เจาะลึกปัญหาด้วยแผนภูมิก้างปลา : เครื่องมือวิเคราะห์ที่ทุกคนควรรู้!
Published: 14 January 2025
20 views

เจาะลึกปัญหาด้วยแผนภูมิก้างปลา เครื่องมือวิเคราะห์ที่ทุกคนควรรู้!

 

" Remove the root cause, not the symptoms. "

"กำจัดต้นเหตุ ไม่ใช่แค่แก้ไขอาการ”

-คาโอรุ อิชิกาวะ

 

         ประโยคดังกล่าวมาจากช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โลกอุตสาหกรรมอีกฟากทวีปหนึ่ง ในแดนอาทิตย์อุทัยกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แม้จะเกิดความสูญเสียอย่างมากอันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญความท้ายทายเป็นมากกว่าหลายชนชาติในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของประเทศเสียใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูในแวดวงเศรษฐกิจ  รวมถึงการสร้างมาตรฐานการผลิตสิ่งต่างๆ ให้สามารถเข้าแข่งขันกับตลาดโลกได้ และจากเรื่องดังกล่าว การจัดการคุณภาพจึงกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคนั้น

           ด้วยเหตุนี้ ในปี ค.ศ. 1943 ดร.คาโอรุ อิชิกาวะ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการคุณภาพของมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งมองเห็นความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ปัญหาและเฟ้นหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อช่วยยกระดับองค์กรปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           ด้าน อิชิกาวะ มองว่าการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพจำต้องเริ่มจากการเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ และเป็นเหตุให้ให้ทีมงานสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างมีระบบแบบแผน มองความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการกระตุ้นการทำงานร่วมกันภายในทีม และส่งเสริมให้เกิดการตั้งคำถามเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ซึ่งเจ้าตัวนำมาจัดเรียงโดยแยกแยะแต่ละปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาออกเป็นหมวดหมู่ เช่น คน (Man), เครื่องจักร (Machine), วัสดุ (Material), วิธีการ (Method), สิ่งแวดล้อม (Environment) และ การวัดผล (Measurement)

[ก้างปลาของอิชิกาวะ]

[ภาพจาก Wikipedia : Ishikawa diagram - Wikipedia]

           ดังกล่าวนี้ เป็นรูปแบบการวางแผนของอิชิกาวะ แต่ในยุคหลังมาจึงกลายเป็นชื่อเรียกกันอย่างคุ้นหูว่า “แผนภูมิก้างปลา” นั่นเอง ด้วยกับรูปร่างของแผนภูมินี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับก้างปลาที่มีกระดูกสันหลังและก้างซอยย่อยออกไปแต่ละกิ่ง ซึ่งใช้แทนปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของปัญหาขึ้น

           โดยในเวลาต่อมา แผนภูมิก้างปลาถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิต การศึกษา การแพทย์ การบริหารธุรกิจ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ปัญหาในสายงานไหนๆ ทั้งสายการผลิต การปรับปรุง การบริหาร หรือแม้แต่การศึกษาก็สามารถนำมาปรับใช้ตามความเหมาะสมได้ทั้งสิ้น

 

แผนภูมิก้างปลาคืออะไร?

           แผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram) คือ เครื่องมือในการค้นหาสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถหาสาเหตุของข้อบกพร่องและความล้มเหลวในกระบวนการต่างๆ โดยบริบทคนไทยจะคุ้นหูกันอยู่ 2 ชื่อได้แก่ แผนภูมิก้างปลา หรือ ผังก้างปลา

         ซึ่งแผนภูมิดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาได้ เป็นกระบวนการที่มีโครงสร้างช่วยในการช่วยระบุปัจจัยพื้นฐานหรือสาเหตุของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการทำงานที่เป็นเหตุของความล้มเหลวของระบบสามารถช่วยพัฒนาการดำเนินการที่สนับสนุนการแก้ไขได้ โดยการใช้งานแผนภูมินี้จะเป็นไปตามชื่อ ที่เลียนแบบโครงกระดูกของปลา ปัญหาพื้นฐานถูกวางไว้ที่หัวของปลา ก้างปลาแต่ละก้างจะแสดงให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญ ในขณะที่ก้างย่อยแสดงถึงสาเหตุของแต่ละสาเหตุสำคัญอีกทีหนึ่ง และจะแตกแขนงย่อยออกไปได้หลายระดับตามความจำเป็นเพื่อหาสาเหตุของปัญหา

           โดยการใช้งานแผนภูมิก้างปลานั้น จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาตามที่กล่าวไว้ข้างต้น มีจุดมุ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างตัวแปรต่างๆ เป็นการใช้เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาเดิมที่เจอ ขณะเดียวกันก็เป็นการใช้เพื่อช่วยป้องกันข้อบกพร่องด้านคุณภาพ

 

จะใช้กับการศึกษาได้อย่างไร?

           เดิมที การจะใช้งานแผนภูมิก้างปลา ผู้ใช้จะต้องระบุถึงปัญหา หรือปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง “ปัญหาที่พบเจอ หรือ สิ่งที่อยากแก้ไข” ที่เป็นส่วนหัวปลาให้ได้เป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยหาปัจจัยอื่นๆ ตามมาภายหลังที่เอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านั้น สาเหตุหลักของปัญหาแต่ละส่วน รวมถึงสาเหตุรอง ถ้าเป็นไปได้

           ซึ่งหากจะใช้ในเรื่องการศึกษานั้น ก็สามารถลองจำแนกได้ ดังนี้

1.ปัญหาที่ต้องการแก้ไข : มลพิษแหล่งน้ำในชุมชน

2.เมื่อได้โจทย์แล้ว จากนั้นจึงนำมาจัดหมวดหมู่ที่อาจเป็นปัจจัยอันนำไปสู่ปัญหานั้นๆ

               คน (Man) : ขาดความรู้เรื่องทักษะการแยกแยะ, การสื่อสารยังเข้าไม่ถึง

               วิธีการ (Method) : มีการบังคับใช้กฎหมายแล้ว แต่อาจยังไม่เข้มงวด

               วัสดุ (Material) : ถังขยะในชุมชนมีจำนวนเพียงพอต่อแต่ละจุดแล้ว

               สิ่งแวดล้อม (Environmental) : คลองมีขยะและตะกอนสะสม, มีฝนพัดขยะจากแหล่งอื่น

               การวัดผล (Measurement) : : ขาดการตรวจัดคุณภาพน้ำในคลอง, ตัวชี้วัดปริมาณขยะในคลอง

3.ระดมความคิดและใส่รายละเอียดในแต่ละหมวดหมู่ : เช่น ในหมวดหมู่ “คน (Man)” อาจพบยังขาดความรู้เรื่องการแยกแยะ หรือในหมวด “สิ่งแวดล้อม (Environment)” อาจพบว่ามีขยะจากแหล่งอื่นที่ถูดพัดมาจาดฝน

4.วิเคราะห์และวางแผนปรับปรุง : เลือกปัจจัยที่สำคัญที่สุดในแผนภูมินั้น และวางแผนเพื่อแก้ไขจุดที่ส่งผลกระทบมากที่สุด


 


เมื่อทราบดังที่ร่ายมาจนถึง ณ ตอนนี้ แผนภูมิก้างปลา ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนถึงความคิดเชิงระบบ [สามารถตามไปอ่านบทความผู้เขียนเกี่ยวกับทักษะการคิดเชิงระบบได้ที่ลิงก์นี้] และการทำงานร่วมกันที่มีเป้าหมายชัดเจนในกรณีที่ทำงานกันเป็นทีม ความเรียบง่ายที่ทรงพลังของแผนภูมินี้ที่ช่วยให้เห็นทุกอย่างแบบเป็นรูปธรรม ทำให้ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันจนถึงปัจจุบัน มิหนำซ้ำว่า ยังกลายเป็นมรดกสำคัญที่ ดร.คาโอรุ อิชิกาวะ ได้ทิ้งไว้ให้กับวงการบริหารอย่างมีคุณภาพไปทั่วโลก

แผนภูมิก้างปลา ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือทางเทคนิค แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดที่ว่า

"การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นจากการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงอย่างลึกซึ้ง และพร้อมจะแก้ไขมัน"

 

           

 

Reference

1 : Kaoru Ishikawa. (1990). Introduction to quality control. Chapman & Hall

2 : Ben Locwin. (15 October 2018). When To Use A Fishbone Diagram … And Why You Should Do It More Often Than You Think. PHARMACEUTICAL Online. When To Use A Fishbone Diagram … And Why You Should Do It More Often Than You Think

3 : จปToday. (ม.ป.ป.). Fishbone Diagram คือ เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ แผนภูมิก้างปลา เพื่อหาสาเหตุและผลกระทบ. Fishbone Diagram คือ เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ แผนภูมิก้างปลา

 




Categories

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...