Analytical Thinking
ว่าด้วยทักษะการคิด+วิเคราะห์
ในปี 1965 มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) คนหนึ่งนามว่า เฟรเดอริก สมิธ ซึ่งได้รับโจทย์ให้เขียนรายงานเกี่ยวกับแนวคิดทางธุรกิจ โดยสมิธได้ตัดสินใจนำเสนอไอเดียเกี่ยวกับระบบการขนส่งที่สามารถจัดส่งพัสดุข้ามคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่วงทศวรรษ 1960 นั้น การขนส่งพัสดุนับว่ายังเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน และล่าช้า เนื่องจากบริษัทขนส่งและสายการบินส่วนใหญ่จัดส่งโดยส่งพัสดุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งตามเส้นทางที่กำหนด ซึ่งทำให้เสียเวลามากหากพัสดุต้องผ่านเมืองหลายเมือง
สมิธ ได้ศึกษา วิเคราะห์ ปัญหานี้อย่างละเอียด เขามองเห็นช่องโหว่ในระบบการขนส่งที่ซับซ้อนแบบดั้งเดิม และคิดหาวิธีใหม่ๆ ที่จะทำให้การขนส่งรวดเร็วขึ้น โดยเสนอให้ใช้ระบบ Hub-and-Spoke ซึ่งหมายถึงการส่งพัสดุทั้งหมดไปยังศูนย์กลาง เพื่อให้กระบวนการจัดส่งแบบศูนย์กลางและสามารถส่งพัสดุข้ามคืนได้อย่างรวดเร็ว แต่รายงานฉบับนี้ก็ถูกวิจารณ์อย่างมาก และได้รับคะแนนที่ไม่ดีนัก แต่สมิธ ก็ยังเชื่อมั่นในแนวคิดนี้ โดยหลังจบการศึกษา เขาได้ก่อตั้ง FedEx และลงทุนอย่างหนักในการสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่จนประสบความสำเร็จในที่สุด
ตัวของ สมิธ เองได้พิสูจน์ว่า แนวคิดการขนส่งที่เขาออกแบบนั้นสามารถใช้ได้จริง ด้วยกับการคิดวิเคราะห์ที่ลงลึกในปัญหา และสามารถช่วยให้ค้นพบแนวทางใหม่ๆ ที่ไม่เพียงแค่ช่วยแก้ปัญหาเดิม แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมแขนงใหม่อีกด้วย
รู้จักกับ Analytical Thinking (การคิดวิเคราะห์)
การคิดวิเคราะห์ เป็นกระบวนการสำคัญในการคิดแบบมีเหตุผลตรรกะ เพื่อแยกแยะข้อมูลที่ซับซ้อนให้กลายเป็นส่วนย่อย และค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยเหล่านั้น ทำให้เกิดข้อสรุปและตัดสินใจที่มีเหตุผลและเป็นรากฐานของทักษะในหลายๆ สาขาอาชีพเช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ธุรกิจ การเงิน หรือกฎหมาย
ซึ่งแนวทางสำหรับการนำทักษะการคิดวิเคราะห์มาปรับใช้ สามารถเข้าใจโดยพื้นฐานได้ที่ 3 ขั้นตอน ดังนี้
หนึ่ง การรวบรวมข้อมูล รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือการตัดสินใจที่คุณกำลังพิจารณาอยู่ ข้อมูลนี้อาจมาจากแหล่งต่างๆ เช่น เอกสาร รายงาน งานวิจัย การสัมภาษณ์ หรือจากหนังสือ เฉกเช่น สมิธ ที่เจ้าตัวค้นคว้าอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับประเด็นที่จะหาคำตอบให้ได้
สอง การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่างๆ ซึ่งอาจทำได้ด้วยวิธีการที่ตนเองเชี่ยวชาญ เช่น การเปรียบเทียบ การจำแนก หรือสร้างแบบจำลอง ที่สมิธได้ลองร่างโมเดลธุรกิจดังกล่าวไว้ในรายงานของตนเอง
สาม การสรุปข้อมูล สรุปให้มีความชัดเจนต่อตนเองเป็นอันดับแรก เพื่อนำความสำคัญของสิ่งนั้นๆ รวมถึงประเด็นที่ได้ศึกษา มาอภิปรายในวาระที่ตนเองต้องการต่อไป
สิ่งนี้ถือเป็นทักษะแห่งอนาคต สำหรับคนทำงานในยุคดิจิทัล Analytical Thinking ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากว่า จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน ถ้าอยากตามโลกให้ทัน ไม่ตกยุค และเป็น Soft skill ที่มีความจำเป็นทั้งในการทำงานและในการใช้ชีวิต
ทักษะการคิดวิเคราะห์ ส่งผลต่อสยามประเทศบ้างหรือไม่?
เมื่อช่วงเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการเสวนาทางการศึกษา ภายใต้หัวข้อ “ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการบริหารจัดการศึกษาให้เด็กไทยทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก” ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย ได้มีส่วนที่ชี้ให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนไทยหลังจากการเก็บผลการศึกษาระหว่างปี พ.ศ.2549-2566 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าเด็กไทยมีทักษะเรื่องการคิดวิเคราะห์ที่ต่ำลง และระบบการศึกษายังไม่สามารถยกระดับคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับหลักสูตรมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐานที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง รวมถึงนำไปใช้ในการประกอบอาชีพให้เ้กิดความก้าวหน้า
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สถาบันการศึกษาจำนวนไม่น้อย ยังคงจัดการเรียนการสอนในแบบให้ผู้เรียนอ่านและท่องจำ และสอบวัดจากสิ่งที่ครูบอก ขณะที่ความรู้สำหรับใช้ในการสอบระดับชาติหรือ O-Net ผู้เรียนต้องเรียนรู้จากกระบวนการคิดที่มีกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกสังเกต รวบรวมข้อมูล จำแนก เปรียบเทียบ สรุปสาระสำคัญ ซึ่งเป็นหวัใจสำคัญของทักษะการคิดวิเคราะห์ กล่าวคือ สถาบันการศึกษาสมควรที่จะเน้นการปลูกฝังทักษะการคิดวิเคราะห์ให้กับตัวผู้เรียน
ขณะที่ นางสาวพัชรี นาคผง ได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการคิดวิเคราะห์จากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา พ.ศ. 2557-2558 ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง โดยสัมภาษณ์ครูผู้สอนจากกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของผ้เรียนส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการทำคะแนนสอบในรายวิชาดังกล่าว ซึ่งจากการรายงานผลการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์ พบว่า ผู้เรียนมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 64.18 และร้อยละ 71.37 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ที่ร้อยละ 80 จากข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยหรือการติดตามผลการใช้หลักสูตรรวมทั้งข้อคิดของนักศึกษาต่างๆ ที่ระบุว่า “ปัจจุบัน ผู้เรียนทุกระดับขาดความสามารถในการคิด คิดไม่เป็น แก้ปัญหาไม่เป็น ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอน วิธีการวัดผลและประเมินผลที่มุ่งส่งเสริมพัฒนาการคิด”
นอกจากนี้ คุณวัชรา เล่าเรียนดี ได้กล่าวเกี่ยวกับประเด็นทักษะการคิดวิเคราะห์ของเยาวชนไทยไว้อีกว่า “การส่งเสริมทักษะการคิดหรือความสามารถในการคิดยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จากการประเมินมาตรฐานโรงเรียนส่วนใหญ่ ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดขั้นสูง ที่ประกอบด้วยทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินค่า รวมทั้งทักษะการคิดแก้ปัญหาอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องกันมาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะทักษะและความสามารถในการคิดจะส่งผลถึงการพัฒนาประเทศชาติในทุกด้าน” สามารถอ่านผลสำรวจได้ที่นี่
ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าทักษะการคิดวิเคราะห์ถือเป็นทักษะอีกแขนงหนึ่งที่เยาวชนไทยยังขาดอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจึงมีนโยบายหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหานี้ที่กำลังเกิดขึ้น โดยการใช้แนวทาง KMUTT Generic Competence เพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถหาแนวทางจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมและตอบโจทย์ต่อทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการปรับตัวในยุคโลกาพิวัฒน์นี้ได้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
Analytical Thinking ต่างกับ Critical Thinking อย่างไร?
ทั้งสองสิ่งนี้ เป็นการคิดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และนำไปสู่การไขข้อสงสัยที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จนพาไปสู่คำตอบที่ผ่านการพิจพิจารณาแล้ว หากแต่ทักษะการคิดทั้งสองแบบนี้ แม้จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่มีจุดเน้นและการใช้งานที่แตกต่างกัน
Analytical Thinking
- เน้นการแยกแยะและวิเคราะห์ส่วนประกอบต่างๆ ของปัญหาหรือข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมและรายละเอียดของประเด็นนั้นอย่างทั่วถึง
- มักเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะเชิงตรรกะและเหตุผลในการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น การหาสาเหตุของปัญหา การเปรียบเทียบข้อมูล หรือการจัดหมวดหมู่และทำโครงส้รางข้อมูลให้ชัดเจน
- ใช้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์จากมุมมองของข้อมูลและองค์ประกอบเชิงโครงสร้าง เช่น การวิเคราะห์ผลลัพธ์หรือการทำแผนภูมิ
Critical Thinking
- เน้นการประเมินความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ความคิด หรือมุมมองต่างๆ เพื่อสรุปความคิดเห็นที่มีเหตุผลและหลักฐานสนับสนุน
- รวมถึงการตั้งคำถาม ท้าทายข้อสมมุติฐาน และตรวจสอบความมีเหตุผลของข้อมูลหรือข้อสรุป เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลไม่มีอคติหรือข้อบกพร่อง
- ใช้ในการตัดสินใจและการประเมินทางเลือกอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับการคิดเชิงวิพากษ์ เช่น การพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล
ทั้งนี้ทั้งนั้น Analytical Thinking มุ่งเน้นไปที่ความละเอียดในการแยกแยะและทำความเข้าใจส่วนประกอบต่างๆ ของข้อมูล ขณะที่ Critical Thinking เน้นการประเมินและวิพากษ์ความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลหรือมุมมอง เพื่อช่วยในการตัดสินใจ
จากเรื่องของ สมิธ ที่ได้หยิบนำเอาทักษะการคิดวิเคราะห์มาใช้จนสามารถสร้างระบบขนส่งพัสดุที่เป็นปรากฏการณ์ของโลกได้ ด้วยกับการนำตัวเองกระโจนเข้าสู่การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากการสาละวนอยู่กับข้อมูลต่างๆ ทั้งจากงานวิจัยหรืออีกหลายๆ แหล่งเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ซ้ำยังรวมไปถึงนำคำวิจารณ์ที่ได้รับมาปรับปรุงแก้ไขจนนำไปสู่ความสำเร็จ พร้อมทั้งนำปัญหาที่มีอยู่ มาจำแนกแยะแยะจนสามารถหาทางออกให้กับระบบขนส่งได้
Analytical Thinking จึงเป็นทักษะที่เปิดโอกาสให้หลายๆ สิ่งสำหรับการประกอบอาชีพ โดยการพัฒนาทักษะด้านนี้ช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหา หรือตัดสินใจที่สอดคล้องกับข้อมูล วางแผนกลยุทธ์ และพบโอกาสมากมาย รับรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ฝึกฝนการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเพื่อเสริมสร้างทักษะคิดวิเคราะห์ของแต่ละคน
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากว่าด้วยเรื่องกระบวนการใช้ความคิดของแต่ละทักษะ เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงไม่ได้รู้จักเพียง Analytical Thinking เท่านั้น หากแต่มี Critical Thinking ด้วย ตามที่ได้จำแนกถึงความแตกต่าง รวมไปถึง Systematic Thinking อีกเช่นเดียวกัน ซึ่งเราจะกล่าวถึงเรื่องนี้ในบทความถัดไป
และเมื่อมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้แต่ละคนเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าให้กับองค์กร และมีความพร้อมต่อการเติบโตในอนาคตครับ
Reference
1 : Samuel Price. (20 November 2020). FedEx: A Concept that Blossomed into an Industry. Market Realist. FedEx: A Concept that Blossomed into an Industry
2 : dot.s academy. (ม.ป.ป.). Analytical Thinking คืออะไร (ฉบับเข้าใจง่าย). มาทำความรู้จัก Analytical Thinking คืออะไร แบบฉบับเข้าใจง่าย
3 : Jobsdb. (7 July 2023). ทำงานให้มีระบบ ใช้ชีวิตแบบ smart work ด้วยความคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking). ทำงานให้มีระบบ ใช้ชีวิตแบบ smart work ด้วยความคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) - Jobsdb ไทย
4 : เดลินิวส์ ออนไลน์. (28 พฤษภาคม 2567). ชี้เด็กไทยยังขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ สาเหตุคะแนนทดสอบระดับชาติต่ำ. ชี้เด็กไทยยังขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ สาเหตุคะแนนทดสอบระดับชาติตกต่ำ | เดลินิวส์
5 : พัชรี นาคผล, ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย, รุจิราพร รามศิริ และมนต์ชัย พงศกรนฤวงศ์. (2564). การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 19(1), 176-189. ดูจาก การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD
6 : Jay. (16 August 2023). Critical thinking vs analytical thinking: The differences and similarities. Mind By Design. Critical thinking vs analytical thinking: The differences and similarities
Categories
Hashtags