Creative Thinking
ริเริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมสู่สิ่งใหม่
“ความคิดสร้างสรรค์คือการเห็นในสิ่งที่คนอื่นเห็น และคิด ในสิ่งที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อน”
ประโยคดังกล่าวเป็นของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกที่น้อยคนนักจะไม่รู้จักนามของบุคคลผู้นี้
สิ่งที่ ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ เกี่ยวกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถูกกล่าวไว้ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังคงเป็นที่ตราตรึงมาจนถึงทุกวันนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ โดยเฉพาะการดำรงชีวิตในยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบันนี้! ซึ่งเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งการใช้ชีวิตและการทำงานที่เคยมีในอดีต ที่อาจไม่มีคงเหลือไว้ต่อไปในอนาคต ด้วยความเจริญรุดหน้าทำให้โลกในวันนี้รังแต่จะค่อยๆ แคบลง ด้วยเหตุนี้กับสภาพความเป็นอยู่ของประเทศที่เปรียบเสมือนชุมชนที่มีการเชื่อมต่อทั่วถึงกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลมาจากการพัฒนาการของระบบสื่อสารมวลชน การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ
สังคมโลกาภิวัฒน์ในยุคนี้จึงนับได้ว่าเป็นยุคของการปฏิวัติทางความคิด ของการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างสิ้นเชิง ดังที่เคยมีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้กล่าวไว้ว่า “ยุคของอุตสาหกรรม (Industrial Age) ได้ตายไปแล้ว และได้เกิดยุคของความคิดสร้างสรรค์ขึ้น (Creative Age)” คำพูดนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการลดลงของแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตในช่วงปี ค.ศ. 1920 จาก 40% เหลือเพียง 26% เท่านั้นในปี ค.ศ. 1999 ขณะที่ก่อนหน้ายุคความคิดสร้างสรรค์ จะเป็นยุคสารสนเทศในปี ค.ศ. 1957 แต่ก็ยังไม่ถือว่าเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกทุกวงการเช่นยุคสมัยนี้
ขณะที่แรงงานในภาคความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับงานด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ศิลปะ การออกแบบ และความบันเทิงจากเดิมที่มีเพียง 16% ในปี ค.ศ. 1920 เพิ่มขึ้นเป็น 43% ในปี ค.ศ. 1999 ตามรายงานของกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ขณะที่การใช้แรงงานในส่วนเทคโนโลยีกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสูงมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่มีทักษะขึ้นสูง ความคิดสร้างสรรค์จึงควรเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของเราที่จะนำความคิดสู่การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยกับโลกในทุกวันนี้มีการแข่งขันที่จะดึงดูดนักคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันและได้เปรียบคู่แข่งนั่นเอง
ความหมายของ Creative Thinking
เกี่ยวกับความหมายของคำนี้ นักจิตวิทยาและผู้ที่ศึกษาค้นคว้า ได้อธิบายความหมายของความคิดสร้างสรรค์ไว้หลายๆ ท่าน ซึ่งมีแนวคิดและหลักการทั้งสอดคล้องกันและแตกต่างกัน โดยสามารถจำแนกออกเป็น 4 ความหมายได้ดังนี้
1 : ความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากจินตนาการ หมายถึงจินตนาการประยุกต์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหายุ่งยากที่มนุษย์กำลังประสบอยู่ ซึ่งความคิดจินตนาการเป็นลักษณะสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ในการนำไปสู่ผลผลิตที่แปลกใหม่และเป็นประโยชน์
2 : ความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากการเชื่อมโยงทางความคิด หมายถึง ความสามารถในการคิดหาคำตอบด้วยการเชื่อมโยงความคิดแบบลูกโซ่ต่อเนื่องจนได้คำตอบใหม่ๆ และมากขึ้น เช่น เมื่อคิดถึงปากกา ก็พาให้นึกถึงกระดาษ ดินสอ โต๊ะ ตำรา ห้องเรียน เป็นต้น คำที่ระลึกได้เป็นจำนวนมากต่างก็เป็นความคิดรวบยอดที่เก็บไว้ในสมองของคน เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นก็จะตอบสนองออกมา ยิ่งคิดได้มากก็เป็นอันแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของบุคคลเป็นอย่างดี
3 : ความคิดสร้างสรรค์ที่มากจากการคิดเชิงปัญญา หมายถึง ความสามารถในการคิดเชิงปัญญาด้วยความฉลาดรอบรู้ของบุคคลที่ไวต่อปัญหา มีการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์เดิม เพื่อสร้างรูปแบบใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ และล้ำหน้าความคิดเดิมที่มีอยู่
4 : ความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากกระบวนการของสมอง หมายถึง ความสามารถกระบวนการคิดของสมองแบบกระจายความคิดได้กว้างไกลหลายแง่มุม เพื่อนำไปสู่การจัดรูปแบบความคิดใหม่ๆ นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นโดยไม่ซ้ำใคร
ซึ่งทั้ง 4 ความหมายดังที่ได้กล่าวข้างต้น จะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด อันจะสามารถเข้าใจในภาพรวมได้ว่า "ความคิดสร้างสรรค์นั้นหมายถึงความสามารถในการจินตนาการของมนุษย์ เพื่อคิดหาคำตอบด้วยการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ผ่านกระบวนการคิดของสมองที่หลากหลายทิศทางเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ความคิด ผลิตผลงานใหม่ๆ ที่ล้ำหน้าความคิดเดิมที่มีอยู่อันแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล"
ความคิดสร้างสรรค์สำคัญอย่างไรบ้าง?
ด้วยกับที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ทำให้เราทราบโดยทั่วกันว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งนี้ ด้านคุณปัญจนาฏ วรวัฒนชัย (2565) ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ โดยแบ่งความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1 : ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคล เนื่องจากปัจเจกบุคคลนั้น เป็นแหล่งกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ เพื่อรักษาและยกระดับความคิดสร้างสรรค์ที่ทุกคนมีอยู่ในตัวให้เป็นผู้มีความคิดริเริ่ม ความกระตือรือร้น ความเป็นผู้นำ การกล้าได้กล้าเสีย สามารถแก้ปัญหา และสร้างโอกาสสำหรับชีวิตในอนาคตได้ และเป็นการเปิดโอกาสในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2 : ความสำคัญต่อองค์กร ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน เพราะทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ใช้เทคนิคกาคคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพ องค์กรจึงต้องเน้นในการให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ขององค์กร อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างประสิทธิผลให้กับองค์กร
3 : ความสำคัญต่อประเทศชาติ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์เป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของประเทศชาติโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะประเทศใดที่มีประชากรที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นจำนวนมาก จะช่วยยกมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนในประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าให้เกิดการพัฒนาได้
4 : ความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ เพราะโลกมนุษย์ต้องการผู้ที่สามารถคิดเพื่อคนอื่นๆ สามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ตามความคิดและประสบการณ์ของตนเอง เพื่อการดำรงชีวิตและพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมถึงความสามารถในการพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ และพัฒนาโลกที่เราอยู่ให้มีลักษณะที่เหมาะสมมากที่สุด
แล้วจะพัฒนาทักษะด้านนี้ได้อย่างไร?
ด้านความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่ทุกคนมีติดตัว แต่จะได้หยิบมาใช้บ่อยหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการงานของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละคน เมื่ออยากพัฒนาทักษะในด้านนี้ ก็ควรมีแนวทางอย่างเป็นขั้นเป็นตอนสำหรับพัฒนาตนเอง โดยรวมแล้ว กระบวนการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สามารถเริ่มได้จาก
1 : ขั้นเตรียมการ โดยใช้เครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริม หรือแตกแขนงไอเดียออกให้เห็นภาพอย่างชัดเจน เช่น Mind Map หรือ Diagram รวมถึงการสืบค้นข้อมูลจากสื่อต่างๆ จากบุคคล จากเอกสาร ในการค้นคว้า
2 : ขั้นความคิดกำลังฟักตัว เป็นการฝึกคิดให้ตกผลึกในแบบต่างๆ เช่น คิดคล่อง คิดแบบละเอียดลออ คิดแบบยืดหยุ่น คิดริเริ่ม ในการเริ่มก่อตัวความคิดสร้างสรรค์ และให้ไอเดียที่มีความหลากหลาย แม้ว่าจะคิดหลายสิ่งหลายอย่าง แต่อาจถูกจำกัดโดยผู้บังคับบัญชา แต่การคิดใหม่จากสิ่งที่ถูกปัดตกไป ถือว่านับเป็นเรื่องดีอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราตกผลึกความคิดแตกแขนงออกไปได้มากยิ่งขึ้น
3 : ขั้นความคิดกระจ่างชัด เพื่อให้มีความคิดอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ควรฝึกจัดลำดับความคิดที่ยังสับสน เพื่อให้มีการเรียบเรียง และเชื่อมโยงความคิดเข้าด้วยกัน รวมทั้งฝึกให้เห็นภาพรวมของความคิด และแนวทางที่จะเลือก
4 : ขั้นทดสอบความคิดและพิสูจน์ให้เห็นจริง สามารถใช้วิธีการทำวิจัย และ การสร้างเกณฑ์ประเมินผล เพื่อดูว่าคำตอบที่คิดออกมานั้นเป็นจริงได้หรือไม่ มีการนำความคิดเห็นจากสามขั้นแรกข้างต้นมาพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ หรือถูกต้องหรือไม่ หากพบว่ายังไม่ได้คำตอบที่ต้องการ ก็เปลี่ยนปัจจัยหรือตัวแปรต่าง ๆ ใหม่ และวนรอบใหม่ของกระบวนการคิดสร้างสรรค์
ดังที่หยิบยกมาให้ผู้อ่านได้รับทราบ เป็นเพียงแนวทางการพัฒนาทักษะโดยคร่าวเท่านั้น หากผู้อ่านสนใจในการพัฒนาทักษะด้านนี้ ท่านสามารถอ่านได้จากหนังสืออีกหลายๆ เล่ม ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างเป็นหนังสือ Originals ของ Adam Grant ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการปรับเปลี่ยนแนวคิดและพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ต่างไปจากค่าเริ่มต้นอัตโนมัติที่เคยทำมาก่อนแล้วอย่างเนิ่นนาน โดยท่านสามารถเข้าไปอ่านหนังสือดังกล่าวได้ที่นี่
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้อ่านจะเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถที่สำคัญและมีคุณค่าเป็นอย่างมากของมนุษย์ เป็นความสามารถทางสมองที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ด้วยการจินตนาการทางความคิดที่หลากหลาย เพื่อแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ความคิด ผลิตผลงาน นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ล้ำหน้าความคิดเดิมที่มีอยู่อันแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล เพราะบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์จะมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอุปสรรค สร้างสรรค์ตนเองและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม มีความภาคภูมิใจและใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข และยังก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระดับประเทศชาติ
แล้ว ณ ตอนนี้ คุณจะพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง ให้คิดแปลกแหวกแนวออกจากสิ่งเดิมที่เป็นอยู่ ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับตัวผู้อ่านแล้วล่ะครับ ว่าจะรีดศักยภาพด้านนี้ออกมาใช้ได้เพียงใด? มีประโยชน์ขนาดไหน? หรือควรพับเก็บไว้?
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ก็เป็นไปตามที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้เมื่อตอนต้นของบทความนี้นั่นหละครับ
“ความคิดสร้างสรรค์คือการเห็นในสิ่งที่คนอื่นเห็น และคิด ในสิ่งที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อน”
ว่าแล้วก็...ขอให้สนุกกับการคิดนะครับ )))
Reference
1 : Ben Barnhart. (2 September 2021). 30 insightful creativity quotes to inspire innovation. Linearity. 30 Insightful Creativity Quotes to Inspire Innovation
2 : ปัญจนาฏ วรวัฒนชัย. (2565). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์. ครุศาสตร์สาร, 16(1), 14-31.
3 : อาภา วรรณฉวี. (11 กัยายน 2023). การพัมนาความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking Development). bsru.net. การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking Development) – คณาจารย์ และ บุคลากร BSRU
Categories
Hashtags