การเรียนรู้โดยการแสดงละคร เมื่อห้องเรียนกลายเป็นเวทีชีวิต
Published: 29 April 2025
3 views

การเรียนรู้โดยการแสดงละคร: เมื่อห้องเรียนกลายเป็นเวทีชีวิต

 

           “Theatre is a form of knowledge; it should and can also be a means of transforming society.”

“ละครคือรูปแบบของความรู้ มันควรและสามารถเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วย”

– Augusto Boal           

           

           ณ ตอนสมัยแต่ละคนอยู่ในช่วงเยาวัย การละเล่นอย่างหนึ่งที่มักจะถูกหยิบมาใช้เป็นแนวทางหาความบันเทิงให้กับตนเองและผองเพื่อนอยู่เสมอคือ การแสดงบทบาทสมมุติ อาจเล่นเป็น พ่อ แม่ ลูก หรือแต่งตั้งตนเองเป็นทหารหน่วยรบพิเศษแล้วหาไม้กวาดมาจับทำเสมือนคิดว่านั่นคืออาวุธสงคราม M4A1 อย่างใดอย่างนั้น และก็ย่อมเป็นการละเล่นที่สนุกสนานเพราะรู้สึกเหมือนกำลังสวมบทบาทนั้นจริงๆ ตามประสาความเป็นเด็กไม่ว่าจะเพศใดก็ตามแต่

           เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ในโลกที่ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในหนังสืออีกต่อไป การเรียนรู้จึงหามิควรจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนแบบเดิม ด้วยเหตุนี้ การแสดงละคร (Dramatization) สามารถนับได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ให้กว้างไกลและลึกซึ้งกว่าที่เคย เป็นการเรียนรู้ที่ไม่เพียงแต่การทำความเข้าใจเนื้อหา แต่ยังฝึกทักษะชีวิต และสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เรียนอย่างแท้จริง

 

ว่าด้วยการสอนโดยใช้การแสดงละคร

         เมื่อกล่าวถึงการแสดงละคน ผู้คนจำนวนไม่น้อยมักจะเข้าใจนึกถึงไปว่าก็คือการแสดงละครตามโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์ที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ชมได้ทุกวัย ไม่ว่าจะเด็กเล็ก เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือคนชรา ซึ่งรายการแต่ละอย่างล้วนให้ความสนใจต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย หากแต่สิ่งที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้นว่า ในปัจจุบันนี้ การแสดงละคนนับว่าเป็นหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน เนื่องจากเป็นการสอนที่ทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับความเป็นจริง เรียนรู้ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถมีผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นได้ โดยการแสดงละคนแต่ละครั้งก็ต้องมีผู้แสดงและผู้ชม เพื่อให้มีความสมบูรณ์ในการเรียนรู้รูปแบบดังกล่าว

           ด้านการให้ความหมาย สามารถเข้าใจได้ว่า การสอนโดยใช้การแสดงละคร เป็นการสอนที่ผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่ผู้สอนกำหนดไว้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงละครที่เป็นเรื่องราวตามบทเรียนหรือเนื้อหาที่ผู้สอนกำหนด ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น

           ด้วยกับสิ่งนี้จึงพอที่จะกล่าวได้ว่า ละครอาจไม่ใช่แค่ศิลปะเพื่อความบันเทิง แต่เป็นวิธีคิด วิธีสื่อสาร และวิธีเรียนรู้ที่ทรงพลัง ในบริบทของห้องเรียน สามารถทำให้กลายเป็นเครื่องมือในการทำให้ความรู้จับต้องได้ โดยเฉพาะในวิชาที่เนื้อหาอาจดูไกลออกไปจากชีวิตจริง เช่น ประวัติศาสตร์ วรรณคดี หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ ซึ่งการนำบทบาทสมมุติมาใช้ จะช่วยให้ผู้เรียน “มีส่วนร่วม” แทนที่จะเป็นเพียง “ผู้รับฟัง”

 

ความท้าทายและโอกาสในการนำไปใช้

         แม้ว่าการเรียนรู้ผ่านการละครจะมีผลประโยชน์จำนวนมาก แต่ทั้งนี้ก็จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและความตั้งใจจากทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียน ตลอดจนไปถึงระดับผู้บริหาร ในการสร้างบรรยากาศห้องเรียนเรียนที่ปลอดภัยสำหรับการลองผิดลองถูก การฝึกอบรมให้ผู้สอนใช้ละครอย่างมีจุดประสงค์และการจัดสรรเวลาและทรัพยากรให้เพียงพอล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้

           นอกจากนี้ ผู้คนทั่วไป ที่ยังคงมีชุดความคิดที่เข้าใจกันอย่างผิดๆ ว่าการแสดงละคนเป็นเพียงกิจกรรม “สนุกสนาน” มากกว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่มีสาระ ซึ่งทำให้บางครั้งการเรียนรู้ผ่านละครจะไม่ถูกรองรับอย่างจริงจัง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนรู้แบบนี้ส่งเริมสมรรถนะที่จำเป็นในระยะยาวอย่างลึกซึ้ง

           ดังที่กล่าวมาข้างต้น อาจจำแนกแนวทางในการจัดการเรียนการสอนแบบการแสดงละคนได้ดังนี้

           1. ขั้นเตรียมการ : ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนดเรื่องราวหรือสถานการณ์สมมุติจากเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ มีการจับกลุ่มผู้เรียนตามความเหมาะสมกับเนื้อหาและบทบาทในการแสดง ด้านผู้สอนจึงควรกำหนดเรื่องราวจากสถานการณ์ต่างๆ ให้แต่ละกลุ่มและให้เลือกบทบาทกันตามความสะดวกหรือผู้สอนกำหนดให้เป็นรายบุคคล แล้วจึงให้ผู้เรียนได้ฝึกซ้อมการแสดง

           2. ขั้นการแสดง : ผู้เรียนทำการแสดงบทบาทตามเรื่องราวที่ได้รับมอบหมาย ผู้สอนทำหน้าที่สังเกตุการณ์รวมถึงดูแลควบคุมสถานการณ์

           3. ขั้นการสรุป : ผู้สอนกล่าวชมเชยผู้เรียนที่ทำการแสดง และสอบถามความรู้สึกและความคิดเห็นในการแสดงบทบาทนั้นๆ รวมถึงสรุปข้อคิดจากบทเรียนให้ผู้เรียนได้รับรู้เผื่อกรณีที่มีเนื้อหาสาระใดตกหล่นไป

 

           ตามขั้นตอนที่กล่าวเป็นเพียงโดยคร่าวที่หากต้องการนำไปใช้ก็สามารถปรับตามยืดหยุ่นหรือความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ แต่จากขั้นตอนต่างๆ นั้น จะเห็นได้ว่า เทคนิคการสอนแบบการแสดงละครนี้ นอกจากผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติแล้ว ผู้สอนยังคงมีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นเตรียมการไปจนถึงการสรุปเนื้อหาสาระ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเข้าถึงสิ่งที่ผู้สอนต้องการสื่อออกมาได้อย่างถูกต้อง

           เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ท้ายที่สุด การแสดงละครนั้นไม่ใช่แค่เป็นกิจกรรมเสริม แต่คือแนวทางหนึ่งในการสร้าง “การเรียนรู้ที่มีชีวิต” ห้องเรียนที่ใช้ละครไม่เพียงทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหา แต่ยังช่วยให้รู้จักตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และมีพลังในการสร้างสรรค์อนาคตของตนเอง เพราะเมื่อห้องเรียนกลายเป็นเวทีชีวิต ผู้เรียนก็ไม่ใช่แค่ “ผู้เรียน” แต่คือ “นักแสดง” ที่มีบทบาท มีเสียง และมีความใฝ่ฝันให้ได้ถ่ายทอดผ่านการเรียนรู้ที่มีความหมาย

 

 

           

Reference

1 : Goodreads. (n.d.). Augusto Boal > Quotes > Quotable Quote. Quote by Augusto Boal: “Theatre is a form of knowledge; it should and c...”

2 : Aksorn. (ม.ป.ป.). “ละคร” แค่บทบาทสมมติหรือรูปแบบของการสร้างทักษะ. “ละคร” แค่บทบาทสมมติหรือรูปแบบของการสร้างทักษะ

3 : True ปลูกปัญญา. (29 ตุลาคม 2562). เทคนิคการสอนแบบการแสดงบทบาทสมมติ (Role playing). เทคนิคการสอนแบบการแสดงบทบาทสมมติ (Role playing)

4 : Narong Kanchana. (ม.ป.ป.). แสดงละคร. Blogger. วิธีสอน (Teaching Methods): แสดงละคร

 


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...