Emotional Intelligence : หัวใจของความฉลาดในโลกยุคใหม่
“Emotional intelligence is the ability to sense, understand, and effectively apply the power and acumen of emotions as a source of human energy, information, connection, and influence.”
“ความฉลาดทางอารมณ์คือความสามารถในการรับรู้ เข้าใจ และใช้พลังของอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพในฐานะแหล่งพลังงาน ข้อมูล ความสัมพันธ์ และอิทธิพลของมนุษย์”
— Robert K. Cooper
ในยุคที่เทคโนโลยีมีการผันแปรปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับการก้าวขึ้นไปสู่ขั้นของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการทำงาน เกี่ยวกับสิ่งนี้ หนึ่งในทักษะที่มักถูกหยิบมาพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ความฉลาดทางอารมณ์” หรือ “Emotional Intelligence” (EI) ซึ่งนับว่าเป็นคุณลักษณะที่สามารถต่อยอดให้มนุษย์เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และสามารถบริหารจัดการความรู้สึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ว่าด้วย ความฉลาดทางอารมณ์?
Emotional Intelligence หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ คือการที่ใครคนใดคนหนึ่งสามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกตัวเองและผู้อื่น และสามารถบริหารจัดการอารมณ์ตัวเอง และแสดงออกต่อผู้อื่นในเชิงบวกได้ (ไม่ใช่การเข้าไปบวกนะครับ) โดยหากใครมีความฉลาดทางอารมณ์แล้ว ก็นับได้ว่าเป็นผู้ที่มี Emotional Intelligence Quotient หรือ EQ ที่ดี บ่งบอกได้ว่าเป็นมนุษย์ผู้ไม่จมปลักอยู่กับความเครียดและความทุกข์นานจนเกินควร มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อารมณ์มั่นคง สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ทำให้ผู้อื่นสบายใจเมื่ออยู่ด้วย และสามารถเผชิญกับปัญหาด้วยทัศนคติเชิงบวก
ทำไมความฉลาดทางอารมณ์จึงสำคัญ?
แม้หากจะกล่าวถึงว่าความฉลาดทางสติปัญญาก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และมีบทบาทในการเรียนรู้และการวิเคราะห์ข้อมูล แต่การค้นคว้าหลายๆ ชิ้นบ่งบอกว่า คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ที่ดี มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิตมากกว่า เช่น ในที่ทำงาน คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง มักเป็นคนที่สามารถนำทีมได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี แก้ปัญหาได้ดี และสามารถจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์
ในขณะที่ด้านแวดวงการศึกษา พบว่าผู้เรียนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ มักสามารถจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน สามารถสื่อสารกับเพื่อนหรือครูได้อย่างเหมาะสม ส่วนในชีวิตประจำวัน ความฉลาดทางอารมณ์ยังถือเป็นพื้นฐานของสุขภาวะทางจิตใจ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และการมีความสุขโดยรวม
ด้าน แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกัน ได้เสนอความคิดเห็นไว้ว่า ความฉลาดทางอารมณ์ จะประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self Awareness) : หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจ และรับรู้อารมณ์ของตนเอง ข้อนี้ถือเป็นข้อที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในแต่ละคน โดยผ่านการรู้จักตนเองก่อนว่าเป็นคนอารมณ์แบบไหน ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการแสดงออกหรือพฤติกรรมของตัวเอง และส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร ด้านไหนเป็นด้านที่ดี หรือไม่ดี เพื่อแก้ไขให้ถูกจุด
2. การควบคุมตนเอง (Self Management) : หลังจากที่เรารับรู้อารมณ์ของตนเองและผลกระทบที่มีต่อผู้อื่นแล้ว สามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ แล้วแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น เมื่อฟังทีมงานพูดแล้วรู้สึกหงุดหงิด ก็ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังหงุดหงิด แล้วพยายามควบคุมไม่ไประเบิดใส่ทีมของตัวเอง
3. ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Social Skills) : การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้บรรยากาศในการทำงานดีและผู้อื่นอยากที่จะทำงานด้วย เช่น การเป็นผู้ฟังที่ดี การสื่อสารด้วยวัจนะภาษา การสื่อสารด้วยอวัจนะภาษา หรือการให้เกียรติผู้อื่น เป็นต้น
4. การเข้าใจผู้อื่น (Empathy) : หมายถึงความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านบุคลิก ความรู้สึก และความต้องการ และแสดงความใส่ใจเป็นพิเศษหากเข้ารู้สึกไม่ดี กังวล เศร้า หากมีการใส่ใจผู้อื่นโดยรับฟังมากกว่าแค่คำพูด สังเกตน้ำเสียง และภาษากาย จะช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือใส่ใจด้วยจริงใจจากใจจริงๆ
5. การสร้างแรงจูงใจ (Motivation) : เป็นคนที่มีแรงจูงใจจากภายใน เต็มไปด้วยพลังที่ขับเคลื่อนจากภายใน มากกว่าแรงจูงใจจากภายนอก เช่น เงิน ชื่อเสียง การได้รับการยอมรับ โดยมีการตั้งเป้าหมายและลงมือทำจนบรรลุเป้าหมาย ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคหรือความยากลำบาก
หากผู้อ่านสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม ขอแนะนำหนังสือชื่อ Emotional intelligence coaching : improving performance for leaders, coaches and the individual โดย Stephen Neale, Lisa Spencer-Arnell และ Liz Wilson ซึ่งสามารถมาค้นคว้าได้ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [สามารถสืบค้นได้ที่ลิงก์นี้]
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ทราบได้เลยว่า ความฉลาดทางอารมณ์ คือทักษะที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน พนักงาน หัวหน้างาน หรือแม้แต่คนธรรมดาในสังคม เราทุกคนสามารถคว้าประโยชน์จากการพัฒนาเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจตนเองได้มากขึ้น เข้าถึงผู้อื่น และดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืน
Reference
1 : Lybra Group.com. (n.d.). “Emotional Intelligence is the ability to sense, understand, and effectively apply the power and acumen of emotions as a source of human energy, information, connection, and influence”– Robert. K. Cooper. Emotional Intelligence - Lybra Training, Coaching & Consulting N.V.
2 : ADECCO. (21 January 2022). ทำความรู้จัก Emotional Intelligence ทักษะสำคัญที่คนทำงานต้องมี. Adecco Thailand - ทำความรู้จัก Emotional Intelligence ทักษะสำคัญที่คนทำงานต้องมี
3 : ธันยพร จารุไพศาล. (ม.ป.ป.). ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) โดย ภญ.ธันยพร จารุไพศาล. Workwithpassiontraining. ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) โดย ภญ.ธันยพร จารุไพศาล
4 : คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (27 มีนาคม 2567). ความฉลาดทางอารมณ์ – Emotional intelligence. ความฉลาดทางอารมณ์ - Emotional intelligence[:] - คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5 : นครินทร์ วนกิจไพบูลย์. (10 พฤษภาคม 2019). Emotional Intelligence ความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะสำคัญที่สุดของผู้นำในศตวรรษที่ 21. The Standard. Emotional Intelligence ความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะสำคัญที่สุดของผู้นำในศตวรรษที่ 21 – THE STANDARD
Categories
Hashtags