ปรับตัวเป็น เห็นโอกาส:
ทักษะสำคัญของคนยุคใหม่
"Change before you have to."
“จงเปลี่ยนแปลงก่อนที่คุณจะถูกบังคับให้เปลี่ยน”
— Jack Welsh
หนึ่งในวลีดังของนักบริหารที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งแห่งยุคอย่าง แจ็ค เวลช์ ที่แนะนำว่าแต่ละคนต้องแสวงหาการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขององค์กรที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและจะต้องไม่ยอมรับในสถานะเดิมที่กำลังเป็นอยู่ เนื่องมาจากปัจจุบันนี้เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากเป็นแวดวงธุรกิจ กลุ่มลูกค้าก็มีการเปลี่ยนแปลงความต้องการของตนเองไปตามแต่ละยุคสมัย หากผู้บริหารไม่คิดเปลี่ยนแปลงอันใด ก็อาจส่งผลพิดพลาดจนกระทั่งไปต่อไม่ได้จนล้มละลายในที่สุด
แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ธรรมขาติสำหรับพฤติกรรมมนุษย์ เนื่องจากเราเป็นเผ่าพันธุ์ที่รักในความเสถียรภาพและต้องการรักษาไว้ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากมัน หากมัวแต่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วเมื่อใดที่จะหาความเสถียรภาพในชีวิตกันได้?
การปรับตัวสำคัญอย่างไรในยุคปัจจุบัน?
ในยุคที่เทคโนโลยีและวิถีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตามกระแสหลายๆ อย่างแล้วที่กำลังเข้ามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น Work-Life Balance ที่ได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น, การทำงานในรูปแบบ Freelance ผ่านการทำงานระยะสั้น รวมถึงบทบาทของระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามาสนับสนุนหรืออาจทดแทนการทำงานของมนุษย์ไปเลยก็มี
อีกทั้งแนวคิดการปรับตัวในการทำงานมีบทบาทสำคัญในจิตวิทยาองค์กรและพฤติกรรมองค์การ การปรับตัวในการทำงานคือการที่พนักงานได้ตีความและปรับตัวเองโดยมองตัวเองเป็นสมาชิกที่ทำหน้าที่อยู่ในองค์กร ซึ่งการปรับตัวทางบวกจะเกิดขึ้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงหรือการตีความนั้นสามารถให้ประโยชน์ได้ทั้งต่อองค์กรและตัวพนักงานด้วย ขณะที่การปรับตัวทางลบสะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงที่ไม่ดีนักระหว่างบุคคลกับองค์กร การมองการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวของบุคคลากรเช่นนี้ จะชี้ให้เห็นเด่นชัดในหลายกรอบแนวคิดทางจิตวิทยาและพฤติกรรมองค์กร อาทิ แนวคิดที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน ทฤษฎีการปรับตัวในการทำงาน การศึกษาถึงปัจจัยเชิงเหตุผลที่เป็นเงื่อนไขของการขับเคลื่อนไปสู่ความผูกพันต่อองค์กร ซึ่งแนวคิดทั้งหลายแม้จะมีความแตกต่างในจุดที่สนใจ แต่มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา นั่นก็คือ พนักงานถูกคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในฐานะที่พวกเขาได้เข้าไปมีส่วนในงานอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งและการปรับตัวเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ว่าด้วยเรื่องประเด็นการปรับตัว จึงขอแนะนำหนังสือ 1 เล่มที่สามารถาอ่านได้เลยที่หอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อย่าง Mindset : the new psychology of success ของ Carol S. Dweck [สืบค้นได้ที่นี่]
และในอีกปัจจัยหนึ่งทีสำคัญ คือจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในเรื่องระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต การดำเนินงานของธุรกิจ รวมถึงชีวิตประจำวันของคนทุกหมู่เหล่า โควิด-19 ทำให้ทุกๆ องค์กรและบุคลากรต้องเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อสร้างความอยู่รอดให้บริษัทที่ตนสังกัดอยู่ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนหรือทุกองค์กรจะมีความสามารถในการปรับตัวที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ เพราะธุรกิจ หรือพนักงาน ที่ไม่มีการเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การปรับตัวขององค์กร ไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงโยบายหรือกลยุทธ์ของผู้บริหาร แต่รวมไปถึงพนักงานทุกระดับที่มีอยู่ในองค์กรต้องมีการเรียนรู้และพร้อมที่จะปรับทัศนคติในการทำงานอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการดำเนินการที่ดีส่งผลให้สำเร็จตามเป้าหมายขององค์กร และเป็นไปตามความมุ่งหวังของตนเองอยู่เสมอ
แล้วจะพัฒนาทักษะการปรับตัวอย่างไรดี?
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ทราบได้ว่า พนักงานที่จะมีแนวคิดในการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดี เป็นการเพิ่มความสามารถให้กับตนเองในการทำงานได้ ซึ่งสามารถพัฒนาทักษะการปรับตัวได้ดังนี้
1. มิตรภาพนั้นสำคัญ : เมื่อย้ายสู่ที่ทำงานใหม่หรือเป็นเป็น First Jobber อย่างแรกคือการทำตัวเป็นมิตรกับทุกๆ คน ใครจะตอบรับสัญญาณมิตรภาพกับเราไหมคงไม่อาจทราบได้ แต่ควรผูกมิตรกับทุกคนไว้ก่อน แจกรอยยิ้มทักทาย สิ่งนี้ช่วยบรรเทาความตึงเครียดจากการไม่คุ้นหน้าลงได้มาก แล้วอาจตามมาได้สวย การทักทายและพูดคุยเรื่องทั่วไป มาด้วยการแนะนำตัว พร้อมกับแสดงความไว้วางใจต่อเพื่อนร่วมงาน
2. สุภาพอ่อนโยน : ไม่มีใครรักความไม่นุ่มนวล จึงเป็นการดีที่แต่ละคนจะใช้ความสุภาพเพื่อแสดงออกถึงความจริงใจกับสถานที่ใหม่ หากมีความสุภาพกับบรรยากาศใหม่ๆ ตั้งแต่ต้น จะช่วยให้ได้รับการยอมรับอย่างสุภาพกลับคืนมาเช่นเดียวกัน การทำงานก็ทำอย่างสุภาพนุ่มนวล เพื่อแสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติและจริงใจกับงาน
3. ขยันเรียนรู้ : การทำงานในบรรยากาศใหม่ๆ หรือการที่องค์กรเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จึงทำให้ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีประสบการณ์ก่อนหน้ามามากแค่ไหน หากเจอการเปลี่ยนแปลงก็จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อรับมือกันสิ่งๆ นั้น หากไม่เข้าใจก็ให้ถามเพื่อนร่วมงานที่อยู่มาก่อน แต่ก็ควรถามอย่างสมเหตุสมผล
4. สังเกตบรรยากาศการทำงาน : สังเกตการทำงานว่าคนอื่นๆ ทำงานอย่างไร สื่อสารกันอย่างไร เช่น บางบริษัทอาจใช้ Line ในการสื่อสาร เราก็จำต้องหมั่นเช็คข้อความ หมั่นตอบ จึงควรสังเกตการทำงานของคนรอบข้างให้ดี
5. รับผิดชอบในหน้าที่ : เข้าไปในตอนแรกอาจยังไม่เข้าใจในบริบทของตัวในการทำงาน จึงต้องคุยกับหัวหน้างานให้เป็นที่เรียบร้อยจนเข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อให้รับผิดชอบในงานนั้นๆ ได้อย่างเต็มความสามารถ และจะได้ไม่เสียโอกาสที่จะนำมาสู่การทำงานผิดพลาดเพียงเพราะไม่รู้ในขอบเขตการทำงานของตนเอง
6. ติดตามงานของตัวเอง : การติดตามงานและเช็คผลอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ยิ่งต้องใส่ใจตนเองเป็นพิเศษ อาทิ งานที่ต้องทำเป็นทีม เมื่อเราทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว ก็จำเป็นต้องส่งต้อให้คนอื่นสานงานนั้นต่อไป จึงควรติดตามว่างานที่ทำไปผิดพลาดไหม ต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง การติดตามและการเช็คผลงานจึงเป็นการปรับตัวที่ทุกคนควรมีอยู่เสมอ
7. สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา : การสื่อสารถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก การเริ่มงานจึงควรให้ความสำคัญกับการสื่อสาร พยายามจับประเด็นสิ่งที่ฟังให้ได้ หากจำไม่ได้จึงต้องจด และเมื่อเวลาที่ต้องพูดควรสื่อสารออกไปให้ตรงประเด็น เพราะหากไม่ชัดเจนแต่แรกอาจทำให้งานผิดพลาดและส่งผลเสียต่อผู้อื่นได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทราบได้ว่าการปรับตัวนั้นไม่ใช่เพียงทักษะที่ควรมี แต่เป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ที่จะปรับตัว ไม่เพียงช่วยให้แต่ละคนอยู่รอด แต่ยังเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของแต่ละคนได้อย่างสิ้นเชิง ดังคำกล่าวของ แจ็ค เวลช์ ในตอนแรกที่ว่า
“จงเปลี่ยนแปลงก่อนที่คุณจะถูกบังคับให้เปลี่ยน”
ว่ากันไปตามนั้นครับ
Reference
1 : John Saaty. (1 November 2015). "Change before you have to." - Jack Welch. LinkedIn. "Change before you have to." - Jack Welch
2 : Disrupt. (ม.ป.ป.). Adaptability ทักษะสู่ความสำเร็จ กุญแจสำคัญในการพัฒนาตัวเอง. Adaptability ทักษะสู่ความสำเร็จ กุญแจสำคัญในการพัฒนาตัวเอง
3 : ปิ่นกนก วงศ์ปิ่นเพ็ชร์. (2014). แนวคิดการปรับตัวในการทำงานของพนักงานใหม่ในองค์กร, Rajabhat J. Sci. Humanit. Soc. Sci, 15(1). หน้า 45-54.
4 : ฉัฐวัฒน์ ลิมป์สุรพงษ์, สุภาวิตา อินทรพาณิชย์. (2022). ความสามารถในการปรับตัวของพนักงาน ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน ประสิทธิภาพของงาน ประสิทธิผลของงาน และความจงรักภักดีต่อองค์การ กรณีศึกษา บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด, วารสารการบัญชีละการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 14(3). หน้า 64-83.
5 : Jobsdb. (7 กรกฎาคม 2023). 7 วิธีปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานใหม่. 7 วิธีปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานใหม่ - Jobsdb ไทย
Categories
Hashtags