Logic in Action: การเรียนรู้ผ่านการสอนแบบนิรนัย
"What I cannot create, I do not understand."
“สิ่งที่ฉันไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ หมายความว่าฉันยังไม่เข้าใจมันจริง ๆ"
— Richard Feynman
การเรียนการสอนในระบบการศึกษา ล้วนมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปฏิรูปแนวทางให้เหมาะสม หรือให้หลากหลายมากยิ่งขึ้นเพื่อสนองตอบต่อตัวผู้เรียนในแต่ละสาขาวิชาเพื่อให้ได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากในการศึกษา
แม้ว่าบางทีปัญหาเรื่องการศึกษาจะมาจากปัจจัยได้หลายส่วน ทั้งเรื่องสถาบัน ตัวผู้สอน ตัวผู้เรียน ไปจนถึงภูมิหลังของตัวผู้เรียนไปในแต่ละบุคคล ที่อาจส่งผลกระทบต่อการศึกาของแต่ละคนได้ หากแต่สิ่งหนึ่งที่หากแก้ไม่ได้ทั้งหมด ก็ไม่ควรให้ทุกอย่างด้อยลงทั้งหมด กล่าวคือ ทำไม่ได้ทุกส่วน ก็อย่าทิ้งไปเสียทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้การพัฒนาแนวทางการศึกษาจึงมีขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การสอนเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียน
บทความชิ้นนี้จึงจะกล่าวถึงแนวทางการสอนรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นการใช้หลักการ กฎ หรือทฤษฎีทั่วๆ ไป แล้วจึงค่อยยกตัวอย่าง หรืออธิบายรายละเอียดเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจแนวคิดนั้นอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งก็คือการเรียนการสอนแบบ “นิรนัย”
ว่าด้วยนิรนัย
การสอนเป็นกระบวนการที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน โดยเหนึ่งในวิธีการสอนที่ได้รับความนิยมคือ การสอนแบบนิรนัย (Deductive Teaching Method) ซึ่งเป็นการนำเสนอหลักการหรือกฎทั่วๆ ไปก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยอธิบายรายละเอียดหรือยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจแนวคิดนั้นได้อย่างเป็นรูปธรรม การสอนลักษณะนี้เป้นที่แพร่หลายในวิชาที่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน อาทิ รายวิชาคณิตศาสตร์ ไวยากรณ์ภาษา หรือวิทยาศาสตร์
เมื่อมีการกล่าวถึงหลักการและทฤษฎีการสอน ผู้สอนบางคนอาจคิดว่าเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและซับซ้อนต่อการเรียน ผู้สอนจำนวนมากจึงเน้นด้านการเรียนการสอนโดยอธิบายรายละเอียดให้ผู้เรียนทราบก่อน แต่อันที่จริงแล้ว การสอนโดยให้ทราบถึงหลักการและทฤษฎีก่อนนั้น จะทำให้ผู้เรียนได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนอธิบายโดยละเอียด เนื่องจากผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทฤษฎีเหล่านั้นแล้วนำมาแตกย่อยเป็นตัวอย่างได้โดยง่าย เพียงนึกถึงตัวหลักการหรือทฤษฎีก็จะเข้าใจรายละเอียดได้โดยที่ไม่ต้องจำจากตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดที่เกิดจากหลักการได้อย่างถูกต้อง
การสอนโดยใช้การนิรนัย จึงเป็นแนวทางที่อาศัยตรรกะการให้เหตุผลจากทั่วไป นำไปสู่รายละเอียด หรือจากทฤษฎี ไปสู่การปฏิบัติ วิธีการนี้เน้นการอธิบายเป็นหลักการก่อน แล้วจึงค่อยใช้ตัวอย่างและแบบฝึกหัดเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนและทำความเข้าใจแนวคิดที่เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
จะจัดการสอนแบบนิรนัย?
จัดการสอนแบบนิรนัย อาจไม่ได้เป็นขั้นเป็นตอนตายตัว ซึ่งอันที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับผู้สอนเสียมากกว่าว่าจะสื่อสารออกมาในรูปแบบการพูดเช่นไร หากแต่ขั้นตอนที่เสนอมานี้ ข้าฯ เห็นว่ามีความเข้าใจได้ง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ได้ก่อนเพื่อค้นหาแนวทางของตนเองต่อไป
1. ขั้นกำหนดขอบเขตของปัญหา : เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนโดยการเสนอปัญหาหรือระบุสิ่งที่จะสอนในแง่ของปัญหา เพื่อยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะหาคำตอบ ปัญหาที่จะนำเสนอควรจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของชีวิตและเหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
2. ขั้นแสดงและอธิบายทฤษฎี : เป็นการนำเอาทฤษฎี หลักการ กฎ ข้อสรุปที่ต้องการสอนมาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทฤษฎีหลักการนั้น
3. ขั้นใช้ทฤษฎี หลักการ : เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะเลือกเอาทฤษฎี หักการ กฎ ข้อสรุป ที่ได้จากการเรียนรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาที่กำหนดไว้ได้
4. ขั้นตรวจสอบและสรุป : เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนจะตรวจสอบและสรุปทฤษฎี หลักการ กฎ ข้อสรุปหรือนิยามที่ใช้ว่าถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่? โดยอาจปรึกษาทางผู้สอน หรือค้นคว้าจากตำราต่างๆ หรือจากการทดลอง ข้อสรุปที่ได้พิสูจน์หรือตวรจสอบว่าเป็นจริง จึงจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง
5. ขั้นฝึกปฏิบัติ : เมื่อผู้เรียนเกิดความเข้าใจในทฤษฎี หลักการ กฎ ข้อสรุป พอสมควรแล้วผู้สอนควรเสนอสถานการณ์ใหม่ให้ผู้เรียนฝึกนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ ที่หลากหลาย
ยกตัวอย่างการสอน
ตัวอย่างที่ 1 การสอนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ
- ผู้สอนเริ่มต้นด้วยการอธิบายฎของ Present Perfect Tense
- จากนั้นยกตัวอย่างประโยค เช่น “She Has Lived Here for Five Years”
- ให้ผู้เรียนลองแต่งประโยคของตนเองตามกฎเกณฑ์ที่เรียน
- ผู้สอนตรวจสอบลอธิบายข้อผิดพลาดพร้อมสรุปบทเรียน
ตัวอย่างที่ 2 การสอนคณิตศาสตร์
- ผู้สอนอาจเริ่มต้นด้วยการอธิบายสูตร พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า = กว้าง x ยาว
- จากนั้นนำตัวอย่าง เช่น ถ้ากว้า 4 ซม. และยาว 8 ซม. พื้นที่จะเป็น 32 ตร.ซม.
- ให้ผู้เรียนทำโจทย์คำนวณเพิ่มเติมเพื่อฝึกฝน
- ครูช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดและทบทวนแนวคิด
หากท่านผู้อ่านอยากศึกษาถึงแนวทางการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น สามารถค้นคว้าได้ในหนังสือ Learning to teach in higher education ของ Paul Ramsden ได้ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [สามารถสืบค้นได้ที่นี่]
มาถึงจุดๆ นี้ ทำให้เราต่างทราบว่าการสอนแบบนิรนัยถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยเน้นการอธิบายหลักการก่อนแล้วจึงค่อยฝึกปฏิบัติ เหมาะสำหรับวิชาที่มีหลักเกณฑ์แน่นอน และต้องการความเข้าใจที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด บางครั้งการผสมผสานกับวิธีการสอนแบบอุปมัยก็อาจช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
Reference
1 : Goodreads. (n.d.). Richard P. Feynman. Quote by Richard P. Feynman: “What I cannot create, I do not understand.”
2 : Krupatom. (9 มิถุนายน 2018). การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย (Deductive Method). การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย (Deductive Method)
3 : สุกัญญา แสนสุโพธิ์. (1 มีนาคม 2561). วิธีสอนแบบนิรนัย (Deductive Method). Sukanyasansupo. การออกแบบและการจัดการเรียนรู้: วิธีสอนแบบนิรนัย (Deductive Method)
4 : Narong Kanchana. (ม.ป.ป.). นิรนัย. Skruteachingmethods. วิธีสอน (Teaching Methods): นิรนัย
Categories
Hashtags