว่า การเรียนการสอนแบบบรรยาย นับเป็นหนึ่งในวิธีการสอนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพ แนวทางเช่นนี้จะเกี่ยวข้องกับการที่ผู้สอนเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนผ่านการพูด การนำเสนอข้อมูล และสื่อการสอนต่างๆ อาทิ ไฟล์สไลด์นำเสนอ หรือเอกสารประกอบการบรรยาย แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่นับว่าก็มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป จึงควรพิจารณาตามแต่ละขอบเขตความสามารถของผู้สอนเพื่อพัฒนาให้เกิดเประสิทธิภาพสูงสุด

           แม้ว่าการสอนโดยใช้การบรรยายไม่ได้เน้นที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ก็นับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่อยู่คู่และสำคัญต่อนักเรียนไทยมากตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะเป็นการสอนที่ทำให้มีควาสมเข้าใจในการเรียน ผู้เรียนจำเป้นต้องจดจำและเก็บรายละเอียดทั้งหมดให้ได้ ด้วยเหตุนี้การเรียนรูปแบบการบรรยายจึงเป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการฟัง การคิด การวางแผน เพื่อบันทึกและจดจำเนื้อหาในบทเรียนให้ได้มากที่สุด

 

ยังเหมาะสมกับปัจจุบันหรือไม่?

           ตามที่ได้กล่าวถึงความนิยมของการสอนชนิดนี้มาแล้วในข้างต้นว่าเป็นที่นิยมกันมายาวนาน หากแต่ที่ผ่านได้มีผู้ศึกษาค้นคว้าว่าแนวทางนี้ให้ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง? ซึ่งมีผลการวิจัยออกมาโดยไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าใดนักเนื่องจากถือว่าการบรรยายเป็นวิธีการสอนที่ทำให้คนจดจำได้น้อยที่สุด

โดยหลังจากการเรียนการสอนผ่านไปสองสัปดาห์ ผู้ที่ฟังการบรรยายสามารถจดจำได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของเนื้อหาที่ได้รับฟังมา แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการอ่าน คนอ่านหนังสือส่วนใหญ่มักจะมีสมาธิมากกว่าการฟังบรรยาย ทำให้เขาจดจำได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้วิธีการสอนโดยเพิ่มสื่อที่เป็นภาพเคลื่อนไหว เช่น ภาพยนต์ วิดีโอ จะเพิ่มความจำให้ได้มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะภาพเคลื่อนไหวสามารถดึงดูดความสนใจได้ดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ เกี่ยวกับการจัดเตรียมการเรียนการสอนโดยใช้การบรรยาย ด้านผู้สอนควรจัดทำแผนการสอนหรือแผนการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงพื้นความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน ซึ่งในแผนการสอนทางผู้สอนจึงควรตระเตรียมส่วนของวัตถุประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ การวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างท้าทายความสามารถของผู้สอนในยุคนี้คือ จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้การบรรยายอย่างไรให้ไม่รู้สึกเบื่อ อาจใช้ลูกเล่นต่างๆ อย่างการใช้สื่อ ใช้คำถาม เรื่องเล่า สถิติมาแสดง คำกลอน การเปรียบเปรย รวมถึงการมีอารมณ์ขันในการสอน และในการสอนทุกครั้ง ผู้สอนควรเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อย และควรอย่างยิ่งในการซ้อมการสอนให้มีความชำนาญในการบรรยายมากขึ้น

 

แนวทางบรรยายที่น่าลองในยุคนี้

           มาถึงจุดนี้ เมื่อการบรรยายยังคงอยู่ เราอาจต้องเรียนรู้ในการทำให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์กับผู้สอนและผู้เรียนด้วย จึงขอนำ 5 แนวทางกาพัฒนาจากเว็บไซต์ EDUCTHAI ดังนี้

           1. การบรรยายที่ไม่ได้มีเพียงการพูดประกอบสื่อ แต่ยังเสริมเทคนิคการใช้คำถาม การใช้ผังกราฟิก การจัดกลุ่ม และการอภิปรายได้ด้วย มีงานวิจัยที่ได้นำผังกราฟิกมาใช้ในวิธีการสอนหลังจบการบรรยายในประเด็นหลัก พบว่า ผู้เรียนมีสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น จากการที่ได้จัดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ เกิดการทวนและประมวลความรู้กันไปตามแต่ละประเด็น

           2. การปิดไฟในห้อง ไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียนสนใจโปรเจกเตอร์ได้เสมอไป การบรรยายที่มีเพียงแสงไฟจากโปรเจกเตอร์หรือหน้าจอทีวี การทำเช่นนี้อาจทำให้ผู้เรียนบางคนที่อยู่ในสภาวะไม่พร้อมจะเรียนอยู่แล้วตั้งแต่แรก รู้สึกง่วงมากขึ้นกว่าเดิมหรือใช้โอกาสไฟสลัวนี้งีบหลับได้ ที่เหมาะสมคือการปรับแสงหน้าจอให้ชัดขึ้นและช่วยถนอมสายตาผู้เรียนแทนการปิดไฟได้เช่นเดียวกัน

           3. การใช้เทคโนโลยีตลอดเวลาอาจทำให้บทเรียนน่าเบื่อได้ การใช้สไลด์ที่มีฟังก์ชั่นเสริมให้ดูน่าสนใจกว่าการอ่านบนหน้าจอ อย่างการบันทึกเสียง ให้ผู้สอนสามารถใช้น้ำเสียงที่หลากหลายได้ และป้องกันไม่ให้เกิดบรรยากาศที่น่าเบื่อ ซึ่งโปรแกรมหลายๆ อย่างมีลูกเล่นให้ใช้มากมาย

           4. มุกตลก หรือการสร้างอารมณ์อาจไม่ได้ผล ผู้สอนจึงควรคำนึงถึงช่วงวัยและความเข้าใจหรือเข้าถึงมุกตลกของผู้เรียนด้วย อย่างไรก็ดี ผู้สอนก็ไม่ควรฝืนความเป็นตัวเองเพียงเพราะเห็นคนอื่นตลกแล้วตัวเองจะตลกตาม หากต้องการแทรกมุก ก็ควรให้มีความสอดคล้องกับบทเรียนหรือเนื้อหานั้นๆ

         5. คำนึงถึงผู้เรียนเป็นหลัก โดยอาจเป็นการบันทึกการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปทบทวนต่อได้ และไม่ควรนำเสนอซ้ำกับในเอกสารประกอบการนำเสนอที่แจกให้ แต่ควรเน้นไปที่หลักและวิธีคิดที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักการของเรื่องนั้นๆ และที่สำคัญคืออธิบายนอกเหนือจากข้อความในสไลด์และการเขียนประกอบคำอธิบายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถติดตามสาระได้

 

           จากทั้งหมดทั้งมวลในบทความนี้ การเรียนการสอนแบบบรรยายยังนับว่าเป็ยวิธีที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อต้องการถ่ายทอดความรู้จำนวนมากในเวลาที่จำกัด อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงรูปแบบการบรรยายให้ทันสมัยและมีส่วนร่วมมากขึ้นจะช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนของผู้เรียนได้ เทคนิคต่างๆ ที่นำเสนออาจไม่เหมาะกับทุกคน

           ท้ายที่สุดแล้ว อะไรจะเหมาะ หรือไม่เหมาะ ล้วนขึ้นอยู่กับตัวผู้สอนเป็นหลักครับ

 

 

 

Reference

1 : Lois Letchford. (17 May 2020).  Einstein - I never teach my pupils; I only attempt to provide the conditions in which they can learn. Linkedin. Einstein - I never teach my pupils; I only attempt to provide the conditions in which they can learn.

2 : Narong Kanchana. (ม.ป.ป.). วิธีสอนโดยใช้การบรรยาย (Lecture Method). skruteachingmethods.blogspot.com. วิธีสอน (Teaching Methods): บรรยาย

3 : บัญชา วิชยานุวัติ. (14 มีนาคม 258). ผลการวิจัยพบว่า การสอนแบบบรรยายมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด. GotoKnow. ผลการวิจัยพบว่า การสอนแบบบรรยายมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด - GotoKnow

4 : RICOH. (20 มีนาคม 2567). เมื่อการพูดบรรยายบทเรียนไม่เวิร์คในยุคปัจจุบัน. เมื่อการพูดบรรยายบทเรียนไม่เวิร์คในยุคปัจจุบัน | Ricoh

5 : จิราพร เณรธรณี. (ม.ป.ป.). เลกเชอร์ (lecture) อย่างไรให้เด็กไม่ง่วง. EDUCA. EDUCA มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู


Hashtags

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...