การจัดการเรียนรู้แบบทัศนศึกษา: เปิดโลกการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง
"The best education you will ever get is traveling. Nothing teaches you more than exploring the world and accumulating experiences."
“การศึกษาที่ดีที่สุดคือการเดินทาง ไม่มีอะไรสอนคุณได้มากไปกว่าการออกไปสำรวจโลกและสะสมประสบการณ์”
– Albert Einstien
ในยุคที่การศึกษากำลังเปลี่ยนผ่านจากการเน้นเนื้อหา ไปสู่การเน้นทักษะ ดังนั้นแล้ว การเรียนรู้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป
ศตวรรษที่ 21 ถือเป็นศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วโดยเทคโนโลยีทางด้านต่างๆ ที่สามารถแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Network) ส่งผลให้วิถีชีวิต การทำงาน และกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนในโลกใบนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือก็คือเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้วนมีความสัมพันธ์กับระบบการศึกษาอย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ด้วยกับด้านปัจจัยที่ทำให้เกิดและผลกระทบที่มีต่อการศึกษาทั้งในด้านแนวคิดและความต้องการในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การพัฒนาคนเป็นภารกิจหลักของการศึกษา ซึ่งต้องเริ่มต้นจากช่วงปฐมวัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
โดยจะต้องพัฒนาทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะให้พร้อมสำหรับการออกไปประกอบอาชีพต่อในอนาคต ซึ่งการดำรงชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายในสังคมโลก ดังนั้น ในยุคโลกาภิวัฒน์แห่งศตวรรษที่ 21 นี้ ผู้เรียนทุกคนนับว่าจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะเพื่อประโยชน์ในการใช้ชีวิตทั้งในโลกของการศึกษาและโลกของการใช้ชีวิตจริง
และเมื่อการศึกษาไม่ได้จำกัดเฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไปดังที่กล่าวไปข้างต้น ด้วยเหตุนี้จึงจะพาผู้อ่านมาทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมและเป็นผลดีในการส่งเสริมทักษะของผู้เรียนคือ “การเรียนรู้แบบทัศนศึกษา” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ออกไปพบกับโลกแห่งความเป็นจริง เรียนรู้จากสถานที่จริง และประสบการณ์ตรงที่ยากจะเฟ้นหามาได้จากตำราเล่มใดๆ
ว่าด้วยเรื่องทัศนศึกษา
การจัดการเรียนรู้โดยไปทัศนศึกษา เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่นำผู้เรียนออกไปศึกษาเรียนรู้ ณ สถานที่ที่เป็นแหล่งความรู้ในเรื่องนั้นๆ (ซึ่งอยู่นอกสถานที่เรียนปกติ) โดยมีการศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในสถานที่นั้นตามกระบวนการหรือวิธีการที่ผู้สอนและผู้เรียนได้ร่วมกันวางแผนไว้ และมีการอภิปรายสรุปผลการเรียนรู้จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเรียนรู้
ซึ่งประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่สามารถกล่าวเกี่ยวกับทัศนศึกษาได้ คือการส่งเสริมการพัฒนาทางสังคม ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสทำงานร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นทางการ มีความผ่อนคลนยมากกว่าการอยู่ในสถาบันการศึกษา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเรียนรู้ที่จะรับฟังผู้อื่น และการพัฒนาทัษะการสื่อสาร นอกจากนี้การเรียนรู้แบบทัศนศึกษายังเป็นการช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองและทักษะการแก้ไขปัญหา ผู้เรียนที่มีโอกาสออกไปสำรวจโลกนอกห้องเรียนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพัฒนาความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปทัศนศึกษาก็มีความเสี่ยงในด้านความปลออดภัย การดูแลให้ทั่วถึงกันระหว่างผู้เรียนจำนวนมากในสภาพแวกล้อมที่ไม่คุ้นเคยอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หากไร้ซึ่งการจัดการที่มีความครอบคลุม ตัวอย่างความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การพลัดหลง อุบัติเหตุจากการเดินทาง การสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย หรือปัญหาสุขภาพจากการออกไปข้างนอก เหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีการวางแผนที่ดีหรือเตรียมความพร้อมที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถลดลงได้หากมีการวางแผนที่ดี ผู้ดูแลมีความรู้เรื่องการจัดการความปลอดภัยที่เข้มงวด
จะจัดการเรียนรู้แบบทัศนศึกษาได้อย่างไร?
หนึ่งในจุดเด่นของการเรียนรู้แบบทัศนศึกษา คือ การส่งเสริมทักษะ Soft Skill ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญมากในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์ การปรับตัว หรือการเรียนรู้จากความหลากหลาย ซึ่งหากต้องการจัดการเรียนรู้การสอนรูปแบบดังกล่าว อาจขั้นตอนที่สามารถทำความเข้าใจโดยสังเขปได้ดังนี้
1. การวางแผน ที่ผู้สอนจะต้องมีการจัดการที่ดีตั้งแต่ขั้นตอนนี้ โดยเริ่มตั้งแต่กำหนดวัตถุประสงค์ของการออกไปศึกษานอกสถาบันการศึกษา กำหนดวางแผนหัวเรื่องที่จะให้ผู้เรียนออกไปศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการกำหนดสถานที่ที่จะไปศึกษา ว่าสถานที่นั้นๆ จะตอบโจทย์ต่อวัตถุประสงค์หรือไม่
2. การเดินทางออกไปศึกษา เมื่อได้ทุกอย่างลงตัว จึงต้องเดินทางไปยังสถานที่ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้สอนควรดูแลเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัย สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนและให้คำปรึกษาแนะนำตามความเหมาะสม
3. การศึกษาเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ เมื่อวางแผนอย่างรัดกุมแล้วและเดินทางไปจนถึงที่หมาย ผู้สอนควรจัดประชุมผู้เรียนทั้งหมดก่อนจะปล่อนผู้เรียนออกไปศึกษาเรียนรู้ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีการย้ำหรือทบทวนเรื่องของวัตถุประสงค์ในการออกมาศึกษาให้ชัดเจน เคารพต่อกฎเกณฑ์ กติกาของสถานที่ ความปลอดภัย วิธีการศึกษา การนัดหมายและการตรงต่อเวลา เป็นต้น
4. ขั้นการเดินทางกลับ เป้นการเดินทางกลับหลังจากที่ได้ศึกษาตามที่กำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งต้องหมั่นตรวจสอบความเรียบร้อย ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความพร้อมของยานพาหนะ ไปจนถึงเช็คจำนวนของผู้เรียนให้ครบถ้วนอยู่เสมอ
5. การสรุปผลการเรียนรู้ อาจสรุปผลการเรียนรู้โดยทันที ในกรณีที่สามารถจัดวรรเวลาได้ ไม่ควรเร่งรีบเดินทางกลับ ควรให้โอกาสผู้เรียนลองสรุปหลังจากได้เรียนรู้มา หรือ สรุปผลหลังจากกลับถึงสถานศึกษาแล้ว ควรหาโอกาสสรุปว่าที่เดินทางมา ได้รับอะไรบ้าง
6. การประเมินผล เป็นขั้นที่ผู้สอนและผู้เรียนสามารถช่วยเหลือกันประเมินได้ เพื่อให้ทราบว่าการไปทัศนศึกษาครั้งนี้มีผลเป็นอย่างไร เช่น บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่? มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างที่เกิดขึ้น? หรือข้อเสนอแนะอื่นๆ ซึ่งอาจประเมินจากการสอบถาม หรือการทำแบบประเมิน
ตามที่กล่าวมาตั้งแต่แรกเริ่ม ในโลกที่การเรียนรู้ต้องแข่งขันกับความซับซ้อนและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจัดการเรียนรู้แบบทัศนศึกษาคือสะพานที่เชื่อต่อกันระหว่าง “ห้องเรียน” กับ “ชีวิตจริง” ได้อย่างทรงพลัง ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังพัฒนาทักษะชีวิต ทัศนคติ และแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างเนื่อง
เมื่อมีการออกแบบทัศนศึกษาอย่างมีกลยุทธ์ ทำให้ทราบเลยว่า โลกใบนี้ล้วนเต็มไปด้วยห้องเรียนที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกสถานที่ เพียงแค่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ก้าวออกไปสำรวจ
Reference
1 : Goodreads. (n.d.). Mark Patterson. Quote by Mark Patterson: “The best education you will ever get is traveli...”
2 : สิรินทร์ ลัดดากลม บุญเชิดชู, มุจลินท์ กลิ่นหวน. (2559). กิจกรรมทัศนศึกษาเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21. Veridian E-Journal, Silpakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ, 9(3), 1550-1562.
3 : Narong Kanchana. (ม.ป.ป.). ไปทัศนศึกษา. Blogger. วิธีสอน (Teaching Methods): ไปทัศนศึกษา
4. : ThaiPBS. (3 ตุลาคม 2567). "ทัศนศึกษา" โอกาสการเรียนรู้หรือความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ?. "ทัศนศึกษา" โอกาสการเรียนรู้หรือความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ? | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส
Categories
Hashtags