Systematic Thinking
ทักษะการคิดเชิงระบบ ยกระดับคุณภาพการทำงาน
ในช่วงปี 1960 ทะเลสาบอีรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในทะเลสาบที่สำคัญในแถบเกรตเลคส์ (Great Lakes) ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
ทะเลสาบอีรี่ประสบปัญหาใหญ่จากมลพิษน้ำเสียที่เกิดจากงานอุตสาหกรรมและการเกษตร และน้ำเสียในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฟอสฟอรัสและในโตรเจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย และทำให้เกิด “การบานของสาหร่ายพิษ” (Harmful Algal Blooms) ทำให้น้ำขาดออกซิเจน มีปัญหาต่อระบบนิเวศน์และสัตว์น้ำในพื้นที่ จนสื่อมวลชนในตอนนั้นต่างกล่าวขานกันว่า ทะเลสาบแห่งนี้ เป็น “ทะเลสาบที่กำลังจะตาย”
รัฐบาลสหรัฐฯและแคนาดา ตระหนักว่าการแก้ปัญหานี้ ไม่สามารถมุ่งเน้นไปแก้เฉพาะจุดใดจุดหนึ่งได้ เช่น การกำจัดสาหร่ายเพียงอย่างเดียว หรือทำแค่เพียงกำจัดน้ำเสียออก หากแต่จำเป็นต้องมองปัญหาของทะเลสาบอีรี่ในฐานะของปัญหาที่ต้องได้การแก้ไขโดยมี “ระบบ” ที่เชื่อมกันหลายด้าน จึงจำเป็นต้องใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเพื่อให้กำจัดสิ่งปฏิกูลออกจากทะเลสาบแห่งนี้ได้ ซึ่งอาจไม่ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกขานกันว่า “Work Hard” หากแต่เป็น “Work Smart” ซึ่งอาศัยการทำงาน วางแผนงานอย่างเป็นระบบมากกว่าการทำงานอย่างหนักหน่วงโดยไร้แบบแผน ในส่วนนี้ภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า Systematic Thinking ซึ่งก็คือการคิดอย่างเป็นระบบนั่นเอง
Systematic Thinking คือ?
Systematic Thinking คือ การคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีระบบการคิดโดยมองเห็นภาพรวมและความเชื่อมโยงขององค์ประกอบในรายละเอียดที่สัมพันธ์กัน เป็นการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้สามารถวางระเบียบให้กับการกระทำและการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะผู้บริหารที่ต้องมีภาระหน้าที่ มีเรื่องให้ต้องคิด ต้องรับผิดชอบมากมาย
การทำงานโดยใช้การคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจะช่วยให้สามารถมองเห็นภาพรวมของสถานการณ์ และปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสาเหตุหรือปัญหา มองเห็นว่าแต่ละอย่างมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และจะต้องทำอะไรเพื่อให้ก้าวข้ามอุปสรรคที่กำลังประสบ หรือทำให้ผลลัพธ์ของการทำงานออกมาดีขึ้น ช่วยให้สามารถตัดสินใจและวางแผนต่อไปได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวมถึงจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสม โดยนำไปสู่การใช้ทักษะอื่นต่อยอดไปด้วย เช่น การใช้ Analytical Thinking เพื่อเจาะลึกในแต่ละปัญหาให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น
โดยแนวทางการฝึกฝนทักษะ Systematic Thinking มีดังนี้
1 : การมองภาพรวมและการเชื่อมโยง ฝึกวิเคราะห์ปัญหาในบริบทที่ครอบคลุมทั้งระบบเช่น การมองถึงปัญหามลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้นกับทะเลสาบอีรี่ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่างๆ เชื่อมโยงความคิดอย่างมีเหตุผล
2 : การวิเคราะห์ถึงผลกระทบและการตอบสนองต่อการใช้ทักษะ ฝึกวิเคราะห์ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงในระบบ เช่น การใช้ Feedback Loops เพื่อประเมินการตอบสนองของระบบต่อการเปลี่ยบนแปลง
3 : การตั้งคำถามที่เจาะลึกถึงรากของปัญหา ตั้งคำถามอย่างครอบคลุม เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้นๆ และตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
4 : การเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาและสถานการณ์จริง เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมหรือองค์กร และจำลองสถานการณ์เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ รวมถึงวิธีแก้ปัญหาในมุมมองของ Systematic Thinking
5 : การทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ ที่หลากหลาย ศึกษาเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ช่วยให้เข้าใจปัญหาในมิติที่หลากหลายได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงผลกระทบที่พลางเราอาจมองไม่เห็นแต่คนอื่นอาจเห็นอย่างชัดเจนก็ได้
ดังที่กล่าวมา หากผู้อ่านมีความต้องการอยากศึกษาโดยละเอียดเกี่ยวกับ Systematic Thinking ท่านสามารถค้นคว้าต่อที่หนังสือชื่อดังหลายๆ เล่มได้ เช่น การคิดเชิงระบบ (System Thinking) : เครื่องมือจัดการความซับซ้อนในโลกธุรกิจ ของ Virginia Anderson, Lauren Johnson หรือหนังสือ The fifth discipline : the art and practice of the learning organization ของ Peter M. Senge ซึ่งทั้งสองเล่มนี้ ท่านสามารถเข้ามาอ่านได้เลยที่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือจะค้นคว้าในเล่มอื่นๆ ต่อก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ดูรายชื่อหนังสือได้ที่นี่
จากที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อลองนำการคิดเชิงระบบมาปรับใช้ดูแล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯและแคนาดา จำเป็นต้องจำแนกสิ่งต่างๆ โดยสิ่งที่พวกเขาทำ คือ การเริ่มต้นวิเคราะห์ในส่วนที่เป็นรากของปัญหา ด้านนักวิจัยและนักอนุรักษ์พบว่า มลพิษที่ทำให้สาหร่ายเติบโตผิดปกติเกิดจากปริมาณฟอสฟอรัสที่สูง ซึ่งมาจากน้ำเสียของชุมชน ปุ๋ยทางการเกษตร และน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่หลักๆ 4 กลุ่ม ได้แก่ ชาวประมง เกษตรกร นักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานท้องถิ่น กลุ่มเหล่านี้จำเป็นต้องถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยวิเคราะห์จากการกระทำของกลุ่มเหล่านี้ว่าส่งผลมากแค่ไหน เช่น ศึกษาปริมาณการใช้ปุ๋ยในเกษตรกรรมที่ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำในทะเลสาบ
จากนั้น รัฐบาลได้ริเริ่มออกกฎหมาย Clean Water Act ในปี 1972 เพื่อควบคุมการปล่อยฟอสฟอรัสในปริมาณที่จำกัด ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกร พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนมาการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียในบริเวณเมืองโดยรอบ และนักวิจัยยังพัฒนาวิธีจัดการระบบนิเวศทั้งระบบ เช่น การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อกรองสารอาหาร หรือการปรับแนวทางการเกษตรโดยเน้นการใช้ปุ๋ยอย่างยั่งยืน
จนกระทั่งภายในปี 1980 ปริมาณฟอสฟอรัสจากโรงงานในเมืองดีทรอยท์ลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์และจำนวนประชากรปลา เช่น ปลาวอลอาย (Walleye) มีการฟื้นตัวได้อย่างน่าประทับใจ ทะเลสาบกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน
ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าภาพรวมของปัญหานั้นสามารถจำแนกและจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที มีการคิดรอบด้านก่อนการตัดสินใจต่างๆ ดึงเอาศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้องค์กรพัฒนาและเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง
แล้วต่างกับ Analytical Thinking อย่างไรบ้าง?
ดังที่ทราบกันดี ว่ากระบวนการคิดทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกันในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ แต่ว่าจะมีแนวทางการคิดที่ความแตกต่างกันในวิธีการและจุดมุ่งหมาย
Systematic Thinking
- เป็นกระบวนการคิดแบบองค์รวม (Holistic) โดยพิจารณาทุกองค์ประกอบในระบบและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น
- ใช้ในกรณีที่ปัญหามีองค์ประกอบหลายส่วนที่เกี่ยวยงกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การวางแผนธุรกิจขนาดใหญ่
- ไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่พยายามสร้างระบบที่สามารถปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้
Analytical Thinking
- เป็นการคิดแบบลดทอน (Reductionist) โดยแยกปัญหาออกเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อทำความเข้าใจทีละส่วนอย่างละเอียด
- มุ่งเน้นที่การวิเคราะห์เชิงลึกของแต่ละองค์กระกอบโดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนอื่นมากเท่ากับ Systematic Thinking
- เป็นกระบวนการวิเคราะห์ที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนและความแม่นยำสูง
ซึ่งหากยกตัวอย่างการใช้ทั้งสองทักษะนี้ให้เข้าใจในภาพรวม สามารถกล่าวได้ว่า Systematic Thinking จะนำมาใช้ในการวางแผนเพื่อกำจัดปัญหามลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้น ขณะที่ Analytical Thinking จะเป็นการวิเคราะห์สถิติการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยตรง
การคิดอย่างไม่เป็นระบบ ย่อมส่งผลปลายทางที่ต่างกัน การคิดไม่รอบคอบ คิดอย่างไร้ระบบ เหล่านี้สามารถทำให้เกิดวิกฤตการณ์ในระดับประเทศได้เลย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ยามเมื่อต้องทำอะไรโดยกระทบต่อคนหมู่มากจึงจำเป็นต้องมีการคิดอย่างเป็นระบบ โดยไม่ลืมเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการลงมือทำงานหนัก แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนครับ
จนกระทั่งปลายทศวรรษ 1980 ทะเลสาบอีรี่ จึงเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ระบบนิเวศกลับสู่สภาพสมดุล สัตว์น้ำเริ่มเพิ่มจำนวน และนับได้ว่ากรณีศึกษานี้ ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จเชิงประจักษ์ของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทักษะ Systematic Thinking ครับ
เมื่อทราบดีถึงเรื่องการคิดอย่างเป็นระบบแล้ว การนำมาใช้ร่วมกับทักษะอื่นๆ ทั้ง Critical Thinking, Analytical Thinking และอีกหลายๆ ทักษะ ย่อมเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราไปสู่ความสำเร็จในการทำงานทุกกระบวนขั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่หากทำได้ จะช่วยให้งานหลายๆ อย่างล้วนง่ายขึ้นจริงๆ ครับ
Reference
1 : Thomas Hynes. (23 April 2021). Lake Erie Ignite America’s environmental movement, but still suffers from a new wave of pollution. Waterkeeper Alliance. Lake Erie Pollution | Lake Erie Water Quality | Waterkeeper
2 : Jobsdb. (7 July 2023). เปลี่ยน work hard เป็น work smart ด้วย Systematic Thinking อัพสกิลคิดอย่างเป็นระบบ. เปลี่ยน work hard เป็น work smart ด้วย Systematic Thinking อัพสกิลคิดอย่างเป็นระบบ - Jobsdb ไทย
3 : United States Environmental Protection Agency. (n.d.). Lake Erie. Lake Erie | US EPA
4 : Deeksha Sharma. (29 September 2022). Systems Thinking In Management: Why And How To Adopt. Risely. Systems Thinking In Management: Why And How To Adopt - Risely
5 : Critical Thinking Secret. (n.d.). Strategic Thinking vs Analytical Thinking: Uncovering Key Differences. Strategic Thinking vs Analytical Thinking - Critical Thinking Secrets
6 : เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (27 ธันวาคม 2560). คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร. Krieangsak.com. คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร | Kriengsak Chareonwongsak
Categories
Hashtags