การออกแบบแสงสว่างเพื่อสุขภาวะที่ดีและความยั่งยืน กับ ดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์
Published: 16 March 2025
3 views


การออกแบบแสงสว่างเพื่อสุขภาวะที่ดีและความยั่งยืน

กับ ดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์

เคยสังเกตไหมว่า แสงรอบตัวส่งผลต่อชีวิตเราแค่ไหน ?

 

แสงสว่างไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการมองเห็น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มาร่วมค้นพบการออกแบบแสงที่ไม่เพียงแค่ประหยัดพลังงาน แต่ยังส่งเสริมสุขภาวะและพัฒนาคุณภาพชีวิตจากมุมมองของ ดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์ อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่สอนและวิจัยด้าน Lighting Design และ Sustainable Design ซึ่งเน้นเรื่อง เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและการออกแบบที่ยั่งยืน


จุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นอาจารย์

ขอชี้แจงให้ทราบก่อนว่า อาจารย์มีความสนใจใน อาคาร สถาปัตยกรรม และแสงธรรมชาติ รวมถึงเรื่อง Building Performance ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในอาคาร และ Sustainable Design (การออกแบบที่ยั่งยืน) โดยเหตุผลที่เลือกสอนในด้านนี้ เพราะต้องการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและช่วยลดปัญหาโลกร้อน งานวิจัยจึงเน้นไปที่การออกแบบแสงธรรมชาติในอาคาร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านพลังงานและความเป็นอยู่ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับแสง (Culture & Lighting)

โดยโครงการล่าสุด คือการพัฒนา เครื่องมือ (Tool) สำหรับการวัดและประเมินคุณภาพแสง ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่สามารถตรวจวัดแสงในสถานที่ต่าง ๆ ได้ ช่วยให้การออกแบบแสงมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น




อาจารย์คิดว่าความรู้ด้านแสงสว่างและความยั่งยืนมีผลกระทบอย่างไรต่อสังคม ?

        เชื่อว่าการสร้างผลกระทบจากความรู้ มีได้หลายประเภทตั้งแต่ Top Down , Bottom up และ Bridge the Gap ซึ่ง Position ของอาจารย์สามารถทำได้ทั้ง 3 รูปแบบ ในการสร้าง Impact ให้กับสังคม

Bridge the Gap (เชื่อมโยงองค์ความรู้)

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ เราสามารถ Bridge the Gap ระหว่างงานวิจัยและองค์ความรู้กับสังคมได้ ทั้งการบริหารวิชาการ การนำงานวิจัยไปเผยแพร่และอบรมเพื่อให้เกิดการนำไปใช้จริง เช่น การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพอาคาร ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนได้โดยตรง ทั้งในเรื่องของ สุขภาวะที่ดี (Well-being) และการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้อยู่อาศัย กระบวนการนี้จึงเปรียบเสมือนการเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้และผู้ใช้งานจริง (End User)

Top Down (ผลักดันจากระดับนโยบาย)

อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับนโยบาย โดยทำงานร่วมกับ สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิอาคารเขียวไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สามารถ ช่วยผลักดันมาตรฐานและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม

ตัวอย่างงานที่กำลังดำเนินการคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของไฟ LED เนื่องจากปัญหาไฟไหม้และไฟช็อตจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องมี การรับรองมาตรฐาน (Certification) สำหรับผู้ติดตั้งไฟ LED ให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการรีวิว กฎกระทรวงเกี่ยวกับ Building Energy Code เพื่อช่วยกำหนดแนวทางว่าในอนาคต อาคารควรลดการใช้พลังงานอย่างไร และควรออกแบบให้มีประสิทธิภาพด้านพลังงานแบบไหน

Bottom Up (สร้างการตระหนักรู้ในสังคม)

ส่วนนี้คือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนและชุมชน เพราะหากไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการออกแบบแสงสว่างหรือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะไม่เห็นคุณค่าและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมการออกแบบแสงต้องมีหลักการ หรือทำไมต้องปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน การให้ความรู้เรื่อง การออกแบบที่ทั้งสวยงามและประหยัดพลังงาน จึงเป็นสิ่งจำเป็น


“ออกแบบอย่างไรให้เรียกว่า ทั้งสวย ประหยัดพลังงาน และสร้างสุขภาวะที่ดี”
สิ่งนี้คือ Impact ที่อาจารย์พยายามสร้างจากทั้ง 3 เลเยอร์ค่ะ




ระหว่างการทำวิจัยเคยเจอปัญหาอะไรหนักที่สุด ?

       โดยความคิดเห็นของตัวเองอาจไม่คิดว่าเป็นปัญหา แต่มี 2 ประเด็นสำคัญคือ 1 บางทีระบบการเบิกจ่ายในการทำงานอาจมีล่าช้าบ้าง เรื่องที่ 2 ความท้าทายในการนำเทคโนโลยีใหม่มาช่วยในการวิจัย เป็นประเด็นที่น่าสนใจกว่า เพราะต้องคิดว่า เราจะใช้ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม อะไรเพื่อช่วยเก็บข้อมูลให้ รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำอย่างไรให้การวิจัยมี การมีส่วนร่วมมากขึ้น

"อาจารย์มองว่านี่คือความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวล"

 

การแบ่งปันความรู้สำคัญต่อการพัฒนาคนรุ่นใหม่อย่างไร?

แน่นอนที่สุด ถึงได้มาเป็นอาจารย์ เพราะเราให้คุณค่าของ Human Resource ที่สุด เรามองว่าในฐานะคนคนนึง ประชาชนคนไทยคนนึงเนี่ย จะช่วยประเทศชาติได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่พอ ผู้รับสารไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งาน (End User) หรือนักออกแบบ (Designer) ต้องมีจิตสำนึกและความเข้าใจพื้นฐานก่อน เมื่อทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในสังคมจึงจะเกิดขึ้นได้จริง

 



แสงสว่างยิ่งมาก ยิ่งดีจริงไหม?

จริง ๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ อย่างเช่นประเทศไทย เป็นเมืองร้อน แดดแรง บางครั้งสถาปนิกอาจมองว่า "ยิ่งมีหน้าต่างเยอะยิ่งดี" เพราะช่วยเปิดรับแสงธรรมชาติและวิวที่สวยงาม แต่ในความเป็นจริง เมื่อแสงเข้ามามากเกินไปทำให้ เกิดความจ้า (Glare) ผู้ใช้งานมักจะ ปิดม่าน ทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติอย่างที่ตั้งใจ และต้อง เปิดไฟเพิ่ม รวมถึง ใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายอาจส่งผลให้ สิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อาคารกระจกในกรุงเทพฯ หลายแห่งที่ออกแบบให้มีผนังกระจกเต็มพื้นที่ แต่สุดท้ายคนในอาคารกลับ ติดม่าน หรือใช้กระดาษปิดหน้าต่าง เพราะแสงจ้ามากเกินไป สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การออกแบบแสงที่ดีไม่ใช่แค่เพิ่มแสงให้มากที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสบายของผู้ใช้งาน


 

สุดท้ายนี้อยากให้อาจารย์ตั้งคำถามทิ้งท้ายเพื่อให้ผู้อ่านที่ผ่านมาร่วมตอบคำถามกัน

คิดว่าเราจะใช้ AI ยังไงในงาน Lighting Design หรืองานสถาปัตยกรรม เป็น Open End แล้วกันอยากให้ลองคิดกันดู (หัวเราะ)

 


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...