Deep Work : ศาสตร์แห่งสมาธิที่พลิกเกมชีวิต
ปลายทศวรรษทื่ 1980 หนึ่งในผู้บริหารของธุรกิจเกี่ยวซอฟต์แวร์คอมพิเตอร์รายหนึ่ง เข้าทำงานหนักหน่วงแบบวันต่อวันอย่างต่อเนื่องติดกันมาเป็นระยะเวลานาน การประชุมวันแล้ววันเล่าไม่ทำให้เขามีเวลาพอจะโฟกัสและคิดการใหญ่อะไรได้ง่ายๆ กล่าวคือ เขาผู้นั้นอาจอยู่ในภาวะ “สมองตีบตัน” (ทางไอเดีย) อันเป็นผลมาจากการทรงงานอย่างต่อเนื่องจนไร้ซึ่งเวลาจะจัดแจงให้กับตนเอง
ด้วยเหตุนี้ จึงริเริ่มความคิดที่จะปลีกวิเวกออกจากสิ่งแวดล้อมเดิม ไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่สักครู่หนึ่งในรอบปี เพื่อขยายการทบทวนตัวเองเชิงลึกให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้ถูกเรียว่า “Think Week” อันเป็นสัปดาห์ที่เป็นการจัดสรรเวลาช่วงหนึ่งอย่างเป็นระบบสำหรับการคิดวิเคราะห์และการพัฒนากลยุทธ์ จนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตัวผู้เริ่มแนวคิดดังกล่าวนี้คือ บิล เกตส์ ผู้บริหารของ Microsoft นั่นเอง
ในช่วงสัปดาห์ที่เรียกว่า Think Week บิล เกตส์ จะเดินทางไปยังกระท่อม หรือจะเรียกว่าบ้านพักตากอากาศก็ได้ ที่ตั้งอยู่ห่างไกลผู้คนและสิ่งรบกวนทั้งหลายทั้งปวง มิหนำซ้ำว่าสิ่งรบกวนเหล่านี้ยังจะถูกจำกัดอย่างเข้มงวดอีกด้วย ณ ที่ตรงนั้นไร้ซึ่งการประชุม ไม่มีการสนทนากับใคร (เว้นเสียแต่กรณีฉุกเฉิน) โดยเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านเอกสารงานวิจัย รายงาน รวมถึงข้อเสนอจากทีมงาน ซึ่งมักมีกว่า 100 ฉบับ ในหนึ่งสัปดาห์ ในแต่ละวัน เขาจะเริ่มต้นด้วยการอ่านเอกสารและบันทึกความคิดเห็นของเขาลงในสมุดบันทึก หรือพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ ซึ่งพยายามคิดในหัวข้อที่หลากหลาย อาทิ เทคโนโลยี สังคม การศึกษา พลังงาน รวมถึงอนาคตของมุนษยชาติ เพื่อเฟ้นหาแนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆ วิเคราะห์คู่แข่ง หรือแนวโน้มของอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ดังที่จะกล่าวคือ เมื่อหนึ่งในบุคคลผู้โด่งดังที่สุดแห่งยุคอย่าง บิล เกตส์ ยังต้องมีเวลาสำหรับคิดทบทวนไตร่ตรอง หรือาจเรียกว่าช่วงแห่งการจมปลักอยู่กับงานอย่าง มีสมาธิ แต่เมื่อกลับมามองดูที่ตัวเราๆ กันเอง อาจเป็นสิ่งที่ขาดหายไปสำหรับใครหลายคนก็ว่าได้ ซึ่งจะมาทำความรู้จักกับการทำงานอย่าง “ใจจดใจจ่อ” แต่ทำความเข้าใจร่วมกันก่อนคือ มันไม่ใช่การ “หยุดงาน” นะครับ เพียงแต่เป็นการหาเวลาที่ใช้ในการจมดิ่งกับงานที่ตนเองทำอย่างมีสมาธิขั้นสุดเท่านั้น
ว่าด้วยการ “จดจ่อกับงาน” หรือ “Deep Work”
ให้พูดกันอย่างเข้าใจได้ง่ายๆ คือ Deep Work สามารถให้ความหมายได้ว่า เป็นการทำงานในภาวะที่มีสมาธิจดจ่อและปราศจากสิ่งรบกวน ซึ่งกระตุ้นความสามารถด้านการรู้คิดให้อยู่ในจุดสูงสุด กล่าวคือ หมายถึงช่วงเวลาที่เราสามารถจับโฟกัสกับงานได้โดยไม่ว่อกแว่ก ซึ่งช่วงดังกล่าวนี้มีความสำคัญต่อชีวิตของทุกๆ คนมาก สำคัญขนาดไหน? ลองนึกภาพภาพหรือสังเกตดูงานชิ้นเยี่ยมที่เราทำออกมามักใช้เวลาลงมืออย่างจดจ่อแทบจะทั้งสิ้นครับ ซึ่งแต่ละคนจะมีช่วงเวลาสำหรับจดจ่ออยู่กับงานได้ตามช่วงเวลาของแต่ละคนไป แต่โดยปกติจะอยู่ที่ราวๆ 3-5 ชั่วโมงหลังตื่นนอน
เกี่ยวกับสภาวะ Deep Work หากท่านผู้อ่านอยากศึกษาลงลึกมากยิ่งขึ้น สามารถเข้ามาศึกษาผ่านหนังสือ Deep Work ของ Cal Newport ได้ที่สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีครับ [สืบค้นได้ที่ลิงก์นี้]
จะสร้างภาวะ Deep Work ได้อย่างไร
เมื่อถึงส่วนนี้ เป็นสิ่งที่สร้างได้กับคนทุกช่วงวัยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องๆ นักศึกษา ที่ต้องจดจ่อกับการอ่าน ทบทวนตำรา หรืองานวิจัยต่างๆ รวมถึงบุคคลที่อยู่ในวัยทำงาน ที่อาจยิ่งต้องหาช่วงเวลาอันเป็นภาวะการทำงานอย่างจดจ่อแทบจะทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ ข้าฯ ได้มีโอกาสเปิดหนังสือของ คุณแท๊บ-รวิศ หาญอุตสาหะ ซีอีโอของบริษัทศรีจันทร์สหโอสถ ในหนังสือชื่อ Superproductive จึงนำมาฝากทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ครับ
1. ต้องนอนให้พอ - หากต้องการให้สมองสามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้ สมองต้องได้รับการพักผ่อนเสียก่อน ซึ่งการนอนเป็นการพักผ่อนที่มีความสำคัญมากสำหรับคนทุกช่วงวัย หากเพียงพอ ล้วนทำให้สุขภาพร่างกายดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และยังทำให้สดชื่นในการทำกิจกรรมแต่ละวัน
2. หวงแหนช่วงเวลาแห่งความจดจ่อ - ตามที่กล่าวไปในตอนแรกว่าจะเป็นช่วงเช้าราว 3-5 ชั่วโมงของแต่ละคน ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่มีพลังงานสูง จึงควรใช้เวลานี้ให้หมดไปกับสิ่งที่เป็นงานยากหรือเป็นงานที่ต้องใช้สมองเยอะๆ เข้าไว้ (เช่นตัวผู้เขียนที่กำลังเขียนในตอนเช้านี้ครับ)
3. ออกกำลังกายสั้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ - ออกกำลังกาย ดีต่อสุขภาพอย่างปฏิเสธไม่ได้ และยังเป็นสิ่งที่ทำให้อายุของสมองเด็กลงด้วยครับ
4. รู้จักพักให้เป็น - เมื่อใช้เวลาราว 3-5 ชั่วโมงไปกับการทำงานอย่างหนักแล้ว หากงานพอเพลาลง ควรหาเวลาพักเสียบ้างและใช้การพักนี้เป็นหนึ่งในการพัฒนาตนเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแท๊บ ได้ขยายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพักผ่อนว่า “ต้องพักจริงๆ ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาเกี่ยวข้อง อยู่กับธรรมชาติ อ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ หรือคุยกับมนุษย์จริงๆ แบบไม่ผ่านจอ”
5. โทรศัพท์มือถือนั้นชวนให้เสพติดและเสียสมาธิมาก - เมื่อ Deep Work คือการมีสมาธิอย่างใจจดใจจ่อ ศัตรูของความใจจดใจจ่อก็คือการเจอสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิครับ
6. หาหูฟังดีๆ ช่วยจัดการชีวิต - บางคนจะสามารถทำงานได้โดยไม่ว่อกแว่กเมื่อได้ยินเสียงใดเสียงหนึ่ง โดยส่วนตัวผู้เขียน จะชอบเปิดเสียงฝนตกไปด้วยทำงานไปด้วยครับ (และยิ่งหากฝนตกเองโดยที่ไม่ได้เปิดเสียงแล้ว ยิ่งรู้สึกดำดิ่งลงลึกได้ไปอีกมาก)
7. การทำสมาธิช่วยได้มาก - อาจมาจากอะไรก็ได้ครับ ตามแต่ละความสะดวกของปัจเจกบุคคล และเมื่อมีสมาธิแล้ว จะช่วยให้การทำงานสามารถดึงโฟกัสกลับมาเมื่อยามตนเองเสียสมาธิได้มากครับ
กล่าวถึงตรงนี้แล้ว การไล่ล่าหาช่วงเวลาแห่งความใจจดใจจ่อ หรือ Deep Work ให้กับการงานที่สำคัญให้ได้จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำสำหรับทุกคน อาจค่อยๆ เริ่มต้นทบไปเรื่อยๆ ช่วงแรกอาจทำงานโดยไม่แตะโทรศัพท์ได้สัก 30 นาที วันถัดไปค่อยเพิ่มเป็น 40 50 หรือ 1 ชั่วโมง ไปเรื่อยๆ แบบนี้ก็ไม่มีปัญหาครับ
ปัญหาอยู่แค่ที่ว่า “จะทำหรือไม่” เพียงเท่านั้น
Reference
1 : Thongchai Cholsiripong. (8 สิงหาคม 2019). ถ้าหมดไฟ ทำอย่างไรดี? เผยเคล็ดลับ Bill Gates ขอลางาน 1 สัปดาห์ไปนั่งอ่านเปเปอร์ในกระท่อมลับ. Brand Inside. หมดไฟในการทำงาน: เผยเคล็ดลับ Bill Gates ขอลา 1 สัปดาห์ไปนั่งอ่านเปเปอร์ในกระท่อมลับ | Brand Inside
2 : Unlock Men. (10 สิงหาคม 2019). ‘Think Week’ เทคนิคแบ่งเวลาหลบเข้าถ้ำปีละสองครั้งจุดไฟการทำงานสไตล์ Bill Gates. ‘THINK WEEK’ เทคนิคแบ่งเวลาหลบเข้าถ้ำปีละสองครั้ง จุดไฟการทำงานสไตล์ BILL GATES » Unlockmen
3 : รณดล นุ่มนนท์. (11 มีนาคม 2566). Deep Work : ดำดิ่งกับงานที่มีคุณค่า. สำนักข่าวอิศรา. Deep Work : ดำดิ่งกับงานที่มีคุณค่า
4 : วิริทธิ์พล คุณกิติตขจรกุล, สิทธวัฒน์ รักชอบ และกัลยารัตน์ ธีระวาสน์. (2561). คุณภาพการนอนหลับของนิสิตเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรภา พ.ศ. ๒๕๖๑ [โครงงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์, มหาวิยาลัยบูรพา]. มหาวิทยาลัยบูรพา. 57210087.pdf
5 : รวิศ หาญอุตสาหะ. (2563). Superproductive (พิมพ์ครั้งที่ 12). สำนักพิมพ์ KOOB.
Categories
Hashtags