เมื่อแสงกลายเป็นส่วนหนึ่งของจังหวะชีวิต
Published: 13 May 2025
1 views


เมื่อแสงกลายเป็นส่วนหนึ่งของจังหวะชีวิต



จากงานเสวนา Insight Series: Beyond Light ชี้ให้เห็นว่าแสงไม่ใช่เพียงสิ่งที่ทำให้เรามองเห็น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ควบคุมการทำงานระบบชีวภาพในร่างกายของเรา โดยบทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกความสัมพันธ์ระหว่างแสงและนาฬิกาชีวิต กลไกสำคัญที่ควบคุมการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง




ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1990 นักประสาทวิทยาได้ค้นพบเซลล์รับแสงชนิดใหม่ ที่เรียกว่า  “เซลล์ปมประสาท” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ipRGC”

แม้จะอยู่ในดวงตาแต่เจ้าเซลล์นี้ไม่ได้มีบทบาทที่ช่วยในการมองเห็น แต่กลับมีบทบาทสำคัญในการรับรู้ความสว่างของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการควบคุม “นาฬิกาชีวิต” ของร่างกาย

 

นาฬิกาชีวิตของมนุษย์คืออะไร?


นาฬิกาชีวิตคือ ระบบควบคุมการทำงานภายในร่างกายที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง คอยสั่งการกระบวนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การหลั่งฮอร์โมน การตื่น การนอนหลับ การย่อยอาหาร หรือแม้แต่อุณหภูมิของร่างกาย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มเซลล์ประสาท ซูพราไคแอสมาติก นิวเคลียส (SCN) ซึ่งเจ้า SCN จะตอบสนองต่อสัญญาณแสงและความมืดที่ส่งมาจากดวงตาผ่านเซลล์ ipRGCS


ซึ่งองค์ประกอบที่มีผลต่อนาฬิกาชีวิตอย่างหนึ่งคือแสง เมื่อร่างกายได้รับแสงและอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ร่างกายจะเริ่มทำงานตามวงจรในแต่ละวัน เรียกว่า "วงจรเซอร์คาเดียน"


จากกลไกนี้เอง เมื่อแสงเดินทางเข้าสู่ดวงตา ipRGC จะทำหน้าที่เป็นเหมือนสายตรวจ ส่งสัญญาณไปยัง SCN เพื่อแจ้งให้ทราบถึงช่วงเวลาของวัน ข้อมูลนี้เองที่นำไปสู่การควบคุม “วงจรเซอร์คาเดียน” (Circadian Rhythm) ซึ่งมีรอบการทำงาน 24 ชั่วโมงของร่างกาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในช่วงกลางวัน เมื่อร่างกายรับรู้ถึงแสงสว่างที่ ipRGC ส่งมา SCN จะสั่งให้ ยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมการนอนหลับ และกระตุ้นการหลั่ง คอร์ติซอล ฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวและพร้อมทำกิจกรรม ในทางตรงกันข้าม เมื่อถึงเวลากลางคืน SCN จะสั่งให้ต่อมไพเนียลผลิตเมลาโทนิน เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการพักผ่อน


"กล่าวได้ว่า เซลล์ ipRGC ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานสำคัญที่นำข้อมูลเรื่องแสงไปแจ้งฝ่ายการทำงานของนาฬิกาชีวิต และท้ายที่สุด ร่างกายของเราจะอยู่ในสภาวะหลับหรือตื่นขึ้นอยู่กับสัญญาณที่ส่งผ่านจากเซลล์ ipRGC ไปยังเซลล์ SCN นั่นเอง”


แสงสีฟ้า และผลกระทบต่อวงจรเซอร์คาเดียน

 

Sources of Blue Light

รูปจาก https://eyesafe.com/bluelight/

อย่างไรก็ตาม วงจรเซอร์คาเดียนสามารถถูกรบกวนได้ง่ายจากพฤติกรรมในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานดึก การอดนอน หรือการเล่นโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเซลล์ ipRGC มีโมเลกุลรับแสงชื่อ “Melanopsin” ที่ดูดกลืนแสงได้ดีที่สุดในช่วงความยาวคลื่น 480 นาโนเมตร ซึ่งตรงกับแสงสีฟ้าพอดี ชี้ให้เห็นว่าแสงสีฟ้ามีผลต่อการหลั่งเมลาโทนินและเป็นปัจจัยที่รบกวนการทำงานของนาฬิกาชีวิตมากที่สุด

หากร่างกายและวงจรเซอร์คาเดียนทำงานไม่สัมพันธ์กัน สามารถส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น การนอนไม่หลับ ความเครียด ภูมิคุ้มกันตก รวมถึงเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อม และเพิ่มโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ทั้งนี้ แสงสีฟ้าไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป  โดยปกติ เราได้รับแสงสีฟ้าที่ปะปนมากับแสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ในช่วงเช้าและกลางวัน ซึ่งถือเป็นเวลาที่เหมาะสมเพราะแสงสีฟ้าในเวลานี้จะช่วยกดการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน กระตุ้นความตื่นตัว เพิ่มสมาธิ ส่งเสริมการทำงานของร่างกายให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้ชีวิตตลอดทั้งวัน

แสงสีฟ้าจึงไม่ใช่สิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยงทั้งหมด แต่ควร เลือกรับให้ถูกเวลา — เปิดรับแสงช่วงเช้าเพื่อกระตุ้นร่างกาย และหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าในช่วงก่อนนอนเพื่อให้ร่างกายสามารถหลั่งเมลาโทนินได้อย่างเป็นปกติ เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้เรารักษานาฬิกาชีวิตให้สมดุล และส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว

การออกแบบแสงสว่างที่คำนึงมนุษย์เป็นศูนย์กลาง


คุณมาโนช แสนหลวง นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีไฟฟ้าและการส่องสว่าง ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ศึกษาหลักเกณฑ์การออกแบบแสงสว่างที่มุ่งเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางในอาคารสำนักงาน ซึ่งการออกแบบแสงสำหรับวงจรเซอร์คาเดียนต้องพิจารณา 4 ปัจจัยได้แก่

  1. ปริมาณแสง (Intensity)
  2. ระยะเวลา (Duration)
  3. ช่วงเวลา (Timing)
  4. สเปกตรัมของแสง (Spectrum)


นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงอายุของผู้ใช้งาน เนื่องจาก กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีการตอบสนองต่อแสงเซอร์คาเดียนน้อยกว่ากลุ่มอายุ 20 - 60 ปี จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณแสงให้มากขึ้น 2-3 เท่า ทั้งนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาร่วมด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาผู้ใช้งาน


แสงไม่ใช่เพียงเรื่องของการมองเห็น แต่เป็น "ตัวกำกับจังหวะชีวิต" ที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพโดยตรง การเข้าใจกลไกของแสงและนาฬิกาชีวิต จะช่วยให้เราสามารถปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน


สามารถอ่านบทความวิจัยฉบับเต็มได้ที่: https://eemag2025.web.app/#p=138


รายการอ้างอิง

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน. (ม.ป.ป.). ทิศทางการออกแบบอาคารตามมาตรฐานการออกแบบอาคาร WELL Building Standard เรื่องการออกแบบแสงและทิวทัศน์สำหรับพื้นที่ทำงาน. https://2e-building.dede.go.th/sites/default/files/2019-06/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%2030-5-62.pdf


คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2 พฤษภาคม 2023). Circadian Rhythm - วงจรเซอร์คาเดียน. https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/circadian-rhythm/

มาโนช แสนหลวง. (2568). การออกแบบแสงสว่างเชิงชีวพลวัตเพื่อการดำเนินกิจกรรมอย่างมีคุณภาพ. ใน EEMAG 2025 (เข้าถึงเมื่อ 13 พฤษภาคม 2568 จาก https://eemag2025.web.app/#p=138)

โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์. (2567, 26 มีนาคม). รู้จักแสงสีฟ้า (Blue Light) ภัยเงียบทำร้ายดวงตา เป็นอันตรายอย่างไร. https://samitivejchinatown.com/th/article/eyes-lasik/what-is-blue-light

Eyesafe. (n.d.). What is blue light from digital devices? Is it harmful for eyes? Retrieved May 13, 2025, from https://eyesafe.com/bluelight/


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...