E-Learning บริบทการศึกษาใหม่ของไทยหลังยุคโควิด
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบวงกว้างในหลายมิติทั่วโลก รวมทั้งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาในหลายแง่มุม ตั้งแต่การปิดการเรียนการสอน การปรับมาใช้การสอนผ่านระบบกลไกต่างๆ ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมาที่ทำให้เด็กหลายคนต้องออกจากสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็กลายเป็นแรงผลักดันบังคับให้เกิดการปรับตัวและนำมาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบการศึกษาใหม่ๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองในรูปแบบที่แตกต่างกันไปจนเป็นโมเดลใหม่ๆ ที่สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ทั่วโลก และสิ่งหนึ่งที่ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ การเรียนรู้แบบ E-Learning ซึ่งอันที่จริงแล้วเกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1999 เสียด้วยซ้ำหากแต่ตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาถือเป็นยุคที่เริ่มนำมาใช้กันมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งในอีก 20 ปีถัดมาก็ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นประวัติการณ์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
แล้ว E-Learning คืออะไร?
E-learning แบบให้สามารถเข้าใจได้ หมายถึง การเรียนผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งใช้การนำเสนอเนื้อหาทางคอมพิวเตอร์ในรูปของสื่อมัลติมีเดีย อาทิ ข้อความอิเล็กทรอนิกส์ ภาพนิ่ง ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว ภาพสามิติ ฯลฯ โดยเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ได้มีงานศึกษาหลายชิ้นที่ให้การสนับสนุนว่า เนื้อหาการเรียนที่ถูกถ่ายทอดผ่านทางมัลติมีเดียนั้น สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนจากสื่อข้อความเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ E-Learning ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนที่มีอยู่เดิม เป็นการเรียนทีใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เช่น อินเทอร์เน็ต ดาวเทียม วิดีโอเทป แผ่นซีดี ฯลฯ โดยคำว่า E-learning จะใช้ในสถานการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมายกว้างขวาง มีความหมายรวมถึงการเรียนทางไกล การเรียนผ่านเว็บไซต์ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยสถานการณ์ดังกล่าวมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ประการหนึ่งคือ การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นสื่อในการเรียนรู้
เหล่านี้เป็นรูปแบบการสอนอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถตอบสนองต่อผู้เรียนได้มากกว่าการจัดการศึกษาในห้องเรียน และมากกว่าในตำราที่ใช้สอน การเรียนรู้ในรูปแบบนี้ทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน และยังสามารถเรียนรู้ได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา ที่มีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การใช้ E-Learning ยังช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามศักยภาพละความสนใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักการของการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนต่อยอดความสามารถตามที่แต่ละคนมีความถนัดในด้านนั้นๆ ดังนั้น ผู้เรียนมีอิสระในการจะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สอนจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้จากสิ่งที่รู้อยู่แล้วไปสู่สิ่งที่ไม่รู้มาก่อน สามารถสร้างแนวคิดเพื่อหาขอสรุป รวมทั้งสร้างระบบเนื้อหาโดยการเน้นจากการทดลองของผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างทักษะในการใช้แสวงหวความรู้ได้ด้วยตนเอง
E-Learning นั้น ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มีการพัฒนาในตัวผู้เรียน รวมไปถึงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งทักษะเหล่านี้ยังเป็นทักษะพื้นฐานด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจำเป็นสำหรับคนยุคปัจจุบัน
E-learning มีรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ลักษณะการจัดการเรียนการสอน โดยพิจารณาผ่านรูปแบบการสื่อสารจะนำเสนอได้ 2 รูปแบบ คือ
1 : รูปแบบการเรียนการสอนแบบประสานเวลา (Synchronous Learning methods) เป็นการใช้ระบบ E-Learning ที่ผู้เรียนและผู้สอนมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง เพื่อเสนอเนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจอยู่ในสถานที่เดียวกันหรือต่างสถานที่กันก็ได้ ถ้าเป็นสถานที่เดียวกัน ก็เหมือนกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ แต่อาจใช้ระบบ E-Learning โดยหยิบสื่อมัลติมีเดียมาช่วยในการเรียนการสอน แต่ถ้าอยู่คนละสถานที่ ระบบ E-learning ก็จะเป็นการประยุกต์ใช้ Video Conference การใช้โปรแกรม Chat สำหรับส่งข้อความที่เป็นภาพ ตัวอักษร หรือเสียง ซึ่งในยุคนี้การใช้โทรศัพท์มือถือก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถใช้เรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน
2 : รูปแบบการเรียนการสอนแบบไม่ประสานเวลา (Asynchronous Learning methods) เป็นการเรียนการสอนที่ผู้สอน และผู้เรียนไม่จำเป็นต้องพบกันตามเวลาในตารางที่กำหนดไว้ แต่ผู้สอนและผู้เรียนสามารถติดต่อกันได้ โดยใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและสถานที่ ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ (Anywhere Anytime) เป็นการเรียนที่อาศัยวิธีการ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในลักษณะที่ปฏิสัมพันธ์ และมีส่วนร่วมช่วยเหลือกันระหว่างผู้เรียน โดยใช้แหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ ทั้งใกล้และไกล ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้า หรือเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น จากที่ไหนเวลาใดก็ได้ ตามความต้องการและความสะดวกของผู้เรียนเอง ซึ่ง Asynchronous Learning เป็นการใช้การสื่อสารระยะไกล (Telecommunication) เพื่อช่วยให้การเรียนรู้มีลักษณะใกล้เคียงกับการเรียนในระบบ
แนวคิดเกี่ยวกับ Asynchronous Learning คือการนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร และความสามารถของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อการศึกษา ทำให้สามารถขจัดข้อจำกัดของการเรียนการสอนในลักษณะที่ผู้สอนและผู้เรียนต้องมีเวลาตรงกัน ในลักษณะตารางสอน ที่จะต้องมีสถานที่ตรงกัน อาจเป็นห้องเรียน หรือสถานที่ใดที่หนึ่ง จึงจะมีกิจกรรมการเรียนการสอน ที่ทำให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนแบบ Face to face หรือก็คือ การเรียนการสอนแบบ Asynchronous Learning จะช่วยลดขอจำกัดต่างๆ ของการเรียนการสอนแบบ Synchronous Learning นั่นเอง
อย่างไรก็ดี เมื่อตกผลึก Asynchronous Learning จะเห็นได้ว่าสิ่งนี้ถือเป็นหนึ่งในแนวทางของ Self-Directed Learning ซึ่งก็คือการเรียนรู้แบบการนำตนเอง ที่ตัวผู้เรียนมีสิทธิ์ตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของตนเอง และแสวงหาประสบการณ์อย่างอิสระรวมถึงรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ซึ่งจะเหมาะสมต่อผู้เรียนที่สามารถจัดการเวลาของตนเองได้เป็นอย่างดีจึงจะประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน หากเป็นผู้เรียนที่กระตุ้นตนเองได้ไม่มากเท่าที่ควร การอยู่ร่วมกับผู้อื่นซึ่งก็คือการเรียนแบบ Synchronous Learning ก็ย่อมเป็นตัวเลือกทีดียิ่งกว่า
แล้วจะนำมาใช้ร่วมกันอย่างไรให้เหมาะสม?
โดยตัวผู้เขียน ที่มีประสบการณ์ทั้งการเรียนแบบ Synchronous Learning และ Asynchronous Learning ได้รับรู้แนวทางที่จะช่วยให้ประสบการณ์ของผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น มีแนวทางที่พอจะนำมาปรับใช้ได้ ดังนี้
1 : การจัดบทเรียนผสมผสานทั้ง 2 แบบ
การเรียนทั้งสองรูปแบบ มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ทั้งนี้ หากผู้สอนออกแบบบทเรียนอย่างเหมาะสม มีการให้ความรู้เนื้อหาแก่ผู้เรียนแบบ Asynchronous และมีการนัดหมายมาเข้าเรียนพร้อมกันแบบ Synchronous ในบางช่วงเวลา เพื่อพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้จะเป็นบทเรียนที่ดึงเอาข้อดีของทั้งสองรูปแบบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2 : การส่งเสริมความมีวินัยในการเรียนแบบ Asynchronous โดยกำหนดเวลาให้ผู้เรียนเข้าเรียนและมีการส่งงานเป็นระยะ
แม้ว่าการสอนแบบ Asynchronous ต้องการให้เกิดความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้ามาศึกษาตามเวลาที่สะดวก แต่ผู้สอนควรกำหนด Timeline ในการเข้าศึกษาบทเรียนร่วมด้วย เช่น บทเรียนวิชาหนึ่งมีจำนวน 10 ครั้ง แต่ละครั้งมีความยาว 3 ชั่วโมง ผู้สอนอาจกำหนดว่า หลังจากเผยแพร่คลิปการเรียนการสอนบนระบบแล้ว ผู้เรียนต้องเข้าไปศึกษาวิดีโอนั้นภายในเวลา 72 ชั่วโมง เป็นต้น การกำหนดข้อจำกัดในลักษณะนี้เพื่อให้ผู้เรียนมีวินัย ทยอยศึกษาบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ไปยัดดูวิดีโอทีเดียวทั้งหมดในคืนก่อนสอบ
3 : การนำเครื่องมืออื่นๆ มาช่วยดึงให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรม
ในขณะที่ผู้สอนดำเนินการสอนในรูปแบบ Synchronous และต้องการดึงให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์ เสนอความเห็น อาจใช้เครื่องมือ Online อื่นๆ มาใช้เพื่อให้ผู้เรียนร่วมในกิจกรม เช่น การตอบคำถาม การพิมพ์แสดงความคิดเห็นบนระบบ WhiteBoard ตัวอย่างเครื่องมือเหล่านี้ก็มีหลากหลาย เช่น Kahoot, Socrative, Mentimeter, Padlet หรือ AnswerGarden
4 : การใช้ Video Conference ผ่านทาง Zoom หรือ WebEx แทนการสอน synchronous ผ่านระบบการสื่อสารทางไกล
การสอนโดยผ่านระบบกาสื่อสารทางไกลเช่นนี้ จะมีประโยชน์มากในกรณีที่ต้องมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น แต่อาจอยู่ในระยะไกลจากกัน ส่วนกรณีที่ผู้สอนบรรยายเนื้อหาให้ผู้เรียนเป็นจำนวนมาก การใช้ระบบสื่อสารประเภทนี้จำเป็นต้องอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียร ซึ่งหากไม่ดีก็จะทำให้ประสบการณ์ในการเรียนไม่ราบรื่นเท่าที่ควร
จากที่กล่าวมา การใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนแบบ E-Learning จะยังคงอยู่กับยุคสมัยนี้ไปอีกนาน การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้อย่างเหมาะสมจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือ การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การดึงดูดความสนใจจากผู้เรียนได้ไม่มากพอ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน หรืออาจเป็นเรื่องของความปลอดภัยของการอัพโหลดข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์
ฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าการเรียนการสอนโดยใช้ e-Learning จะเป็นแบบ Synchronous หรือ Asynchronous ก็เห็นสมควรที่จะถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ตอบโจทย์กับบริบทการศึกษาของไทยในยุคโลกาภิวัฒน์นี้
ทั้งนี้ทั้งนั้น แต่ละแนวทางที่ผู้เขียนได้จำแนกไว้ เราคงไม่ตัดสินว่าแนวทางไหนดีกว่ากัน หากแต่ผู้ที่จะเลือกใช้คือตัวท่าน แต่ละท่านเหมาะสมกับแบบไหน แนวทางใด เรียนรู้ยังไงจะประสบความสำเร็จสูงสุด ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้อ่านแต่ละท่าน ที่จำเป็นต้องตัดสินใจดูครับ
Reference
1 : Thaipublica. (4 มกราคม 2021). สำรวจผลกระทบหลังโควิด-19 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการศึกษาโลก. สำรวจผลกระทบหลังโควิด-19 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการศึกษาโลก - ThaiPublica
2 : ปิ่นอนงค์ ศิลประกอบ. (ม.ป.ป.). สื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ e-Learning. เอกสารไม่ตีพิมพ์
3 : meena Paveena Srikhotjun. (5 สิงหาคม 2009). นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา. GotoKnow. นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา - GotoKnow
4 : เชิดศักดิ์ ไอรมณีรัตน์. (ม.ป.ป.). ข้อแนะนำในการจัดการเรียนการสอน online. เอกสารไม่ตีพิมพ์
5 : จิราเจต วิเศษดอนหวาย. (ม.ป.ป.). การศึกษายุคหลังโควิดจะใช้โลกทั้งใบเป็นห้องเรียน ด้วยการเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self–Directed Learning). EDUCA. https://www.educathai.com/knowledge/articles/535
Categories
Hashtags