จาก Good สู่ Great: พัฒนา Writing Skill ให้เหนือกว่าเดิม
Published: 26 December 2024
11 views

จาก Good สู่ Great: พัฒนา Writing Skill ให้เหนือกว่าเดิม

 

“You can make anything by writing.”

“คุณสามารถรังสรรค์ได้ทุกอย่างด้วยการ ‘เขียน’”

– C.S. Lewis.

         คำกล่าวของ ผู้สร้างอาณาจักรนาร์เนียอย่าง ซีเอส ลูอิส (เสียชีวิต ค.ศ. 1963) ได้ให้ไว้ บ่งบอกถึงความพิเศษที่มีเฉพาะการเขียนเท่านั้นที่เราจะสามารถสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ที่ต้องการได้ แม้เราจะไม่มีต้นทุนชีวิตมากพอจะสร้างสิ่งต่างๆ ได้ตามนึกคิด เช่น คงไม่มีใครที่มีเงินน้อยนิด จะไปสร้างตึกไบหยกที่สูงที่สุดในโลก หรือจะลงทุนทำท้องทุ่งที่ราบโล่งไกลสุดลูกหูลูกตาไปได้ หากแต่วิธีหนึ่งที่สามารถก่อร่างสร้างเรื่องสร้างราวขึ้นมาได้ เห็นจะเป็นสิ่งที่เขาเรียกกันว่า “การเขียน”

           อันเนื่องมากจากว่าการเขียน คือการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก ความต้องการ รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ ของผู้เขียนผ่านตัวอักษรไปยังผู้รับสาร (หรือง่ายๆ ว่าผู้อ่าน) เพื่อให้พวกเขาเข้าใจในจุดประสงค์ที่เราต้องการจะสื่อสารออกมาในรูปของตัวอักษร

           สิ่งที่คนอยากจะเป็นผู้เขียนจำเป็นต้องมี คือ การฝึกฝนตนเองให้เรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ เพื่อสื่อสาร (หรือก็คือการเขียน) ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดเป็นผลพวงที่น่าพึงใจ ดังนั้นการวางโครงเรื่องก่อนการเขียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากแต่ก่อนจะเขียน หรือวางโครงเรื่อง หรือฝึกทักษะทางภาษาอันใดก็ตามแต่ สิ่งที่ควรจะมีเป็นอย่างแรกคือความขยันในการอ่าน ก่อนที่เราจะพูดถึงการฝึกฝนทักษะการเขียน จึงเห็นสมควรที่จะกล่าวถึงเรื่องของการอ่านที่เป็นการปูพื้นไปสู่การเขียนก่อนครับ

 

การเขียนกับการอ่านสัมพันธ์กันอย่างไร

           การเขียนและการอ่าน เป็นทักษะที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งและเป็นสองทักษะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันในแทบจะทุกมิติ ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะทางภาษา ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการสื่อสาร เนื่องจากทั้งสองกระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ภาษาเพื่อสร้างและรับข้อมูล ซึ่งอาจจำแนกได้ว่าแต่ละอย่างเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ ดังนี้

           การอ่านช่วยพัฒนาการเขียน : สิ่งที่การอ่านจะช่วยพัฒนาด้านการเขียนได้ และเห็นได้อย่างชัดเจนมากคือการเพิ่มคลังคำศัพท์ในหัวของเรา การอ่านทำให้เราเจอคำศัพท์ใหม่ๆ โครงสร้างรูปประโยค และสำนวนที่หลากหลาย ซึ่งเอามาปรับใช้ในงานเขียนของตนเองได้ จนบางครั้งเราสามารถแยกระหว่างงานเขียนของคนที่ไม่ค่อยอ่าน กับคนที่อ่านอะไรมาเป็นจำนวนมากได้ ก็ด้วยกับทักษะทางภาษาที่แต่ละคนใช้ เพราะคนที่อ่านอะไรมาเป็นจำนวนมาก เรามักเห็นภาษาเขียนที่บุคคลเหล่านั้นใช้ซึ่งมีคารมคมคายและมีการใช้ศัพท์พิสดารที่เราไม่อาจเห็นได้เลยจากผู้เขียนทีอ่านอะไรมาน้อยกว่า

           และนอกเหนือจากจะได้เรียนรู้ภาษาทางการเขียนของผู้เขียนแต่ละท่านแล้ว ยังเป็นการทำความเข้าใจสไตล์การเขียน และวิธีการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ได้อีก เช่น วิธีการเล่าเรื่องที่ต่างกัน อย่าง เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ ก็ไม่ได้มีแนวทางเล่าเรื่องเหมือน ฮารุกิ มูราคามิ หรือแม้จะเป็นการโน้มน้าวใจผู้อ่านจากภาษาอันสละสลวยของผู้เขียนแต่ละท่านก็ตาม

           เป็นอันทราบได้ว่า การจะเรียนรู้ภาษาเขียน วิธีการ หรือแนวทาง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้จากผู้เขียนหลายๆ คน การอ่านหนังสือหลายเล่มจากผู้เขียนคนเดียว ทำให้เรารู้ถึงแนวทางและการพัฒนาวิธีการเขียนของผู้เขียนคนนั้นคนเดียว แต่หากเราอ่านหนังสือจากผู้เขียนต่างกันสักสิบคน ก็ล้วนทำให้เราเรียนรู้วิธีการนำเสนอจากผู้เขียนถึงสิบท่าน ฉะนั้นแล้ว ความกว้างขวางในขอบเขตความรู้นั้นต่างกันเยอะมากครับ

           การเขียนที่ช่วยพัฒนาการอ่าน : เป็นสิ่งที่มาควบคู่กับการอ่านพัฒนาการเขียน เพราะการเขียนในสิ่งที่เราอ่านมา จะเป็นตัววัดความเข้าใจของเราที่มีต่อเนื้อหานั้นๆ หรือก็คือการตกผลึกทางความรู้ที่เราได้รับ ว่าได้รับมาและสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อะไรต่อได้หรือไม่ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถตีความข้อความที่เราอ่านได้ดียิ่งขึ้น โดยการเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้มาจากการอ่านในหนังสือแต่ละเล่มที่อ่านไปจนแล้วจบ (จนจบแล้ว) ผนวกมันเข้ากับประสบการณ์ของตนเองที่ใช้ชีวิตมาแรมหลายทศวรรษ

           สิ่งนี้ทำให้ผู้ที่จะเขียนอะไรออกมาสักอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องค้นคว้าความรู้เพิ่มเพื่อเสาะแสวงหาความรู้มาเขียน เช่น หากท่านอยากเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตะวันออกใกล้ ท่านไม่อาจสามารถเขียนหนังสือเรื่องนี้โดยการอ่านเฉพาะหนังสือสักเล่มสองเล่มจากผู้เขียนที่เป็นชาวตะวันตกและนำมากล่าวว่านั่นคือความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกใกล้ได้ ด้วยกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกันของแต่ละภูมิภาค จำเป็นที่เราจะต้องค้นคว้าอ่านตำราที่เป็นทั้งหลักฐานชั้นต้น และหลักฐานชั้นรองจากแต่ละแหล่งข้อมูลที่ท่านแสวงหามาอย่างสุดความสามารถเพื่อเขียนในสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด กล่าวคือ การเขียนอะไรสักอย่างก็ย่อมจำเป็นต้องอ่านอย่างมหาศาลเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลคุณภาพโดยผ่านการคิดอย่างถ้วนถี่ หรือบอกอีกเป็นนัยก็คือ จำต้องใช้ทักษะเกี่ยวกับการคิดเชิงวิพากษ์มาผนวกกับการเขียนและค้นคว้าด้วย[สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการคิดเชิงวิพากษ์ได้ที่นี่]

         

แล้วจะพัฒนาทักษะด้านการเขียนอย่างไรได้บ้าง

         แม้ว่าการเขียน หากอยากออกงานเขียนที่มีคุณภาพก็ย่อมต้องมีความพิถีพิถัน ทั้งการมีวินัยในการอ่านหนังสือ การขยันหาความรู้ และการลงมือฝึกปรือให้ตนเองมีลวดลายทางภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางที่ฝึกสักวันสองวันแล้วจะทำได้ แต่จำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางอาจกล่าวได้ดังนี้

           1 : ฝึกฝน และเขียนให้ได้ทุกวัน

           อยากเก่งการเขียน ต้องเริ่มที่การเขียน ไม่ต้องเริ่มที่ความเป็นวิชาการ หากแต่เริ่มได้ง่ายๆ เพียงเขียนไดอารี่ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายและได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง จะพูดให้เห็นภาพคงจะยาก แต่สำหรับคนที่เขียนเขียนมาแล้วแรมเดือนแรมปี จะเห็นการเปลี่ยนแปลงศาสตร์ทางภาษาของตนเองไปมากขึ้นทวีคูณ และทำให้รู้ได้ว่าอะไรเป็นจุดแข็ง อะไรเป็นจุดอ่อนของตนเอง เพื่อพัฒนาตนเองในด้านต่อๆ ไปครับ

           2 : อ่านหนังสือให้มาก

           ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการอ่านสัมพันธ์กับการเขียนชนิดที่ว่าหย่าแล้วก็หย่าไม่ขาดครับ ยิ่งหย่ายิ่งกลับมาใกล้ชิด ยิ่งอ่านมาก และยิ่งหลากหลาย ก็จะทำให้เราพบเจอแนวทางว่าเราอยากเขียนแนวไหน จนเมื่อความรู้เยอะขึ้น ก็อาจพัฒนาไปสู่การอ่านหนังสือที่เนื้อหายากขึ้นได้ และเป็นการดีต่อตนเองทั้งสิ้นครับ

           3 : เรียนรู้ภาษาของนักเขียนคนอื่นๆ

           อยากรู้ว่าการเขียนแต่ละคนเป็นอย่างไร ลองเปลี่ยนจากการอ่านเพื่อให้เพลิดเพลินไปสู่การอ่านเพื่อวิเคราะห์แนวทางการเขียนดูครับ ดูว่าคุณเอ๋-นิ้วกลม เขียนอย่างไร พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ เขียนอย่างไร พี่ตุ้ม-หนุ่มเมืองจันทร์ เขาเขียนอย่างไร การเว้นวรรค การผสมคำ แม้แต่ให้จังหวะเป็นการย่อหน้า แต่ละคนมีฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดาครับ

           4 : นึกถึงกลุ่มเป้าหมายเสมอ

           ครับ จะเขียนให้คนอ่าน จำเป็นต้องรู้ว่าใครจะอ่าน หากอยากเขียนให้เด็กน้อยๆ อ่าน แล้วมาเนื้อหาวิชาการแน่น อาจไม่เหมาะสมและทำให้เข้าใจได้ยาก

           5 : ฝึกการจับประเด็นที่จะเขียน

           ให้เข้าใจได้โดยง่ายว่าจะต้องไม่เขียนอะไรที่หลุดกรอบไปจากการวางโครงเรื่องที่ต้องการ หากกำลังเขียนเรื่องการสร้างเครื่องบิน แต่ในการเขียนกลับเน้นไปที่คุณสมบัติของผู้ที่จะขับเครื่องบินเป็นส่วนใหญ่ของเนื้อหา แบบนี้ถือหลุดกรอบไปพอสมควร จึงต้องฝึกทั้งการจับประเด็นและเนื้อหาที่ตัวท่านได้มีการริเริ่มเขียนขึ้นมาครับ

           6 : เขียนสิ่งทีอยู่ในหัวใส่กระดาษ

           เทคนิคนี้เรียกว่า “Free Writing” คือเขียนอะไรก็ได้ตามใจนึกคิด ตรงประเด็นบ้างไม่ตรงบ้าง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ไม่ต้องสนใจ จากนั้นค่อยกลับมาเกลาให้สละสลวยต่อไป เพื่อฝึกแนวทางการคิดและการใช้ภาษาของเราให้คมยิ่งขึ้น

           7 : ท้าทายความสามารถของตนเองเรื่อยๆ

           เมื่อเขียนจนมีความสามารถในระดับหนึ่งแล้ว ให้ลองเพิ่มจำนวนครับ จากเขียนได้วันละหน้า ให้ลงเพิ่มเป็นสองหน้า จากเขียนเล่าเรื่องตัวเองธรรมดาๆ ให้เปลี่ยนเป็นนิยาย แล้วเช็คว่าเราทำเรื่องต่างๆ ได้ดีแค่ไหน การท้าทายตัวเองยิ่งช่วยขัดเกลาให้เราก้าวกระโดดในวิวัฒนาการทางการเขียนมากยิ่งขึ้นครับ

         8 : อยากเก่ง ต้องสู้ต่อไป

           เรื่องนี้สำคัญที่สุดครับ เอาชนะตัวเองให้ได้ อย่าล้มเลิกความตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น แม้การเขียนครั้งแรกๆ จะยังไม่ดีมาก แต่เมื่อพัฒนาต่อไป ไม่มีทางก้าวถอยหลังลงคลองครับ

 

เมื่อนำทั้งหมดมารวมกัน เชื่อว่าคนที่อยากเขียนนั้นมีเยอะครับ แต่จะมีสักกี่คนที่ได้โอกาสในการเขียนจริงๆ และเมื่อได้รับโอกาสแล้ว จะมีสักกี่คนคว้าโอกาสนั้นไว้ เป็นสิ่งที่ต้องมาทวนกันทุกคนครับ และก่อนหน้านี้ผมเคยเจอประโยคหนึ่ง ที่เป็นประโยคที่ครอบคลุมที่สุดสำหรับนักเขียนและนักเริ่มต้นเขียนหรือแม้แต่นักอยากจะเขียน ผมขอปิดจบที่ประโยคนี้เลยละกันครับ

 

“สิ่งที่ยากที่สุดในการเขียน ไม่ใช่การตั้งชื่อเรื่อง ไม่ใช่การลงแรงค้นคว้าหาข้อมูล ไม่ใช่การร่างโครงเรื่อง แต่คือการเขียนให้จบ”

 

 

 

Reference

1 : วิไลลักษณ์ แก้วกระจ่าง. (2557). การเพิ่มทักษะการเขียนด้วยชุดแบบฝึกโครงเรื่อง [งานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ] มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ. 2557239875619.pdf

2 : ฮานีฟ ไวยศิลป์. (11 พฤษจิกายน 2567). Critical Thinking ทักษะที่เยาวชนไทยยังขาด?. Contributor Write an Article. Critical Thinking ทักษะที่เยาวชนไทยยังขาด? - Contributor Platform

3 : Unlockmen. (3 September 2015). 8 ขั้นตอนพัฒนาทักษะการเขียนของคุณให้ดีขึ้น. 8 ขั้นตอนพัฒนาทักษะการเขียนของคุณให้ดีขึ้น » Unlockmen


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...