Procrastination: เมื่อการผัดวันประกันพรุ่งกลายเป็นพันธนาการ
Published: 30 March 2025
1 views

Procrastination: เมื่อการผัดวันประกันพรุ่งกลายเป็นพันธนาการ

 

           “Procrastination is the bad habit of putting off until the day after tomorrow what should have been done the day before yesterday.”

         “การผัดวันประกันพรุ่งคือ นิสัยแย่ ๆ ที่ทำให้เราผลัดสิ่งที่ควรทำตั้งแต่เมื่อวานซืน ไปเป็นวันมะรืนแทน"

– Napoleon Hill           

           

           เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวไป เดี๋ยวทำ หรืออีกหลายเดี๋ยวที่น่าจะนับไม่ถ้วนที่มนุษย์เรามักพูดกันจนคุ้นชินคุ้นปากกันทุกหมู่เหล่าไม่ว่าจะเป็นคนคร้านหรือคนขยันก็ตามแต่ ทุกคนมักมีวลี “เดี๋ยว” เป็นของตนเองไว้ก่อนเสมอ หากแต่ความต่างกันคือเดี๋ยวของคนขี้เกียจอาจเป็น “เดี๋ยวก่อน” แต่สำหรับคนขยันอาจเป็น “เดี๋ยวนี้”

           ดังที่จะกล่าวในบทความนี้เห็นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “เดี๋ยว” ชนิดแรกที่ว่าใครโดนเข้าไปก็ย่อมต้องประสบกับล้มเหลวกันไปมากแล้วกับคำๆ นี้ เนื่องจากเป็นคำฉุดรั้งไม่ให้ก้าวเข้าไปทำในสิ่งที่ตนเองปราถนา หรืออาจไม่ปราถนาแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ไปสู่ความปราถนาได้ เช่น การทำการบ้าน ความปราถนาคือทำส่งอาจารย์ หากแต่ถ้ามีเดี๋ยวก็ย่อมฉุดไว้ก่อนว่ายังไม่ต้องทำ ณ เดี๋ยวนั้น การผลัดวันในการออกกำลังกาย หรือการละเลยเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

           เหล่านี้ที่ว่ามาคือนิสัยที่เรียกว่า “การผัดวันประกันพรุ่ง” ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่หลายคนกำลังประสบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่านักศึกษา ที่ต้องสู้กับตนเองในการทำอะไรต่างๆ แล้ว ยังต้องพบกับสังคมที่อาจหล่อหลอมให้เกิดนิสัยนั้นขึ้นมาอีกด้วย

           เกี่ยวกับเรื่องนี้หากผู้อ่านต้องการศึกษาให้ลึกมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถเข้ามาหาอ่านได้ในหนังสือ Eat that frog! : 21 great ways to stop procrastinating and get more done in less time ของ Brian Tracy ได้ที่สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเก้าธนบุรี [สืบค้นได้ที่นี่]

 

นิสัยนี้เกิดจากอะไร?

           เรื่องนี้อาจเป็นไปตามลักษณะส่วนตัวของแต่ละคน บางคนอาจมีความมั่นใจ หรือภาคภูมิใจในตนเองต่ำ ความวิตกกังวล หรือความไม่อยากทำงานที่ยาก ซึ่งอาจพบได้ในหลายๆ ลักษณะ ดังนี้

           - มีชุดความคิดที่ว่าหากอยากให้งานเสร็จต้องให้ตนเองอารมณ์ดีก่อน คนประเภทนี้มักกล่าวอ้างว่าตอนนี้สภาวะทางอารมณ์ของตนเองนั้นไม่ปกติ จึงยังไม่พร้อมเริ่มทำงานและหันไปทำสิ่งอื่นๆ ที่ชอบแทน อาจไปเล่นเกม หรือรับชมภาพยนตร์ โดยพบว่าโลกโซเชียล (Social Media) อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนใช้เวลาในการท่องอินเทอร์เน็ตแทนการทำงาน และนำไปสู่การมีนิสัยผัดวันประกันพรุ่งติดตัวได้มากขึ้น

           - การกลัวความล้มเหลวจากการทำงาน คนกลุ่มนี้ชัดเจนว่ามีความมั่นใจในตนเองอยูที่ระดับต่ำ จนส่งผลให้ไม่กล้าลงมือในการทำงาน หรืออีกนัยหนึ่งคืออาจเป็นผู้ที่รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ซึ่งมักตั้งมาตรฐานในการทำสิ่งต่างๆ ไว้สูงลิ่ว จึงคิดว่าไม่มีทางที่จะทำงานได้ดีตามที่หวังไว้ และอาจทำให้เกิดนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้

         - เชื่อว่าตนเองจะมีแรงกระตุ้นให้ทำงานได้ดีในสภาวะกดดัน คนกลุ่มนี้มักเลื่อนเวลาออกไปเรื่อยๆ และรอจนใกล้แถบเวลาเส้นยาแดงผ่าแปดจึงจะเริ่มทำงาน

           - ไม่สามารถจัดการงานที่ได้รับมอมหมายได้ โดยอาจเกิดจากการขาดทักษะการแก้ไขปัญหา รวมทั้งความยากและจำนวนงานที่มากเกินความสามารถ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่รู้ว่าควรเริ่มงานอย่างไร และไม่สามารถวางแผนการทำงานได้ จึงเกิดความสับสนและมักเริ่มทำงานที่ง่ายที่สุดก่อนแม้จะมีงานอื่นที่มีกำหนดส่งก่อนก็ตาม

           - มีภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ซึ่งเป็นภาวะของการรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ และหมดแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ จำพวกนี้มักเลื่อนเวลาการทำงานออกไปเพราะรู้สึกหมดพลังและขาดแรงกระตุ้นในการทำงาน

 

จะปรับปรุงตนเองได้อย่างไรบ้าง?

           การปรับพฤติกรรม และเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติในการทำงาน สามารถช่วยให้นิสัยผัดวันประกันพรุ่งดีขึ้นได้ อาจค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มีกำลงใจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง

         1. วางแผนการทำงานทุกครั้ง : ในงานใหญ่ จำเป็นต้องวางแผนมากๆ เพื่อให้มีความสม่ำเสมอ และเมื่อสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะส่งผลให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่า ภาคภูทิใจที่สามารถทำงานชิ้นนั้นออกมาได้ดี และเมื่อวางแผนบ่อยครั้งจนเป็นนิสัย จึงทำให้ไม่ต้องพยายามบังคับตนเองให้ลุกมาทำงานอย่างยากลำบากได้เช่นกัน

           2. จัดลำดับความสำคัญของงานในแต่ละวัน : งานชิ้นเล็ก-ใหญ่ หรืองานเร่ง บางครั้งเมื่องานเยอะเกินไปอาจขาดการจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งได้ ทำให้มีโอกาสผัดวันประกันพรุ่งขึ้นอีก กราจัดลำดับความสำคัญในแต่ละงานสามารถช่วยให้กำหนดเวลาทำงานในแต่ละงานได้

           3. จำกัดชั่วโมงในการทำงานแต่ละชิ้น : หากงานเยอะแล้วรู้สึกเหนื่อยล้าจนเกินเหตุและกระทบกับงานส่วนอื่นๆ จึงควรแก่การจัดชั่วโมงการทำงานของงานแต่ละชิ้น เช่น อาจทำงานชิ้นแรก 30 นาที ชิ้นที่สอง 20 นาที เป็นต้นตามความเหมาะสม

         4. เลือกสถานที่ทำงานที่ให้สมาธิได้ดี : ในทุกวันนี้มีหลายองค์กรเริ่มมีการทำงานแบบ Hybrid มากยิ่งขึ้น ไม่ต้องงเข้าออฟฟิศทุกวัน การเลือกที่ทำงานที่เหมาะกับตนเองในการทำงาน สามารถช่วยสร้างสมาธิในการทำงานได้อย่างเต็มที่ โฟกัสกับงานได้ดีมากขึ้น

           5. จัดการกับอารมณ์และความรู้สึก : ข้อนี้อาจสำคัญที่สุดเลยกว่าได้ หากรู้ตัว่าตนเองเป็นเช่นไรอยู่ จะทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นและสามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกตนเองได้ เช่น หากรู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญ อาจต้องมองหาคุณค่าหรือข้อดีในการทำงานนั้นๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อหน่ายกับการทำงาน

 

           ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น การผัดวันประกันพรุ่งเป็นพฤติกรรมที่สามารถแก้ไขได้ หากแต่ละคนรู้เท่าทันสาเหตุและมีวิธีรับมือที่เหมาะสม การเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ และมีวินัยในการทำงาน จะช่วยให้สามารถจัดการกับนิสัยนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           ด้วยเหตุนี้ อย่าปล่อยให้การผัดวันประกันพรุ่งมาขโมยโอกาสและความสำเร็จไปได้

           ทำให้ดี ตั้งแต่วันนี้ครับ

 

 

 

Reference

1 : BrainyQuote. (n.d.). Napoleon Hill Quotes. Napoleon Hill - Procrastination is the bad habit of...

2 : รวิศ หาญอุตสาหะ. (2563). Superproductive (พิมพ์ครั้งที่ 12). สำนักพิมพ์ KOOB

3 : PobPad. (ม.ป.ป.). ผัดวันประกันพรุ่ง เทคนิคเปลี่ยนนิสัยให้เริ่มทำเดี๋ยวนี้. ผัดวันประกันพรุ่ง เทคนิคเปลี่ยนนิสัยให้เริ่มทำเดี๋ยวนี้ - พบแพทย์

4 : นาถวีณา ดำรงพิพัฒน์สกุล. (ม.ป.ป.). How to หยุดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง. โรงพยาบาลมนารมย์. How to หยุดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง

5 : Humanica. (3 กุมภาพันธ์ 2023). เทคนิคเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง เปลี่ยนให้คุณเป็นคนใหม่. เทคนิคเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง เปลี่ยนให้คุณเป็นคนใหม่ - Humanica


Categories

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...