การพัฒนา ICT Literacy เพื่อการทำงานในสังคมดิจิทัล
“Technology can become the “wings” that will allow the educational world to fly farther and faster than ever before – if we allow it.”
“เทคโนโลยีสามารถเป็น “ปีก” ที่จะช่วยให้การศึกษาของโลกบินไปไกลได้อย่างรวดเร็วกว่าอดีตกาล ถ้าเราร่วมมือกัน”
-Jennie Arledge
ว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยี เรื่องการศึกษา เรื่องการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของโลกในยุคสมัยปัจจุบัน ทุกอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ ถึงขนาดที่เราสามารถพูดได้ว่า หากใครปฏิเสธสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมถือได้ว่าบุคคลผู้นั้นขาดทักษะในการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวให้เข้ากับการชีวิตในแต่ละยุคสมัยเป็นที่เรียบร้อย
ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือที่เรียนกันว่า ICT (Information and Communication Technology) ได้เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก โดยกระแส ICT ดังกล่าว ส่งผลให้หลายประเทศวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ โดยเชื่อมต่อให้เข้ากับการปฏิรูปการศึกษาบนฐานไอซีที (ICT-Based Education Reform) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำสังคมไปสู่การเรียนรู้ใหม่อีกทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมและตอบโจทย์ด้านกำลังทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนภายใต้กระแสการเรียนรู้ในกระแสโลกาภิวัฒน์ หรือในศตวรรษที่ 21 อันเป็นยุคที่ทุกคนจะต้องมีทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศและการรู้เท่าทันสื่อ ตลอดจนทักษะด้านคอมพิวเตอร์ เป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่งซึ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่จะมีการใช้ ICT เป็นตัวขับเคลื่อนและพัฒนาความรู้จึงเป็นประเด็นที่ควรค่าแก่การศึกษา โดยเฉพาะกับโจทย์ที่ว่า “เราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ให้การเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และสังคมไทยได้โดยใช้ไอซีที” ซึ่งหากว่ากันตามสิ่งที่เกิดขึ้น หลายประเทศทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญและมีดำเนินงานอย่างกว้างขวาง อาทิ ประเทศฟินแลนด์ ที่ได้ริเริ่มการจัดโครงการ New Literacy Skills ในปี 2020-2023 ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านสื่อและ ICT ตั้งแต่การศึกษาในวัยเด็กจนถึงระดับประถมศึกษา และมัธยมต้น โดยมุ่งเน้นทักษะดิจิทัลและโปรแกรมมิ่งสำหรับนักเรียนทุกคน ส่วนประเทศสิงคโปร์ ที่เริ่มมีการสิ่งเสริมความรู้ ICT ผ่านโครงการต่างๆ เช่น Digital for Life Movement หรือ Code for Fun ซึ่งเน้นการพัมนาทักษะดิจิทัลสำหรับนักเรียนและบุคคลทั่วไป ขณะที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก การพัฒนาด้าน ICT จึงเป็นส่วนสำคัญมากของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีการจัดโครงการ Pradhan Mantri Gramin Digital Saksharta Abhiyan (PMGDISHA) เพื่อสร้าง “Digital India” ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายสร้างองค์ความรู้ให้กับประชากรในชนบทกว่า 60 ล้านคน
สำหรับประเทศไทยเอง โจทย์การปฏิวัติการเรียนรู้โดยใช้ ICT นั้นถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับการตั้งคำถามว่า “ICT จะช่วยให้สังคมไทยสามารถปฏิวัติการเรียนรู้ได้อย่างไร” ว่าแล้วก็...เป็นคำถามที่น่าคิดครับ
ทั้งนี้ การใช้ ICT น่าจะสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนไปสู่วิธีการเรียนรู้ที่มีความรวดเร็ว กว้างขวาง และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพและเป็นฐานกำลังคนคุณภาพที่จะนำประเทศไปสู่การขับเคลื่อนความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของคนทั้งสังคม รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศโดยรวมต่อไปได้ในอนาคต
ICT Literacy จะเข้าใจอย่างไรได้บ้าง
ว่ากันเรื่องความหมายของ ICT Literacy คำนี้ได้ถูกนิยามและอธิบายโดยหลายๆ องค์กรและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในหลากบริบทโดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้
โดย UNESCO ให้ความหมายว่า หมายถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่อมือสื่อสาร และเครือข่ายเพื่อเข้าถึง จัดการ บูรณาการ ประเมินและสร้างข้อมูล โดยเน้นการใช้ทักษะเหล่านี้ในบริบทของ “สังคมความรู้” (Knowledge Society) ซึ่งช่วยพัฒนาทั้งในด้านการศึกษาและชีวิตประจำวัน
ด้าน International ICT Literacy Panel ให้ความหมายว่า เป็นความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล จัดการข้อมูล บูรณาการข้อมูล ประเมินข้อมูล สร้างสรรค์ข้อมูล ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การใช้ทักษะเหล่านี้ในลำดับที่เพิ่มความซับซ้อนของการคิดเพื่อสนับสนุนการดำเนินชีวิตในยุคข้อมูลข่าวสาร
ขณะที่ ISTE (International Society For Technology in Education) ให้ความหมายว่า เป็นการมุ่งเน้นไปที่ทักษะการใช้เทคโนโลยีในด้านการแก้ปัญหา การสื่อสาร การทำงานร่วมกันและการสร้างสรรค์ในบริบทของการศึกษา โดยใช้มาตรฐานที่สนับสนุนการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลในทุกระดับการศึกษา
ทั้งนี้ เมื่อทำความเข้าใจในแต่ละนิยามของแต่ละองค์กรแล้ว จะสามารถเข้าใจได้ว่า ICT Literacy หมายถึง ความสามารถด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อค้นหา วิเคราะห์ จัดการ ประมวลผล และถ่ายทอดข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ปลอดภัยและมีจริยธรรม
จะพัฒนาตัวเองอย่างไรดี?
การพัฒนาทักษะด้าน ICT Literacy สามารถทำได้โดยอาศัยการเรียนรู้ การฝึกฝน และการลองใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันอย่างมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1 : พัฒนาทักษะการเข้าถึง (Access) : เรียนรู้วิธีการค้นคว้าผ่านแหล่งข้อมูลออนไลน์ เช่น การใช้เสิร์ชเอนจินแต่ละอย่าง (Microsoft Edge, Google, Bing) และฝึกการใช้เครื่องมือพื้นฐานอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต (ส่วนนี้อาจเป็นผู้ที่มีอายุในการฝึกฝน) รวมถึงการเข้าถึงบทเรียนต่างๆ เช่น ในการเรียนบน Coursera ซึ่งส่วนนี้ สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายพัฒนานักศึกษาให้สามารถเข้าถึงบทเรียนต่างๆ ที่สนใจได้ โดยท่านสามารถเข้ามาลองสมัครดูได้ผ่านทางลิงก์นี้ Request to use Coursera Platform (OpenLicense) และหากได้รับอีเมลสำหรับเข้าใช้งานแล้ว ให้ไปต่อยัง https://www.coursera.org/ จากนั้นให้ค้นหาหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้ได้เลย
2 : เรียนรู้การประเมินผล (Evaluate) : ฝึกวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลออนไลน์ เช่น ตรวจสอบผู้เขียนหรือเว็บไซต์ อาจมาจากการหัดใช้เครื่องมือ เช่น Snopes, PolitiFact เป็นต้น
3 : พัฒนาทักษะการจัดการ (Manage) : ฝึกการจัดการข้อมูลดิจิทัล เช่น การตั้งชื่อไฟล์อย่างเป็นระบบ การสำรองข้อมูลในระบบคลาวด์ ฝึกใช้โปรแกรมจัดการ เช่น Trello หรือ Microsoft Excel เพื่อจัดระเบียบข้อมูลและติดตามโครงการ
4 : ฝึกการบูรณาการข้อมูล (Integrate) : ใช้โปรแกรมออกแบบหรือซอฟต์แวร์ เช่น Microsoft PowerPoint หรือ Canva ในการนำเสนอข้อมูล ฝึกสรุปข้อมูลจากหลายแหล่งและนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย
5 : สร้างสรรค์ข้อมูลดิจิทัล (Create) : ใช้เครื่องมือออกแบบเนื้อหา เช่น Adobe Creative Cloud หรือ Canva สร้างงานกราฟิก หรืออาจลองเรียนรู้การเขียนโปรแกรมเบื้องต้น เช่น Python หรือ Scratch ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Code.org
6 : เสริมสร้างความรู้เรื่องความปลอดภัย (Cybersecurity) : ศึกษาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย เช่น การตั้งรหัสผ่านที่ซับซ้อน หรือเข้าร่วมเวิร์คชอปออนไลน์เกี่ยวกับความปลอดภัยดิจิทัล
7 : เรียนรู้แบบ LifeLong Learning : โดยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาบนโลกเทคโนโลยีตามที่ได้กล่าวไปข่า้ต้นในข้อที่ 1 ว่าสามารถเข้าอบรมคอร์สออนไลน์ต่างๆ เพื่อเป็นการต่อยอดทักษะในด้านนี้ได้
8 : ฝึกฝนการทำงานร่วมกันในยุคดิจิทัล : ใช้เครื่องมือทำงานร่วมกัน เช่น Google WorkSpace หรือ Microsoft Team ในการทำงานกลุ่ม และฝึกฝนการสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการประสานงานต่างๆ ให้มีปะสิทธิภาพ
ในยุคที่เต็มไปด้วย AI
สิ่งหนึ่งที่อาจต้องย้ำเตือนเราๆ ทุกคน คือ หากพูดถึงคำว่า ICT Literacy ในยุคนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจคำว่า "AI Literacy" ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะความฉลาดรู้ทางAI เป็นทักษะสำคัญในยุคที่ AI มีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันและการทำงานของเรา โดย AI จะมาเกี่ยวข้องกับการเข้าใจและใช้เทคโนโลยีอย่างมีวิจารณญาณและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ ICT Literacy อันจะสามารถเข้าใจได้ดังนี้
- พื้นฐานของการใช้งานเทคโนโลยี : เป็นพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นสำหรับการเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การมี ICT Literacy จะช่วยให้แต่ละคนสามารถเข้าถึงการใช้งาน AI ได้มากขึ้น เนื่องจาก AI มักถูกนำมาใช้ในแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างอย่างกว้างขวาง
- การประเมินและวิเคราะห์ข้อมูล : ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นเมื่อใช้งาน AI และลดความเสี่ยงจากข้อมูลที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง
- การเตรียมพร้อมสำหรับตลาดแรงงาน : ในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทในหลายอุตสาหกรรม การมีทั้ง ICT Literacy และ AI Literacy จะช่วยให้บุคคลมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- จริยธรรมในการใช้งาน : การใช้งาน AI ต้องมีการพิจารณาถึงผลกระทบทางจริยธรรม เช่น ความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการใช้ข้อมูล ICT Literacy ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจปัญหาด้านจริยธรรมเหล่านี้ได้ดีขึ้น และทำให้การใช้งาน AI เป็นไปอย่างรับผิดชอบต่อสังคม
ทั้ง ICT และ AI ต่างเป็นของคู่กันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้แล้วในยุคนี้ เป็นทักษะที่เสริมสร้างกันและกัน การมี ICT Literacy ที่ดีจะช่วยให้บุคคลสามารถเรียนรู้และใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน การมีความรู้เรื่อง AI จะทำให้ผู้ใช้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างปลอดภัยและมีวิจารณญาณมากขึ้น การพัฒนาทักษะทั้งสองด้านจึงเป็นสิ่งจำเป็นในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จากที่กล่าวมาข้างต้น การพัฒนาทักษะ ICT Literacy ควรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและผสมผสานทั้งการเรียนรู้ด้วยตัวเองและการมีส่วนร่วมกับชุมชนดิจิทัลเพื่อเพิ่มพูนความสามารถอย่างรอบด้าน
ทั้งหมดทั้งมวลในความชิ้นนี้ เป็นบทความที่ว่าด้วยเรื่องของทักษะ ICT Literacy ที่พูดถึงความสำคัญของทักษะดังกล่าว ความหมาย ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาตนเอง เพื่อให้เป็นปุถุชนที่สามารถปรับตัวต่อกระแสการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนผันไปอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเราต่างนำไปต่อยอดและปฏิบัติมัน ความรู้ใดๆ ก็ตามจะไม่มีความหมาย หากรู้แล้วแต่ไม่มีซึ่งการปฏิบัติความรู้นั้น
มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าผู้อ่านได้รับทราบถึงความสำคัญของทักษะนี้เป็นที่เรียบร้อย ต่อจากนี้ใครจะสามารถพัฒนาตนเองไปได้ถึงตรงไหน ก็สุดจะแล้วแต่ความสามารถของและท่าน
พัฒนาตนเอง สู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กันครับ
ปล. เมื่อพูดถึตรงนี้แล้วหากใครอยากทอดสอบพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี อาจเริ่มจากประชันฝีไม้ลายมือในการพิมพ์เร็วพิมพ์ไว ท่านสามารถลองทดสอบความแกร่งกล้าของวิทยายุทธทางการพิมพ์ของท่านได้ที่นี่ครับ Typing speed test (Capitalization and Punctuation) | TestGorilla
Reference
1 : Allison Academy. (n.d.). Technology in Education – Quotes. Technology in Education - Quotes | Allison Academy
2 : _________. (ม.ป.ป.). ไอซีทีเพื่อปฏิวัติการเรียนรู้ของเด็กไทย เยาวชน และสังคมไทย. เอกสารไม่ตีพิมพ์.
3 : Code School Finland. (18 June 2021). Code School Finland supports equal learning in new literacy and digital skills. Code School Finland supports equal learning in new literacy and digital skills • Code School Finland
4 : Infocomm Media Development Authority. (4 November 2022). Digital for Life Movement propels digital inclusivity in Singapore with more than 130 partners and $10.25 million raised to date. Digital for Life Movement Propels Digital Inclusivity | IMDA
5 : GKToday. (6 December 2024). Pradhan Mantri Gramin Digital Saksharta Abhiyan (PMGDISHA). Pradhan Mantri Gramin Digital Saksharta Abhiyan (PMGDISHA) – GKToday
6 : Elena E. Pernia. (2008). Strategy framework for promoting ICT literacy in the Asia-Pacific region. UNESCO Bankok.
7 : International ICT Literacy. (2002). Digital Transformation: A Framework for ICT Literacy ICT. ETS Research Institute. Digital Transformation: A Framework for ICT Literacy ICT
8 : ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์. (17 มิถุนายน 2024). AI Literacy (1): ทักษะจำเป็นในยุคที่มนุษย์ไม่อาจปฏิเสธปัญญาประดิษฐ์. The Potential. https://thepotential.org/knowledge/ai-literacy/
9 : Prompt Expert. (29 สิงหาคม 2024). AI Literacy คืออะไร? และทำไมถึงสำคัญในยุคดิจิทัล. https://www.prompt-expert.co/article/what-is-ai-literacy-and-why-it-matters/
10 : Thailibrary. (ม.ป.ป.). การจัดการความรู้ในยุคดิจิทัล กับ AI. https://www.thailibrary.in.th/2024/09/20/km-ai/
Categories
Hashtags