Burnout:
เมื่อใจหมดไฟ งานก็ไม่ไปต่อ
"Almost everything will work again if you unplug it for a few minutes, including you."
“เกือบทุกอย่างจะกลับมาทำงานได้อีกครั้ง หากคุณถอดปลั๊กมันออกสักครู่ รวมถึงตัวคุณเองด้วย”
— Anne Lamott
ในยุคที่ความเร่งรีบและการแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจกำลังเผชิญกับความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการทำงานหรือศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง หากแต่ถ้าความเหนื่อยล้านั้นลึกลามไปสู่ระดับที่ทำให้คุณรู้สึกหมดแรง ขาดแรงจูงใจ และไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป นั่นอาจเป็นสัญญาณของ “Burnout Syndromes” หรือที่เรียกขานนามกันว่า “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังแพร่หลายมากในปัจจุบัน
ภาวะหมดไฟในการทำงาน จึงเป็นภาวะที่บุคคลเกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ที่สะสมต่อเนื่องกัน อันเป็นผลพวงมาจากความเครียดและความกดดันในที่ทำงาน โดยไม่ได้รับการจัดการทางอารมณ์ที่ดี หรือขจัดอารมณ์เหล่านั้นออกไป ทำให้รู้สึกสูญเสียพลังงาน เหนื่อยล้า อ่อนแรง หมดใจ หรือหมดไฟในการทำงาน มีความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับงานที่กำลังทำ เป็นเหตุให้ไม่มีความสุขในการทำงาน หมดแรงจูงใจในการทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับบุคลรอบข้างและเพื่อนร่วมงาน ภาวะหมดไฟระยะยาวบั่นทอนจิตใจและร่างกาย จนอาจนำไปสู่อาการร้ายแรงยิ่งกว่าอย่างโรคเครียด โรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า หรือโรคอื่นๆ และรวมไปถึงปัญหาในการแสดงออกเชิงอารมณ์และพฤติกรรมอื่นๆ ด้วย
ว่าด้วยภาวะหมดไฟ คืออะไร?
ด้าน นายแพทย์ ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวชศาสตร์ จากโรงพยาบาล MedPark ได้ให้คำอธิบายว่า ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndromes คือ ภาวะมลพิษทางอารมณ์ที่เกิดจากการสะสมความเครียดจากการทำงานในระยะเวลาหนึ่ง จนเกิดเป็นความเหนื่อยล้าที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิต องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขึ้นทะเบียนให้การรับรองภาวะหมดไฟ เป็นโรคใหม่ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเร่งรีบ กดดัน จนทำให้รู้สึกหมดไฟ ไร้เรี่ยวแรง หมดแรงจูงใจในการทำงานและการใช้ชีวิต ผู้ที่มีภาวะหมดไฟในการทำงานควรเข้ารับการรักษา และได้รับการบำบัดกับแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์เพื่อทราบถึงที่มาของปัญหา และร่วมกันหาแนวทางในการจัดการกับปัญหา อันเป็นที่มาของความเครียด
เกี่ยวกับสภาวะนี้ โดยหลักแล้วมักมาจากการได้รับแรงกดดันจากการทำงาน และจากการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างบุคคลที่สะสมต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการงานต่างๆ ทั้งหมดได้ นำไปสู่ภาวะเครียดเรื้อรังทางอารมณ์ โดยอาจมีสาเหตุมาจากบรรยากาศการทำงานที่ตึงเครียด ภาระความรับผิดชอบงานที่หนักเกินไป หรือชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานจนทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น
ตามที่กล่าวมาข้างต้นหากผู้อ่านต้องการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานมากยิ่งขึ้น สามารถเข้ามาดูต่อในหนังสือ Work overload : redesigning jobs to minimize stress and burnout ของ Frank M. Gryna ได้ที่สำนักหอสมุด มหาวิยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [สืบค้นได้ที่ลิงก์นี้]
จะรักษาอาการนี้อย่างไรได้บ้าง?
เมื่อคนจำนวนไม่น้อยที่อาจมีความเสี่ยงต่ออาการนี้ หากปล่อยให้สภาวะหมดไฟในการทำงานดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อร่างกายและจิตใตรวมถึงความสามารถในการทำงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวทางการป้องกันก็มีมากมาย เพื่อให้รู้ตัวและหยุดยั้งได้อย่างทันท่าวทีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะยกตัวอย่างมาดังนี้
1. การพักผ่อนให้เพียงพอ : พักผ่อนที่ไม่ใช่แค่การนอนเท่านั้น หากแต่การดูแลสุขภาพให้ดี ทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟมากจนเกินไป และถ้าหากเป็นไปได้ ก็ควรค่าแก่การลาพักผ่อนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อปรับสมดุลของร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ เพราะเหล่านี้ส่งผลต่อการพักผ่อนทั้งสิ้น
2. การจัดระเบียบการใช้ชีวิต : จัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาในการทำงาน เช่น โฟกัสงานแต่ละชิ้นตามลำดับความสำคัญ กำหนดเวลาที่จะใช้ตอบอีเมลล์ในแต่ละวัน ไม่นำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน หรือนอกเวลางาน
3. การผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมนอกเวลาทำงาน : อาทิ การผ่อนคลายด้วยโซเชี่ยลสักเล็กๆ น้อยๆ (เป็นไปได้เอาเนื้อหาที่มีประโยชน์จะดีมากครับ) ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว หรือการนั่งอ่านหนังสือ
4. การลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ : อุปกรณ์สื่อสาร และจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะการที่คุณออนไลน์ตลอดแหมือนเป็นการเปิดช่องทางให้ทุกการสื่อสารรวมทั้งเรื่องงานเข้ามาหาโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น การนั่งตอบอีเมลล์ในวันหยุด เสียเวลาพักผ่อนทั้งวันกับการเล่นเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมก็เป็นได้
5. การปรับทัศนคติในการทำงานของตนเอง : จัดการความเครียดที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดภาวะ Burnout อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ ความเครียดในการทำงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ความเครียดในระดับสะสมบ่งบอกถึงความใส่ใจในการทำงานของคุณ อันจะนำมาซึ่งความรักในตัวเองและการเติบโตในชีวิต
6. การพัฒนาทักษะการปรับตัว : การสื่อสาร การแก้ปัญหา และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและสร้างขอบเขตในการทำงาน หากไม่เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ยึดถือความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป ไม่เชื่อใจให้ผู้อื่นร่วมงานด้วย ตนเองจะกลายเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ เคร่งเครียดจากการแบกภาระงานที่มากเกินไป
7. การขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้าง : พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนากับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย ใช้เวลามากขึ้นกับคนที่เข้าใจและมองเห็นคุณค่าและยินดีในการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเราในการงานต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แต่ละคนก็ควรที่จะปฏิบัติตัวให้เป็นที่น่าช่วยเหลือยามทุกข์จากคนรอบข้างด้วยเช่นเดียวดัน
เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ กล่าวได้ว่า Burnout Syndrome เป็นภาวะที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นอาการที่ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และประสิทธิภาพในการทำงานอย่างรุนแรง การเรียนรู้ที่จะสังเกตสัญญาณเตือนและหาวิธีการจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สามารถป้องกันและรับมือกับ Burnout ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และอย่าลืมว่า การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้แต่ละคนสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขรวมถึงสร้างความสมดุลในหน้าที่การงานได้ในระยะยาว
Reference
1 : Anne Lamott. (n.d.). Quotabla Quote. Goodreads. Quote by Anne Lamott: “Almost everything will work again if you unplug...”
2 : ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร. (31 พฤษภาคม 2023). ภาวะหมดไฟ (Burnout syndromes). MedPark Hospital. ภาวะหมดไฟ (Burnout syndromes) สาเหตุ อาการ และการรักษา | MedPark Hospital
3 : ดาวชมพู นาคะวิโร. (5 มิถุนายน 2021). Burnout Syndrome ภาวะหมดไฟจากการทำงาน. RAMA Channel. Burnout Syndrome ภาวะหมดไฟจากการทำงาน - รามา แชนแนล
4 : ทินารมภ์ ชัยพุทธานุกูล. (30 มิถุนายน 2567). Burnout เหนื่อยล้าเกินไป..สู่ภาวะหมดไฟ. โรงพยาบาลพิษณุเวช. Burnout เหนื่อยล้าเกินไป..สู่ภาวะหมดไฟ | โรงพยาบาลพิษณุเวช
5 : RAM Hospital. (30 มกราคม 2025). เช็คอาการ คุณเข้าข่ายภาวะหมดไฟ (Burnout) ในการทำงานหรือยัง. เช็คอาการ คุณเข้าข่ายภาวะหมดไฟ (Burnout) ในการทำงานหรือยัง
Categories
Hashtags