Research Skill : พัฒนาเส้นทางสู่ความเป็นเลิศ
Published: 30 March 2025
1 views

Research Skill : พัฒนาเส้นทางสู่ความเป็นเลิศ


       “Research is creating new knowledge.”

         “การวิจัยคือกระบวนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ช่วยให้มนุษย์ก้าวหน้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

– Neil Armstrong         

 

           จากยุคสมัยต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนกันไปตามสภาพแวดล้อมหรือนวัตกรรมที่มนุษย์ริเริ่มคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่คิดเครื่องทุ่นแรงต่างๆ ไปจนสามารถอำนวยความสะดวกในชีวิตเพิ่มขึ้นอีกได้มากกว่าเก่าก่อนหลายเท่า (หรือหลายล้านเท่า!) การคิดค้นเหล่านี้ ล้วนผ่านการพินิจพิจารณาไตร่ตรองความคิดที่มากหลาย การค้นคว้าหาข้อมูลมานับไม่ถ้วน และการลองผิดลองถูกเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อให้ประชาคมโลกพบความสะดวกในการต่อยอดการใช้ชีวิตของแต่ละครัวเรือน

           ทักษะการวิจัยจึงนับเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาองค์ความรู้ในทุกสายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือธุรกิจ การวิจัยช่วยให้เราเข้าใจปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ ค้นพบแนวทางแก้ไข และสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ การมีทักษะการวิจัยที่ดี สามารถช่วยให้วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และเพิ่มศักยภาพการทำงานและการศึกษา รวมถึงการหยิบเอาผลงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต

 

ทักษะการวิจัย คืออะไร?

         ทางผู้เรียบเรียงบทความนี้ได้มีโอกาสอ่านบทความวิจัยชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า “ทักษะการวิจัยของครูนักวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน” ของพัชราภรณ์ พิลาสมบัติ และ ดวงกมล จงเจริญ ที่ได้ให้คำจำกัดความของทักษะการวิจัยไว้ สรุปได้ความว่า “เป็นสิ่งที่สามารถช่วยให้พัฒนาทักษะและการทำวิจัย ได้แก่ การทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การคิดอย่างเป็นระบบ การคิดวิเคราะห์ การวิเคราะห์ข้อมูล การนำมาซึ่งข้อมูล การวัดและประเมินผล การค้นหาวิธีการต่างๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา เพื่อนำมาสู่องค์ความรู้ใหม่ๆ หรืออาจจะอยู่ในรูปแบบการสอน วิธีการสอน เทคนิคการสอนใหม่ๆ รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น “

           จึงกล่าวได้ว่า ทักษะการวิจัยหมายถึง ความสามารถในการค้นคว้า วิเคราะห์ และประเมินข้อมูลเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ทักษะนี้ครอบคลุมตั้งแต่การตั้งคำถาม การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และการนำเสนอผลการวิจัยอย่างเป็นระบบ ทักษะการวิจัยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการทำงานในองค์กรและธุรกิจต่างๆ อีกด้วย

           หากผู้อ่านท่านไหนต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะการวิจัย สามารถค้นได้ที่หนังสือ Research Methods: The Basics ของ Nicholas Walliman ได้ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [สืบค้นได้ที่นี่]

 

ทักษะการวิจัยแตกต่างจากวิธีการวิจัยอย่างไร?

           ทั้งสองคำนี้หากมองเผินเราอาจเข้าใจว่ามีความหมายเหมือนกัน แต่อันที่ตริงแล้วคือเป็นแนวคิดที่แตกต่างกัน หากแต่มีความเชื่อมโยงกันซึ่งมีบทบาทในโครงการวิจัยชิ้นใดชิ้นหนึ่ง

           เรื่องความหมายของคำว่าทักษะการวิจัยเราได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อนหน้า ในทางกลับกัน วิธีการวิจัยถือว่าเป็นแนวทางและเทคนิคที่เป้นระบบที่ใช้ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล วิธีการเหล่านี้มีกรอบโครงสร้างสำหรับการดำเนินการวิจัยและอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาขาวิชาและคำถามการวิจัย วิธีการรวบรวมข้อมูลทั่วๆ ไปได้แก่ แบบสำรวจ การทดลอง การสัมภาษณ์ การสังเกต และกรณีศึกษา แต่ละวิธีมีชุดขั้นตอนและเครื่องมือของตัวเองที่ออกแบบมาเพื่อรวบรวมข้อมูลบางประเภท เช่น แบบสำรวจมักใช้เพื่อรวมข้อมูลเชิงปริมาณ ขณะที่การสัมภาษณ์จะให้ข้อมูลเชิงลึกเชิงคุณภาพจากแต่ละบุคคล

           ทำให้ทราบได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะการวิจัย และวิธีการวิจัยนั้นอยู่ร่วมกัน ทักษะการวิจัยที่แข็งแกร่ง ช่วยเพิ่มการประยุกต์ใช้วิธีการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพในขณะที่ความคุ้นเคยกับวิธีการวิจัยต่างๆ สามารถเสริมสร้างทักษะของนักวิจัยได้ เช่น การทำความเข้าใจในความซับซ้อนของเทคนิคการรวบรวมข้อมูลต่างๆ สามารถปรับปรุงความสามารถของนักวิจัยในการออกแบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและวิเคราะห์ผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำ

 

จะพัฒนาตนเองอย่างไรได้บ้าง?

           เมื่อทราบแล้วว่าทักษะการหาข้อมูลนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และกลายเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ด้วยกับอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก ด้วยวิธีการที่สะดวกรวดเร็ว และง่ายดายมากยิ่งขึ้น

           หากต้องการพัฒนาทักษะในการวิจัยและการค้นคว้าให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นนั้น สิ่งแรกคือควรทำความเข้าใจเชื่อเชื่อมั่นในศักยภาพตนเองในการใช้อินเทอร์เน็ตสืบค้นข้อมูลที่ถูกต้อง การฝึกฝนในเรื่องนี้เพื่อใช้ให้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ ดังนี้

           1. การฝึกอบรมผ่านการปฏิบัติจริง และสะท้อนรายละเอียด วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ว่ามีลักษะเป็นข้อมูลแบบไหน มีแหล่งที่มาน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือมีการรับรองความถูกต้องของแหล่งข้อมูลนั้นมากน้อยแค่ไหน

           2. จัดทำคู่มือหลักการค้นคว้าข้อมูล ข้อแนะนำแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งข้อควรระวังในการนำข้อมูลไปใช้อย่างเหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การไม่คัดลอกข้อมูลของผู้อื่น หรือแอบอ้างข้อมูลมาใช้โดยไม่ขออนุญาตหรือให้การอ้างอิง เป็นต้น

           3. จัดหาชั่วโมงเรียนที่ทำการอบรมฝึกฝนทักษะการวิจัย และการค้นคว้าเบื้องต้น เพื่อปูพื้นฐานในการเรียนรู้ต่อยอดในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งทำการประเมินความเข้าใจของนักเรียนในการค้นคว้า สืบค้นข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

           4. บูรณาการเชื่อโยงทักษะการค้นคว้าข้อมูลและหลักการวิจัยอย่างง่ายเข้ากับการใช้ชีวิต เพื่อพันฒาทักษะการเรียนรู้และใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างหลากหลาย โดยไม่จำเป็นจะต้องจำกัดขอบเขตแค่เพียงบางวิชาเท่านั้น

           5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ลองค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากอินเทอร์เน็ต เช่น หนังสือ วารสารและบทความที่ได้รับการรับรอง เป็นต้น

           

           ตามที่กล่าวมา การปลูกฝังบ่มเพาะทักษะการวิจัย และค้นคว้าข้อมูลที่ดีนั้น จะช่วยเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ในด้านการศึกษา การทำงาน และชีวิตประจำวันได้อย่างดี หากมีการฝึกฝนทักษะการวิจัยอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับตนเองและนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

           

 

 

Reference

1 : BrainyQuote. (n.d.). Neil Armstrong Quotes. Neil Armstrong - Research is creating new knowledge.

2 : พัชราภรณ์ พิลาสมบัติ, ดวงกมล จงเจริญ. (2565). ทักษะการวิจัยของครูนักวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน. วารสารนวัตกรรมและการจัดการ, 7(1), 166-178.

3 : Lauren Stewart. (n.d.). Mastering Research Skills | Guide, Types & Tips. ATLAS.ti. Mastering Research Skills | Guide, Types & Tips - ATLAS.ti

4 : กนกวรรณ สุภาราญ. (ม.ป.ป.). ทักษะทางการวิจัย และค้นคว้าข้อมูล...ทักษะจำเป็นในการเรียนรู้ออนไลน์ของนักเรียน. EDUCA. EDUCA มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...