Critical Thinking ทักษะที่เยาวชนไทยยังขาด?
"การสื่อสารในยุควิกฤต การสื่อสารในภาวะวิกฤต การสื่อสารท่ามกลางความขัดแย้ง โดยเฉพาะในยุค Social Network ในทุกวันนี้ คือปัญหาหนึ่งของเยาวชนไทย"
ครับ ดังประโยคที่กล่าวมาเมื่อครู่ คือสิ่งหนึ่งที่เราต่างเห็นการวิวัฒนาการของระบบการสื่อสาร ทั้งในและต่างประเทศ ที่มีผลอย่างมากต่อพัฒนาการของเยาวชนไทย ที่มิใช่เพียงข้อมูลทั่วไป หากแต่รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารที่เรามักต้องเจอกันทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะกลไกที่ผ่านมา องค์กรสื่อของรัฐมีหน้าที่กำกับดูแลการได้มาซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆ ในการออกอากาศ แต่ในทุกวันนี้ ที่ใครๆ ก็สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนได้ การรับข้อมูลต่างๆ จึงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นเป็นทวีคูณ
สิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาใช้กับเยาวชน สื่อสังคมออนไลน์ กำลังเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชนมากขึ้น ด้าน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และอนุกรรมการส่งเสริมการป้องกันคุ้มครองเด็ก และเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เปิดเผยผลสำรวจเยาวชนผ่านทางออนไลน์อายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน ทั้งประเทศ ปี 2562 พบว่า เด็กเกือบทั้งหมดเห็นว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักเรื่องภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ 86 เชื่อว่าตนเองสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบภัยออนไลน์ได้
ขณะที่ร้อยละ 54 เชื่อว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับตนเองสามารถจัดการปัญหาได้ และเด็กกว่าร้อยละ 83 ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน โดยร้อยละ 38 ใช้เพื่อเล่นเกมออนไลน์มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นเวลามากเกินไป และจะส่งผลต่อสุขภาพจิต
สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การพัฒนาตนเองมีขอบเขตที่กว้างขวาง และทั้งหมดนั้นสามารถหาได้อย่างง่ายดาย เช่น เราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับความคิดหนึ่งที่เราไม่ชอบเพื่อโจมตีแนวคิดนั้นๆ เราอาจหาข้อมูลของนักกีฬาคนหนึ่ง เพื่อให้ตนเองชื่นชอบเขามากยิ่งขึ้น เราหาข้อมูลบางอย่างเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเองจนบางครั้ง เราก็หาข้อมูลจนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเข้าข้างตนเองมากเกินไปหรือไม่? แล้วข้อมูลที่หามาทั้งหมดนั้น เชื่อถือได้บ้างหรือเปล่า? ซึ่งประเด็นอยู่ตรงนั้นครับ
ดังที่จะกล่าวคือ เราต่างรู้กันดีครับ ว่าจะประสบความสำเร็จต่างๆ ได้ การกระทำต้องมาควบคู่ แต่สิ่งแรกเริ่มที่ควรจะต้องมีก่อนนั้น คือ “ทักษะการคิด” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การคิดเชิงวิพากษ์” (Critical Thinking) เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้เราตั้งคำถามได้ ว่าสิ่งต่างๆ ที่หามานั้น มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ หรือเหมาะสมต่อเรามากน้อยแค่ไหน การรับข้อมูลด้านเดียว แล้วนำมาปฏิบัติอย่างหนักหน่วงทันที เป็นเรื่องที่อันตรายมากในยุคนี้ครับ เนื่องจากมันสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่สามารถตกลงได้ด้วยเหตุผล การอยู่ในโลกใบแคบๆ เช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะกระทบแง่มุมของการทำงานเท่านั้น หากแต่กระทบในหลายส่วนของชีวิตด้วย
Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์ คืออะไร?
การคิดเชิงวิพากษ์ คือการคิดอย่างมีวิจารณญาณ หรือให้เข้าใจในอีกรูปแบบหนึ่งคือ ความสามารถในการตั้งคำถามต่อสารที่เราได้รับว่าถูกต้องหรือไม่ น่าเชื่อถือเพียงใด โดยการไม่คล้อยตามข้ออ้างที่นำเสนอ แต่ตั้งคำถามหรือโต้แย้งข้ออ้างนั้นๆ เพื่อนำไปสู่การแสวงหาคำตอบที่สมเหตุสมเหตุสมผลมากกว่าเดิม
สิ่งที่ต้องยอมรับร่วมกันคือ ในยุคนี้ที่ข้อมูลนั้นสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งมีทั้งข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ปะปนมากับข้อมูลจริงทำให้การรับข้อมูลต่างๆ ต้องใช้วิจารณญาณมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถแยกแยะข้อมูลจริง ออกมาจากความเท็จเหล่านั้นได้ โดยทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่มีความจำเป็นต่อการทำงานในศตวรรษที่ 21 และทาง World Ecocomic Forum (WEF) ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ทักษะนี้ เป็น 1 ใน 10 ทักษะแห่งอนาคตที่จะเป็นที่ต้องการสูงในปี 2025 อีกด้วย
[ภาพที่ 1 : 10 ทักษะแห่งอนาคตในปี 2025. จากการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)คืออะไร มีแนวทางการพัฒนาทักษะนี้อย่างไร - Learning Institute]
การคิดเชิงวิพากษ์ ยังเป็นกระบวนการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุป แนวทางการตัดสินใจที่มีเหตุผล มีทฤษฎีมารองรับ ไม่คล้อยตามต่อข้อมูลหรือปรากฏการณ์ใดๆ โดยง่าย ผ่านการตั้งข้อสงสัย การตั้งคำถาม การค้นข้อมูลใหม่ และมีการถกเถียงกัน แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่อว่ามีข้อมูลที่ดีที่สุดอยู่แล้วก็ตาม บุคคลที่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์นี้ จะเป็นคนกล้าคิด กล้ามองในมุมใหม่ กล้าออกจาก Comfort Zone ออกจากความเชื่อเดิมๆ แม้การฝึกฝนทักษะนี้จะทำได้ค่อนข้างยาก แต่การพยายามพัฒนาทักษะนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการเปิดรับ เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้
เยาวชนไทย ขาดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ จริงหรือ?
จากผลการสำรวจหนึ่งของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติในปี พ.ศ. 2559 ได้ระบุในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ไว้ในตอนหนึ่งว่า ผู้สำเร็จการศึกษาขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล ทักษะการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 และขาดสมรรถนะในการปฏิบัติงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตภาพของกำลังแรงงานภายใต้ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่เป็นพลวัตของโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นแรงกดดันภายนอกจากกระแสโลกาภิวัตน์
อีกด้านหนึ่ง จากข้อมูลการประชุม World Ecocomic Forum (WEF) ปี ค.ศ. 2012-2013 พบว่าการจัดอันดับการศึกษาของไทย รั้งท้ายอาเซียน ผลการจัดอันดับที่ว่านี้ยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เด็กไทยจำนวนไม่น้อย ยังขาดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
ในขณะที่อีกหลายปีต่อมา World Economic Forum (WEF) 2019 ก็มีการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก จากเด็กและเยาวชนของ 141 ประเทศ ผลการจัดอันดับพบว่า ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยนั้นลดลง จากอันดับ 38 ลงมาสู่อันดับ 40 โดยปัจจัยหนึ่งที่ฉุดอันดับของประเทศไทยตกลงมา มาจากคะแนนด้านการเรียนการสอนของไทยที่มีการฝึก Critical Thiking ซึ่งพบว่าต่ำที่สุด! ได้คะแนนเพียง 37 คะแนนเท่านั้น จากคะแนนเต็ม 100
และอีกการสำรวจหนึ่งที่สำคัญ การศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OCED) โดยเป็นข้อมูลที่เผยความสามารถในการรับเฟกนิวส์และข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ของเด็กอายุ 15 ปี จาก 77 ประเทศทั่วโลก พบว่าเด็กไทย มีศักยภาพในการกรองข่าวปลอมต่ำมาก! รั้งท้ายอยู่ที่อันดับ 76 จากทั้งหมด 77 ประเทศ
หากกล่าวให้ใกล้ตัว คือการที่เราเห็นเยาวชนไทยส่วนน้อยเท่านั้นในการตั้งคำถามกับบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ ในขณะที่หลายคนยังติดอยู่กับการเชื่อตามผู้ใหญ่ หรือแย่กว่านั้นคือเชื่อตามกระแสไว้ก่อน รวมถึงการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียที่ไม่มีการคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะทำอะไรลงไป ทั้งที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ดังข้อมูลที่ได้หยิบยกมานำเสนอนั้น จะเห็นได้ว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่ในระดับประเทศ ฉะนั้น ในการพัฒนาเยาวชนไทย หลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย สนองตอบความต้องการของผู้เรียน ทั้งผู้ที่อยู่ในวัยเรียนและผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน โดยไม่จำกัดเวลา สถานที่ และเป็นไปเพื่อสร้างคุณลักษณะนิสัยให้สอดคล้องกับการเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ให้เพียงพอต่อการใชีชีวิตในยุคโลกาพิวัฒน์แห่งศตวรรษที่ 21
ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำความเข้าใจได้ว่าทักษะการคิดเชิงวิพากษ์นั้น มีความสำคัญในระดับประเทศ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกฝนในทักษะดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงมีแนวคิดเพื่อผลักดันนักศึกษาให้มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ขึ้น ผ่านการเรียนในบทเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ KMUTT Generic Competence ในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสู่การพัฒนาในระดับสากล สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
Critical Thinking เป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้
โดยการจะฝึกฝนทักษะ Critical Thinking นั้น ด้าน ดร. สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล (2563) ได้ให้ความคิดเห็นว่า ควรประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่
1) การฟังหรือรับสารอย่างตั้งใจ ไม่นำอารมณ์ไปตัดสิน เช่น อาจเป็นเรื่องที่เราไม่ชอบ ผู้พูด เป็นผู้พูดที่เราไม่ชอบ วิธีการพูด เป็นวิธีการที่เราไม่ชอบ หรือแม้กระทั่งตัวเราเองอารมณ์ไม่ดีจนอาจพาลไปทำให้เราไม่ชอบตอนที่ฟังคนอื่นกำลังพูด
2) เรามีข้อมูล ประสบการณ์มากพอ เพื่อใช้พิจารณาสารหรือเนื้อหาที่ได้รับมา การจะมีข้อนี้ได้ ต้องมีการอินพุตความรู้ใส่ในตนเองเป็นจำนวนมาก อาทิ การอ่าน หรือการฟัง
3) นำสารที่ได้รับ มาพิจารณาร่วมกับข้อมูล หรือประสบการณ์ที่เรามี เข้าใจบริบทของเรื่องราวหรือสถานะในขณะนั้น วิเคราะห์โดยปราศจากอคติ ให้น้ำหนักแต่ละข้อมูล หลักฐาน หรือสถานการณ์แต่ละเรื่องอย่างเหมาะสม
4) สามารถสรุปความถูกต้องหรือน่าเชื่อถือของสารได้ อธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดจึงวิเคราะห์เช่นนั้น ตลอดจนตั้งคำถามที่เหมาะสมต่อสารนั้นๆ ได้ สามารถให้ความคิดเห็น หรือการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์
ทั้งหมดนี้ เมื่อนำมาตกผลึกทำความเข้าใจและให้ความสำคัญ จะเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงทักษะเพื่อพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาในระดับครอบครัว แต่เป็นถึงเรื่องในระดับความเป็นอยู่ของประเทศในอนาคต จะเห็นได้ว่าการใช้ความคิด เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ บุคคลที่มีการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณจะมีความสามารถในด้านการพัฒนาและการใช้สติปัญญา อันจะทำให้ผู้ที่มีทักษะดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขปัญหา หรือตัดสินใจในสิ่งที่ส่งผลต่อชีวิตได้อย่างมีเหตุผล จำแนกแยะแยะและจัดระบบข้อมูลได้อย่างเหมาะสม
การคิดเชิงวิพากษ์ จึงถือเป็นกระบวนการที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทย ทั้งนี้ เพราะประชาชนอย่างเราๆ นั้น จะต้องใช้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์หาสาเหตุและเหตุผลที่จะนำมาสนับสนุนสิ่งที่ตนเองเลือก เพื่อหาแนวทางในการตัดสินใจต่างๆ ด้วยตนเอง
“การจะเติบโตของเรานั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำ ไม่มีการพัฒนาทางกายหรือสติปัญญา หากไร้ซึ่งความมานะบากบั่น และความมานะบากบั่น หมายถึงการทำงานอย่างหนัก”
คำพูดของอดีตประธานาธิบดี จอห์น แคลวิน คูลิดจ์ ผมว่ายังนำมาตรึกตรองได้จนถึงทุกวันนี้ครับ
Reference
1 : Jakkrit Siririn. (13 ตุลาคม 2563). การปรับตัวของสื่อยุคใหม่. SALIKA Knowing Sharing Space. การปรับตัวของสื่อยุคใหม่ - salika
2 : Thaihealth Official. (9 มกราคม 2563). “เด็กไทย” รู้เท่าทัน ป้องกันภัยจากสื่อออนไลน์. “เด็กไทย” รู้เท่าทัน ป้องกันภัยจากสื่อออนไลน์ - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
3 : สิทธิพล วิบูลญ์ธนากุล. (19 กุมภาพันธ์ 2563). ในวันที่เด็กไทยขาด Critical Thinking. กรุงเทพธุรกิจ. ในวันที่เด็กไทยขาด Critical Thinking
4 : Sanook. (10 เมษายน 2565). น่าห่วง เด็กไทยไม่ค่อยมี Critical Thinking วิกฤติช่วงวัยทำงาน. น่าห่วง เด็กไทยไม่ค่อยมี Critical Thinking วิกฤติช่วงวัยทำงาน
5 : เกียรติพร สินพิบูลย์, ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย, อธิกมาส มากจุ้ย และปฤนัต นัจนฤตย์. (2561). การพัฒนาความสามารถด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณโดยการจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้คำถามเป็นฐานร่วมกับมัลติมีเดียสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 16(2), 165-177. ดูจาก การพัฒนาความสามารถการคิดอย่างมีวิจารณญาณด้วยการใช้คำถามเป็นฐานร่วมกับมัลติมีเดียสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่6
6 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). น่าห่วง เด็กไทยไม่ค่อยมี Critical Thinking วิกฤติช่วงวัยทำงาน. Digital Object Identifier
7 : สถาบันการเรียนรู้ Learning Institute. (16 พฤษภาคม 2567). การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)คืออะไร มีแนวทางการพัฒนาทักษะนี้อย่างไร. การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)คืออะไร มีแนวทางการพัฒนาทักษะนี้อย่างไร - Learning Institute
8 : Britannica. (n.d.). Calvin Coolidge. Calvin Coolidge | Biography, Presidency, Quotes, & Facts | Britannica
Categories
Hashtags