Teamwork Makes the Dream Work: เคล็ดลับการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพ
Published: 29 January 2025
3 views

Teamwork Makes the Dream Work: เคล็ดลับการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพ

 

“ปลาเน่าตัวเดียว เหม็นทั้งข้อง!”

 

         หนึ่งในสุภาษิตไทยที่เราได้ยินกันมาช้านาน ซึ่งใช้ได้กับการทำงานทุกวันนี้เป็นอย่างดี ด้วยกับการเปลี่ยนผันจากแต่ละยุคสมัย การทำงานแบบเป็นองค์กรเริ่มขยายกว้างไกลมากยิ่งขึ้นจวบจนปัจจุบันนี้

           ว่าด้วยเรื่อง การทำงานเป็นทีม คือหนึ่งในทักษะทางความคิดที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน หากจะใช้คำว่าทักษะความสามารถ ผู้เขียนให้ความเห็นว่าอาจไม่เป็นไปในเชิงนั้น เพราะการทำงานเป็นทีมจะดีหรือบ้งล้วนมาจากทัศนคติการทำงานร่วมกับผู้อื่นเสียมากกว่า เพราะหากว่ากันด้วยเรื่องความสามารถ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ปัจเจกชนสามารถฝึกฝนได้จากการเรียนรู้ ประสบการณ์ หากแต่ทัศนคตินั้นถ้าจะให้ฝึกอาจเรียกได้ว่าเป็นการเข็นภูเขาขึ้นครก เพราะเหมือนว่าจะเป็นเรื่องง่ายเหมือนการเข็นอะไรขึ้นครกที่ขนาดไม่ได้สูงนัก หากแต่สิ่งที่ต้องเข็นกลับเป็นภูเขา จะกล่าวว่าเขาลูกนั้นคือเอเวอร์เรสต์ได้ก็ไม่ปาน

           เนื่องจากทัศนคติเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการเปิดใจของแต่ละคนเท่านั้น ซึ่งแต่ละคนสภาพแวดล้อมก็มีความแตกต่างกันไปตามปูมหลังชีวิตของแต่ละราย จะเป็นสังคมที่ดีหรือไม่ดีอันนี้ก็ไม่อาจไปแตะต้องได้ เพียงแต่หากสิ่งที่พบเจอจากเรื่องราวของแต่ละคน เป็นสิ่งที่บ่มเพาะตัวตน ความคิด นิสัย จนส่งผลกระทบกับการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานเป็นองค์กรที่ต้องร่วมกับผู้อื่นอย่างปฏิเสธไม่ได้ จะมีผลเสียร้ายแรงต่อภาพรวมมากแค่ไหนกัน?

           

 ปลาเน่าตัวเดียว เหม็นทั้งข้อง (จริงหรือ?)

           ทีนี้ต้องกลับมาพิสูจน์กันว่าสุภาษิตดังกล่าวสามารถใช้ได้จริง หรือเป็นเพียงการกล่าวอ้างกันลอยๆ โยนใส่หน่วยงานที่มิชอบ เพื่อนร่วมงานที่ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย หรือใช้เป็นข้อครหาปาใส่ผู้อื่นที่ทำงานผิดพลาดเล็กๆ น้อยโดยอาจมาจากการไม่ได้ตั้งใจ หรือพยายามอย่างเต็มที่แล้วแต่ยังผิดพลาดอยู่ก็ตาม

           เกี่ยวกับเรื่องนี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งถูกนำเสนอไว้บนเว็บไซต์ Havard Business Review โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า How One Bad Employee Can Corrupt a Whole Team - พนักงานที่ไม่ดีเพียงคนเดียว สามารถทำลายทั้งทีมได้หรือไม่ ของ สตีเฟน ดิมมอค กับ วิลเลียม ซี. เจอร์เค็น (พออ่านชื่อหัวข้องานวิจัย เหมือนจะกล่าวถึงปลาเน่าในสุภาษิตชอบกล)

           งานวิจัยดังกล่าวพูดถึงลักษณะนิสัยของการทุจริตว่ามันสามารถติดต่อจากพนักงานคนหนึ่งไปสู่พนักงานอีกคน (หรืออีกหลายๆ คน) ได้หรือไม่?  ซึ่งได้ตรวจสอบจากผลกระทบจากความประพฤติที่มิชอบจากการทำงานของบรรดาที่ปรึกษาทางการเงิน โดยมุ่งเน้นไปที่การรวมกิจการระหว่างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินจากแต่ละบริษัท อันทำให้ได้พบเพื่อนร่วมงานหน้าใหม่ๆ จากแต่ละที่ แต่ละวัฒนธรรมองค์กร

           สำหรับสิ่งที่ค้นพบ คือ ที่ปรึกษาทางการเงินมีแนวโน้มที่จะกระทำผิดมากกว่า 37% หากพบว่าพวกเขากับเพื่อนร่วมงานจากที่อื่นซึ่งเคยทุจริตมาก่อน จากข้อมูลนี้สามารถพบได้ว่า การประพฤติมิชอบนั้นมีตัวคูณทางสังคมเท่ากับ 1.59 หมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วกรณีของการประพฤติมิชอบส่งผลให้เกิดกับเพื่อนรอบข้างได้ถึง 0.59 ผ่านการเลียนแบบคนที่ประพฤติไม่ดี กล่าวคือ คนที่ดี สามารถถูกคนไม่ดีครอบงำได้จากการทำงานร่วมกันกับพวกเขา!

           จากงานวิจัยชิ้นนี้ บอกได้ว่า แม้แต่พนักงานที่ซื่อสัตย์ที่สุดก็มีแนวโน้มที่จะประพฤติผิดมากขึ้นหากพวกเขาทำงานร่วมกับบุคลลที่ไม่ซื่อสัตย์ แม้จะพยายามมองว่าพนักงานที่ซื่อสัตย์อาจแผ่รังสีความดีงามให้พนักงานที่ไม่ซื่อสัตย์สามารถเปลี่ยแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ แต่ก็ไม่ค่อยเป็นเช่นนั้นเท่าไหร่นัก ในบรรดาเพื่อนร่วมงาน การเรียนรู้พฤติกรรมที่ไม่ดี ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายกว่า

           ด้วยเหตุนี้ คุณแท็บ-รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทศรีจันทร์สหโอสถ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ดังนั้น การเฝ้าสังเกตพฤติกรรม ทัศนคติต่างๆ ของทีมงานจึงสำคัญอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะตอนจ้างงานคนใหม่ๆ เรามักจะได้ยินเสมอว่า ‘ฝีมือฝึกได้ แต่ความเชื่อและทัศนคติฝึกกันยากหรือแทบไม่ได้’ ดังนั้นการเลือกคนใหม่เข้ามาในทีมให้พึงคำนึกถึงเรื่องนี้ไว้ด้วย อย่าให้คนเพียงคนเดียวเข้ามาทำงายวัฒนธรรมองค์กรที่คุณลงทุนมหาศาลในการสร้างมันขึ้นมา”

           เกี่ยวกับเรื่องบริหารจัดการทีม ท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากหนังสืออีกหลายเล่ม เช่น Team spirit : a fun and interactive simulation of teamwork and effective leadership ของ Charles Petranek และ Randy Hollandsworth ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ ณ  ลิงก์นี้  Holdings: Team spirit :

 

จะพัฒนาการทำงานเป็นทีมได้อย่างไร?

           ตามที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้าว่ายุคนี้การทำงานองค์กรนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่รักสันโดษก็ตาม แต่เมื่อมาทำงานร่วมกับคนอื่นๆ จึงต้องเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จร่วมกับคนในทีม โดยส่วนนี้จะกล่าวถึง 6 แนวทางการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ

           1.  เข้าใจบทบาทการทำงานของตนเองและคนอื่น

           จุดเริ่มต้นของทีมคือ “คนในทีม” ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่ก็สำคัญเป็นอย่างมาก (ถึงมากที่สุด) เพราะหลักการทำงานที่ดีต้องมีความเข้าใจถึงการทำงานของผู้อื่นในทีม โดยอาศัยข้อดีของแต่ละคนมาช่วยคนอื่น และพร้อมทำความเข้าใจในส่วนที่มีความแตกต่างกัน

           2.  สร้างโฟกัสและเป้าหมายร่วมกัน

           การกำหนดวัตถุประสงค์ที่ดี ควรมีการกำหนดขอบข่ายหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนให้ชัดเจน แต่โฟกัสไปในสิ่งเดียวกัน เพื่อให้ร่วมมือร่วมใจและวัดความสำเร็จของทีม ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่สำคัญโดยอาจเขียนวัตถุประสงค์และหน้าที่ของแต่ละคนเป็นลายลักษณ์อักษรให้เข้าใจง่ายและทำได้จริง สนองนโยบายองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           3.  สร้างทีมด้วยความสามารถหรือจุดเด่นของแต่ละคน

           ผู้นำหรือหัวหน้าทีม ควรมองจุดเด่นของแต่ละคนทั้งในการทำงานและทัศนคติ (ถ้าไม่ส่งผลร้ายแรงต่อทีม) เพื่อต่อชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ให้ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว

           4. ตรงไปตรงมา จริงใจ ให้การสนับสนุน

           การเปิดใจตรงไปตรงมาต่อกัน ทั้งในเรื่องงานและความเห็นที่แตกต่าง หากมีข้อแนะนำหรือเห็นพ้องเห็นต่างกันในจุดไหนก็พร้อมที่จะพูดออกไปโดยไม่ใช้อารมณ์หรือเรื่องส่วนตัว สิ่งนี้จะไม่นับเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ควรเป็นความจริงใจสนับสนุนกันและกัน

           5. เพิ่มความสนิทสนม สายสัมพันธ์ในทีม

           การจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมของทีม ทำให้การทำงานเป็นไปได้ด้วยกันอย่างราบรื่น เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องการทำงานเป็นทีมแล้ว ยังช่วยลดภาวะตึงเครียดจากการทำงานได้ดีอีกด้วย

           6. เป็นผู้นำที่ดี และเป็นผู้ตามที่ดี

           คนในทีมควรแสดงภาวะผู้นำเมื่อต้องตัดสินใจ และกล้าแสดงความเห็น รู้หน้าที่ของตนเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาบังคับ มีข้อเสนอแนะที่ดีให้เพื่อนร่วมทีมอยู่เสมอ และขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้ตามที่มีวินัยและยอมรับข้อเสนอแนะแล้วนำมาปรับปรุงตนเองได้ ให้สมาชิกในทีมพัฒนาตนเองได้ตลอด

           

           โดยในบทความชิ้นนี้ที่ได้ร่ายยาวมาก่อนถึงปัญหา และจบด้วยกับแนวทางการพัฒนา ดังจะกล่าวคือการให้ความสำคัญต่อสิ่งหนี่งนั่นก็คือ “คน” เพราะคน เมื่อมีหลายคน จึงกลายเป็นทีม การจะเป็นทีมที่ดีก็ควรประกอบไปด้วยคนที่ดี หาใช่คนที่ไม่ดีมาร่วมมือกันเพื่อสร้างสิ่งที่ดีไม่ เมื่อมีคนที่ดี ทีมก็ย่อมเป็นทีมที่ดี เมื่อได้ทีมที่ดี งานก็ออกมาดี และเมื่องานออกมาดี จึงเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จ

           เอาปลาเน่าออกจากเข่งอาจยาก ถ้าปลามี 100 ตัวเราคงไม่รู้ว่าเป็นตัวไหนกันแน่ หากแต่การเช็คให้ดีตั้งแต่แรก โดยการไม่เอาปลาเน่าไปใส่ คงไว้ซึ่งปลาสดใหม่อยู่เสมอ ปัญหาที่ว่า “ปลาเน่าตัวเดียว เหม็นทั้งข้อง” ก็จะไม่เกิดขึ้นครับ

 

 

 

Reference

1 : ภัทรานิษฐ์. (16 สิงหาคม 2010). “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง!”(การทำงาน). GotoKnow. "ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง!"(การทำงาน) - GotoKnow

2 : Stephen Dimmock, William C. Gerken. (5 March 2018). Research: How One Bad Employee Can Corrupt a Whole Team. Havard Business Review. Research: How One Bad Employee Can Corrupt a Whole Team

3 : รวิศ หาญอุตสาหะ. (2563). Superproductive (พิมพ์ครั้งที่ 12). สำนักพิมพ์ KOOB.

4 : Krungsri Academy. (ม.ป.ป.). การทำงานเป็นทีมคืออะไร? 6 หลักการทำงานที่องค์กรควรรู้. krungsri กรุงศรี. การทำงานเป็นทีมคืออะไร? 6 หลักการทำงานที่องค์กรควรรู้


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...