Learning Orientation
ทักษะที่ “เหมือน” จะถูกมองข้าม (แต่ไม่!)
หากว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้ เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยย่อมนึกถึงคำหลายๆ คำที่บ่งบอกถึงการพัฒนาตนเองโดยการรับความรู้ใหม่ๆ อาทิ Self-Directed Learning, Self-Awareness, Growth Mindset และอีกนานาศัพท์แสงทั้งหลายแหล่อันเป็นที่นิยมใช้กันในหมู่วัยรุ่น
หากแต่ยามเมื่อได้ยินคำว่า “Learning Orientation” ย่อมเป็นที่ส่ายหัวสำหรับชนทุกหมู่เหล่าพลางตั้งคำถามในหัว “มันคืออะไร?”
ครับ สิ่งที่กำลังจะกล่าว คือ เราทุกคนอยู่ในลูปของคำว่า Learning Orientation กันทั้งสิ้น หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในวงจรของสิ่งนี้อยู่ ซึ่งนับว่าควรค่าแก่การทำความรู้จักกับทักษะแขนงนี้ เพื่อให้ทราบถึงการเรียนรู้ในแนวทางที่หลากหลายจนสามารถแบ่งแยกแต่ละแนวทางเพื่อการวางแผนชีวิตของแต่ละคนได้ในอนาคต ที่จะต้องเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
หากย้อนกลับไปเมื่อตอนยังเล็ก การเทน้ำร้อนลงแก้วกาแฟสำเร็จเป็นครั้งแรกในชีวิตอยู่ในทักษะ Learning Orientation ฉันใด
การถูกน้ำร้อนลวกจากการเทไม่ลงแก้วกาแฟ ก็นับเป็นทักษะ Learning Orientation ฉันนั้น
ต่อไปนี้มาทำความรู้จักกับ Learning Orientation กันครับ
Learning Orientation นิยามและความหมาย
เกี่ยวกับคำๆ นี้ มีนักวิชาการจำนวนมากได้ให้ความหมายกันคนละรูปแบบ ซึ่งกินความรวมไปถึงในหลากสาขาวิชาชีพ แต่หากเมื่อนำมาสรุป ทั้งหมดจะอยู่ในความหมายที่คล้ายคลึงกัน เช่น
Huber (1991) กล่าวถึง Learning Orientation โดยให้ความหมายของการมุ่งเน้นการเรียนรู้ว่าเป็นวัฒนธรรมองค์การประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพที่จะส่งกระทบต่อพฤติกรรม ขณะที่ Baker and Sinkula (1999) ให้ความหมายของ Learning Orientation ว่าเป็นการให้ความสำคัญที่นอกเหนือไปกว่าการให้ความสำคัญกลไกของตลาดซึ่งองค์การที่มีการสนับสนุนการเรียนรู้ เป็นแนวทางให้เกิดกิจกรรมในการประมวลผลข้อมูลทางการตลาดและเกิดการดำเนินการขององค์การ
จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจเน้นไปที่ความหมายเชิงธุรกิจเป็นหลัก แต่หากจะนำมาปฏิบัติโดยสามัญชนทั่วไป สามารถทำความเข้าใจได้ว่า Learning Orientation คือ “ทัศนคติหรือแนวโน้มที่บุคคลหรือองค์กรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ การพัฒนา และการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายและเพิ่มศักยภาพในระยะยาว” ซึ่งเป็นกรอบคิดที่มุ่งเน้นการแสวงหาความรู้ใหม่ การแก้ปัญหา และการเติบโตจากประสบการณ์
ทั้งนี้ อาจแบ่งนิยามของ Learning Orientation เป็น 2 ระดับ ดังนี้
1 : ระดับบุคคล (Individual Learning Orientation) หมายถึง
การที่บุคคลมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ เปิดรับข้อคิดเห็น และมุ่งพัฒนาตนเองจากความผิดพลาดหรือความสำเร็จ
2 : ในระดับองค์กร (Organization Learning Orientation) หมายถึง
การที่องค์กรให้คุณค่ากับการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีการส่งเสริมวัฒนธรรมที่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ การทดลอง และการถ่ายทอดความรู้ภายในองค์กร
โดยต่อไปนี้ ในบทความที่เราจะกล่าวถึงต่อไป จะเป็นความหมายในระดับบุคคลครับ
คนไทยมองข้ามทักษะนี้จริงหรือ?
จากเมื่อข้างต้นที่ได้จำแนกไว้ ว่าเราต่างก็ไม่ค่อยจะคุ้นหูกับคำว่า Learning Orientation ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่าเราอาจมองข้าม แต่นั่นเป็นแค่เชิงนามธรรมครับ หากแต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมนั้นมาจากพฤติกรรมของเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดในการต่อยอดในทักษะหลายๆ ด้าน
โดย Learning Orientation หรือการมีแนวโน้มและทัศนคติที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ เป็นทักษะสำคัญในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ในบริบทของเยาวชนชาวสยามประเทศ การให้ความสำคัญกับ Learning Orientation อาจยังไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งสำคัญในเท่าที่ควร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น วัฒธรรมองค์กร ระบบการศึกษา และค่านิยมในสังคม ซึ่งเหตุผลที่อาจสนับสนุนได้ว่าทักษะนี้ถูกมองข้ามในสังคมไทยมีดังนี้
1 : ระบบการศึกษาแบบท่องจำ
การศึกษาของไทยในอดีตกาลมักเน้นการท่องจำเพื่อเข้าสอบเป็นหลัก มากกว่าการสร้างทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) [สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการคิดเชิงวิเคราะห์ได้ที่นี่] และการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยขาดการพัฒนาความสามารถในการปรับตัวและใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2560 ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว). จัดงานเสวนา “Knowledge Farm Talk#2 : 7 แพร่ง ทางออกการศึกษาไทย” โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมเพื่อถกประเด็นปัญหาการศึกษาไทยและเพื่อสร้างแนวทางการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในช่วงหนึ่ง ด้าน ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ หัวหน้าโครงการจัดการความรู้และการสื่อสาร เผยถึงผลกระทบจากการศึกษาไทยว่า ในฐานะที่เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า นักศึกษาบางคนตอบตัวเองไม่ได้ว่าชอบอะไร อยากทำงานอะไรในอนาคต ได้คำตอบเพียงว่า “เพราะหนูเรียนมา 7 วัน” จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าช่วงที่ยังเรียนในสมัยมัธยมปลายนั้น เด็กมีการเรียนมากเกินไป และเป็นการเรียนในรูปแบบท่องจำ โดยไม่เกิดการตั้งคำถามและทำให้ผู้เรียนขาดการวิเคราะห์รวมถึงทักษะชีวิต
2 : วัฒนธรรมที่เน้นลำดับชั้น
ในบางองค์กรของประเทศไทยที่ยึดกับลำดับขั้นหรือการเชื่อฟังผู้ใหญ่ อาจทำให้คนรุ่นใหม่ลังเลที่จะตั้งคำถามหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เนื่องจากกลัวว่าจะขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ
3 : ความกลัวความล้มเหลว
ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญครับ เพราะในสังคมไทย การล้มเหลวมักถูกมองในแง่ลบ ผ่านการถูกลงโทษอย่างรุนแรงในวัยเด็ก การถูกทำให้อับอายเมื่อเกิดความผิดพลาด การถูกกดดันจากครอบครัว หรือแม้แต่การเลี้ยงดูที่เข้มงวด ซึ่งอาจทำให้หลายคนไม่กล้าลองสิ่งใหม่ๆ หรือเรียนรู้จากความผิดพลาด จนบางครั้งอาจเข้าข่ายของโรค Atelophobia (โรคกลัวความผิดพลาด) เลยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้คงต้องมาปรับกันตั้งแต่แก้ไขปัญหาส่วนตัว มาจนกระทั่งปรับทัศนคติใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้นับว่าซับซ้อนค่อนข้างมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยครับ
ตามข้อมูลที่ได้นำเสนอ เป็นสิ่งที่จำต้องยอมรับว่าคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่ในระยะหลังนี้สังคมไทยก็สามารถมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงได้ เนื่องมาจากในยุคดิจิทัลหลังโควิด-19 สังคมไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าทักษะนี้สำคัญต่อการอยู่รอดในยุคที่เทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
เกี่ยวกับ Learning Orientation นับว่าเป็นทักษะจำเป็นแห่งยุคดังที่เราทราบกันดี ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มิได้นิ่งนอนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยทาง มจธ. ได้มีการริเริ่มนโยบายส่งเสริมทักษะการมุ่งเน้นการเรียนรู้ภายใต้นโยบาย KMUTT Generic Competence เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาที่จบจากรั้วมหาวิทยาลัย มีความสามารถในการแสวงหาความรู้นอกตำราเรียนได้ [สามารถอ่านนโยบายได้ที่นี่ Generic Competence Rubric Book_Vertical]
มาถึงตรงนี้ คาดว่าผู้อ่านเห็นจะต้องกลับมามองตนเองล่ะครับ ว่าแต่ละท่านนั้นมีแนวโน้มอย่างไรต่อทักษะด้านนี้ อันที่จริงแล้ว หากท่านเป็นคนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอด ก็นับว่ามีทักษะนี้แล้วครับ เพียงแต่การทำความรู้จักชื่อของทักษะนี้ อาจช่วยต่อยอดให้เราเข้าใจในบริบทของการเรียนรู้ได้ เพราะเป็นการเรียนรู้ที่รวมทั้งการกระทำที่ประสบความสำเร็จ และความล้มเหลวไปด้วยตามที่ได้ยกตัวอย่างไปในตอนแรกว่า
“หากย้อนกลับไปเมื่อตอนยังเล็ก การเทน้ำร้อนลงแก้วกาแฟสำเร็จเป็นครั้งแรกในชีวิตอยู่ในทักษะ Learning Orientation ฉันใด
การถูกน้ำร้อนลวกจากการเทไม่ลงแก้วกาแฟ ก็นับเป็นทักษะ Learning Orientation ฉันนั้น”
ย่อมมาจากการเรียนรู้ ที่มาจากการมองพ่อรินน้ำร้อน ดูวิดีโอ ฟังวิธีการ หรือลงมือทำ ที่ช่วยให้แต่ละคนหาวิธีเทน้ำร้อนลงแก้สำเร็จได้ด้วยดี
มุ่งเน้นการเรียนรู้จากทุกสิ่ง สู่สังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงครับ
Reference
1 : KTC Academy. (17 August 2024). Learning Orientation: การมุ่งเน้นที่การเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์. Learning Orientation: การมุ่งเน้นที่การเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ - KCT Academy Thailand
2 : ชยนรรจ์ ขาวปลอด, ทิพย์รัตน์ เลาหวิเชียร. (2018). การมุ่งการเรียนรู้ ความสามารถทางการแข่งขันและผลการดำเนินงานทางธุรกิจของอุตสาหกรรมในประเทศไทย. WMS Journal of Management Walailak University, 7(2), 87-96.
3 : อัษฎางค์ อินแป้น. (27 กุมภาพันธ์ 2017). ชี้เด็กไทยถูกผูกขาดทางการศึกษา เน้นการท่องจำ. กรุงเทพธุรกิจ. ชี้เด็กไทยถูกผูกขาดทางการศึกษา เน้นการท่องจำ
Categories
Hashtags